26 เมษายน "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" รู้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ เริ่มใช้ ส.ค.65

26 เมษายน "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" รู้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ เริ่มใช้ ส.ค.65

"วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" ตรงกับวันที่ 26 เมษายน ของทุกปี ชวนรู้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ใหม่ มีผลบังคับใช้ 23 ส.ค. 2565 นี้ โดยเฉพาะการคุ้มครอง "ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย" ที่ปรับเพิ่มระยะเวลาไปอีก 50 ปี หลังเจ้าของภาพเสียชีวิต

หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักความสำคัญของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือ "ลิขสิทธิ์" มากนัก เพราะกฎหมายค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ในโอกาสที่วันนี้เป็น "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" (World Intellectual Property Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 26 เมษายน ของทุกปี

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ อยากชวนคนไทยมาเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น เพราะมีความสำคัญอย่างมาก เมื่องานที่มีลิขสิทธิ์ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางในยุคนี้

1. "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" มีครั้งแรกในปี 2543

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2513 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดตั้ง "องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก" ขึ้นมา โดยมีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ สังกัดภายใต้องค์การสหประชาชาติ 

ต่อมาประเทศสมาชิกมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ทว่าประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

จึงทำให้มีการกำหนด "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

 

2. อัปเดต "กฎหมายลิขสิทธิ์" ฉบับใหม่ในไทย

ก่อนหน้านี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เผยแพร่เกี่ยวกับ "พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่" ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 หรือภายในกลางปีนี้ โดยเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อยกระดับ "คุ้มครองงานลิขสิทธิ์" บนสื่อออนไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดที่คนไทยผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนงควรรู้ไว้ ดังนี้

  • เพิ่มมาตรการ "ระงับการละเมิดลิขสิทธิ์" บนสื่อออนไลน์

โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook YouTube สามารถนำผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันที เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล ทำให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ได้อย่างท่วงที 

  • ส่งเสริมกลไกช่วยดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ไทย

สนับสนุน นโยบาย "ซอฟต์พาวเวอร์" ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการผลักดันให้ "อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์" ที่มีมูลค่ากว่า 209,000 ล้านบาท ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก นำต้นทุนทางวัฒนธรรม ค่านิยม และความเป็นไทย มาต่อยอดและส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ

  • รุกตลาดซื้อขายผลงาน NFT

รุกตลาดซื้อขายผลงานศิลปะในโลกดิจิทัล ผลงาน NFT รองรับการค้าในโลก Metaverse ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ของไทยมากขึ้น

  • ขยายอายุคุ้มครอง "ภาพถ่าย" ตลอดชีวิต+50 ปี

อีกทั้ง กฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวยังมีการขยายอายุความคุ้มครองงานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ซึ่งศิลปินไทยจะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวด้วย 

3. กิจกรรม "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก" ปี 2565

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้จัดกิจกรรม "วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก ประจำปี พ.ศ. 2565" โดยเชิญชวนคนไทย เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ “เยาวชน : ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ดีกว่า” (Youth: Innovatingfor a Better Future) ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 เวลา 11.30 - 14.15 น. ผ่านระบบ Zoom (ดำเนินการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ)

จัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN)

โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปด้านทรัพย์สินทางปัญญา โครงการ
ที่เกี่ยวกับ Start-ups และเยาวชน การใช้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลที่สาม และความเสี่ยงจากความไม่รู้ในการใช้ผลงานดังกล่าว และแนะนำเครื่องมือวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาจาก WIPO เพื่อให้ความรู้และประโยชน์ด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนไทยไม่ควรพลาด 

--------------------------------------

อ้างอิง : กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ipthailand)wikipedia.org