สำรวจ "นวัตกรรม"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก'65”

สำรวจ "นวัตกรรม"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก'65”

พาสำรวจนวัตกรรมว่าด้วยการอยู่อาศัยและสิ่งก่อสร้างในงานสถาปนิก 65 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป นวัตกรรมที่จะทำให้เราเห็นภาพของบ้านแห่งอนาคต ที่จะทำให้ดีต่อผู้อยู่และสิ่งแวดล้อม

ในงานสถาปนิกหรืองานแฟร์ว่าด้วยการอยู่อาศัยในแต่ละครั้งเรามักเห็นนวัตกรรมบ้านใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการอยู่อาศัยอยู่เสมอเช่น การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การมีนวัตกรรมที่ทำให้อุณหภูมิในบ้านลดลง การออกแบบบ้านที่โปร่งและเน้นการใช้แสงจากธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงาน ฯลฯ เช่นเดียวกับงาน “สถาปนิก 65” ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นอีกเวทีที่รวบรวมผลงานสร้างสรรค์และเป็นศูนย์รวมสินค้าก่อสร้างจำนวนมากมาย

ถึงเช่นนั้น หากจะพูดถึงบริบทตลอดปี 64-65 ที่เชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวเพื่อเข้ากับงานก่อสร้าง เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นประเด็นอย่างโควิด-19 , ฝุ่น PM 2.5 และการออกแบบบ้านให้เป็นมิตรกับผู้คนทุกช่วงวัย ซึ่งงานสถาปนิก 65 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีนวัตกรรมที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์หัวข้อตามที่กล่าวมา ซึ่ง “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอรวบรวมนวัตกรรมการก่อสร้าง ที่น่าจะทำให้การอยู่อาศัยของผู้คนดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยจินตนาการถึงบ้านและอาคารสมัยใหม่ว่าควรมีหน้าตาและส่วนประกอบอย่างไรบ้าง

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65” บรรยากาศภายในงานสถาปนิก 65

  • กระเบื้องฟอกอากาศ

ขอเริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์กระเบื้อง ที่น่าจะอยู่กับทุกการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด ซึ่งนวัตกรรมว่าด้วยกระเบื้องในปีนี้ หลายแบรนด์ได้หันมาใส่ใจกับการผลิตกระเบื้องฟอกอากาศ และเชื่อได้เลยว่ากระเบื้องฟอกอากาศจะเป็นเทรนด์ของการก่อสร้างสำหรับอาคารสมัยใหม่

หลักการทำงานของกระเบื้องฟอกอากาศนี้ เกิดจากกระบวนการผลิตกระเบื้องที่มีส่วนเกิดจากการผสมแร่ธาตุจากธรรมชาติ อย่างทัวร์มาลีน Tourmaline ซึ่งแร่นี้มีคุณสมบัติปล่อยประจุไอออน บริเวณผิวหน้ากระเบื้อง ซึ่งการปล่อยประจุไอออนลบใน ระดับ 3,000 ions/cm3 นี้จะช่วยเข้าจับฝุ่นละอองฝุ่น มลภาวะที่ลอยตัวฟุ้งอยู่ในอากาศให้ตกสู่พื้น

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65”

วิธีการใช้งานกระเบื้องที่มีคุณสมบัติฟอกอากาศนี้ เริ่มจากสามารถใช้ติดตั้งทั้งพื้น และผนัง ภายในอาคาร ปริมาณการติดตั้ง แนะนำอย่างน้อย 40% ของพื้นที่ภายในห้อง หรือ เท่ากับผนัง 2 ด้านของห้อง หรือ พื้น +ผนัง 1 ด้าน โดยที่สามารถดูแลรักษากระเบื้องฟอกอากาศเฉกเช่นเดียวกับกระเบื้องทั่วไป

ถึงเช่นนั้น ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่น จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เกิดจากองค์ประกอบหลากหลายปัจจัย อาทิ ลักษณะของห้อง การถ่ายเทของอากาศ ความชื้น หรืออุณหภูมิ การเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอุณหภูมิ

อ่านถึงตรงนี้ ก็ต้องย้ำว่ากระเบื้องดักฝุ่นมีประสิทธิภาพแค่เพียงการปล่อยประจุให้ฝุ่นตกลงสู่พื้นเท่านั้น แต่การทำงานของกระเบื้องในขณะนี้ ต้องใช้งานร่วมกับการทำความสะอาด และต้องระวังเกิดการแตก หรือ รอยแตกร้าว บนผิวหน้าของกระเบื้องแบบเดียวกับกระเบื้องทั่วไป 

  • กระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย

นอกจากกระเบื้องดักฝุ่น ในงานสถาปนิก 65 เรายังเห็นแบรนด์กระเบื้องมุ่งมั่นต่อการผลิตกระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย (Hygienic Tile) ซึ่งตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในวันที่ทั่วทั้งโลกต้องเจอกับโควิด-19 และอีกสารพัดโรคที่เกิดจากการสะสมของเชื้อโรค

หลักการทำงานของกระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย (Hygienic Tile) คือกระเบื้องที่มีการผสมสารซิลเวอร์นาโน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ได้มากกว่า 90% ตลอดอายุการใช้งาน ทั้งยังมีคุณสมบัติทนต่อทุกสภาพการใช้งาน ช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อจากการสัมผัส และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65”

ในหัวข้อนี้จึงเดาได้ไม่ยากว่า กระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย จะกลายเป็นวัสดุก่อสร้างแห่งอนาคต เพราะสิ่งนี้แตกต่างจากกระเบื้องทั่วไปซึ่งการใช้งานไปนานๆจะก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค เกิดเป็นคราบต่างๆ ได้ง่าน การมีกระเบื้องยับยั้งแบคทีเรียจึงน่าจะเป็นเทรนด์ของอนาคตในไม่ช้านี้ เพราะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ห้องครัว ห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องที่มีทางเดินเข้าจากภายนอกอาคาร

  • วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยังอยู่ที่กระเบื้อง เนื่องด้วยสิ่งนี้น่าจะเป็นวัสดุที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ และอยู่ในการก่อสร้างทุกประเภท ซึ่งในปีนี้กระเบื้องที่มีส่วนผสมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทบเป็นตีมของทุกแบรนด์ที่จัดแสดงในงานสถาปนิก

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65”

โดยส่วนใหญ่กระบวนการผลิตกระเบื้องทำจากการนำดิน หิน แร่ ทรายแก้ว ฯลฯ มาเผารวมกันด้วยความร้อนอุณภูมิสูง แล้วหลังจากนั้นก็มาผ่านกระบวนการเคลือบสี เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำ มีการแต่งผิวให้เกิดสัมผัสที่แตกต่างกัน ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดมลภาวะสูง แต่การนำกระเบื้องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือกระเบื้องที่เป็น ECO COLLECTION จะนำ WASTE ในกระบวนการการผลิตนำหนุนกลับมาใช้ใหม่ 80% ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ 80% และลดกระบวนการหมุนเวียนน้ำ  ลดการใช้น้ำใหม่ อีกทั้งปราศจากสารอินทรีย์ระเหย  และสารเคมีโลหะหนัก ที่มีผลต่อธรรมชาติ และมนุษย์

  • สุขภัณฑ์ไร้การสัมผัส

เราอาจคุ้นเคยกับสุขภัณฑ์ไร้การสัมผัสมาบ้างแล้ว ในห้างสรรพสินค้า แต่โควิด-19 ทำให้ผู้คนกลับมาสนใจห้องน้ำในบ้าน เพราะห้องน้ำคือแหล่งสะสมเชื้อชั้นดี ที่จะแพร่โรคติดต่อจากสมาชิกในบ้านคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65”

หลักการทำงานของสุขภัณฑ์นั้นเรียบง่าย นั่นคือการมีเทคโนโลยีห้องน้ำอัจฉริยะ ผ่านตัวเซนเซอร์ ที่จะทำความสะอาดในตัวเองได้โดยไม่ต้องกดปุ่มใด ทั้งระบบการทำงานฝาเปิด-ปิด ยังทำงานด้วยอัตโนมัติ มีก๊อกน้ำเซ็นเซอร์เปิด-ปิดอัตโนมัติ โดยที่ทั้งหมดผลิตในราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปก็จริง แต่ก็ยังเป็นราคาที่สามารถจับต้องได้สำหรับการอยู่อาศัยจริง

  • สีจากธรรมชาติ

ผลิตภัณฑ์สี เป็นผู้ร้ายของวงการก่อสร้างมานาน เพราะในสีมีสารระเหยและสารก่อมะเร็ง ในงานสถาปนิก 65 มีนวัตกรรมสีที่ผลิตจากธรรมชาติ โดยเป็นนวัตกรรมสีที่ปราศจากสารประกอบอินทรีย์วัตถุระเหยง่าย (NON VOC) ไม่มีกลิ่นฉุน เนื้อสีมีความเป็นธรรมชาติ เพราะผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติ Lime Stone ผสานกับเทคโนโลยี Graphene ช่วยปกป้องผู้อยู่อาศัยและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

  • ลดพลังงานและการออกแบบสำหรับทุกช่วงวัย

นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงสินค้าที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ บ้านสำเร็จรูป ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทั้งในกระบวนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ซึ่งลดระยะเวลาการก่อสร้างและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำรวจ \"นวัตกรรม\"ก่อสร้างที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นใน “งานสถาปนิก\'65”

ข้อมูลจาก เฟสบุ๊คงานสถาปนิก, บูทนิทรรศการ COTTO, SCG