'สมองหด'เพราะอยู่คนเดียว 'ความเหงา' ทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด

'สมองหด'เพราะอยู่คนเดียว 'ความเหงา' ทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด

ใครๆ ก็มีอาการเหงาได้ ซึ่ง "ความเหงา (Loneliness)" ถือเป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่าตนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

KEY

POINTS

  • ความเหงาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองหด หรือสมองฝ่อ และมีงานวิจัยระบุว่าความเหงาทำลายสุขภาพเทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน 
  • หากเราดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป และงดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นสมองหด
  • การหมั่นตรวจเช็กสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ โดยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้เราได้คัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ป้องกันและรักษาก่อนสาย

ใครๆ ก็มีอาการเหงาได้ ซึ่ง "ความเหงา (Loneliness)" ถือเป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่าตนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และตีความสถานการณ์ในความสัมพันธ์ของตน เช่น การที่คนคนหนึ่งมีเพื่อนหลายคน ไปพบและเจอเพื่อนบ่อย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาได้จากการรับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ตนมีนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความคาดหวัง

ในขณะเดียวกันคนที่มีเพื่อนน้อย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ก็อาจจะไม่ได้มีความเหงาเกิดขึ้น 

ว่ากันว่า "ความเหงา การอยู่คนเดียว" ไม่ใช่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลสมอง และสุขภาพร่างกายร่วมด้วย โดยผลกระทบของความเหงา สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมอง ทำให้สมองหดด้วยได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด

นอกจากนั้น ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ เกิดภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล และทำให้ความพึงพอใจในชีวิตต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วัยทำงานป่วยจิต' ระดับความเครียดพุ่ง!!

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

ความเหงา ทำลายสุขภาพเทียบเท่าสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง บอกให้เรารู้ว่าความเหงานั้นสามารถบั่นทอนสุขภาพร่างกายของเราได้มากพอกับ การเป็นโรคอ้วนหรือการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน

ดร.จูเลียน โฮลท์ ลุนสตัด จากมหาวิทยาลัยบริกแฮม รัฐยูทาห์ ผู้ ทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวระบุว่า การมีเพื่อนหรือครอบครัวอยู่ข้างกายช่วยให้คนๆ หนึ่งค้นพบความหมายของชีวิตและมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มีสังคม

"เมื่อคนๆ หนึ่งรู้สึกว่ามีเพื่อนฝูงคบหาหรือต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่น จะทำให้เขาดูแลตัวเองดีขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในชีวิตน้อยลง ส่วนการแยกตัวโดดเดี่ยวนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่ากับผู้ที่สูบบุหรี่ วันละ 15 มวนเลยทีเดียว"

ดร.จูเลียน ยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือนักวิชาการ ตลอดจนสื่อต่างๆ มักมองที่การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ความเครียด หรือการไม่ออกกำลังกายว่าเป็นเหตุให้คนๆ หนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่จากการวิจัยในครั้งนี้ พบว่าปัจจัยด้านสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตเร็วหรือช้าได้ เช่นกัน และงานวิจัยอีกชิ้นก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่แต่งงานมีโอกาส เสียชีวิตเร็วกว่าคนที่แต่งงานแล้ว (รวมถึงคนที่แต่งงานแล้วหย่าด้วย)

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่มีเพื่อนที่ทำงานอย่างน้อย 3 คนขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีเพื่อนที่ทำงาน เพราะการมีเพื่อนช่วยให้ความเครียดลดลงและช่วยลดความหดหู่ แถมยังมีข้อดีอีกมากมายหลายอย่าง แต่เพราะชีวิตที่เร่งรีบและเต็มไปด้วยงาน ทำให้เราไม่มีโอกาสจะได้เจอกับเพื่อนเก่าๆ เลย ยิ่งเมื่ออยู่ในวัยทำงานแล้วการมองหาเพื่อนใหม่ๆ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากเข้าไปอีก

ความเหงาส่งผลทำให้สมองหดตัว

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) ในญี่ปุ่นทำการศึกษาผู้ชายและผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปเกือบ 9,000 คน พบว่าผลจากการสแกนเอ็มอาร์ไอสมอง (MRI -การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ) แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับความสม่ำเสมอในการติดต่อสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีกับครอบครัวและเพื่อนฝูง

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยคิวชูที่เผยแพร่ใน Journal Neurology เดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมาแสดงว่า กลุ่มผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยที่สุดมีปริมาตรเนื้อสมองน้อยที่สุด โดยเฉพาะสมองในส่วนฮิปโปเคมพัส (Hippocampus) และอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม โดยนักวิจัยบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่การขาดความสัมพันธ์ทางสังคมเร่งให้เกิดการหดตัวของสมองซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

ยังมีการศึกษาอื่นที่แสดงว่าการพูดคุยและการพบปะทางสังคมเป็นประจำกระตุ้นกระแสประสาทซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์สมอง และทำให้มีการคงปริมาตรเนื้อสมองเอาไว้

นอกจากความเหงาส่งผลให้สมองหดตัวแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นด้วย โดยทาง U.S. Surgeon General มีการวิจัยที่แสดงว่าผู้แยกตัวจากสังคมที่อายุมากว่า 60 ปีมีอายุสั้นลงได้ถึง 5 ปีเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และความจำเสื่อมสูงขึ้น เพราะความเหงาเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มากขึ้น

ขณะที่ไม่นานมานี้มีการศึกษาเผยแพร่ใน European Heart Journal ที่ดูถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากับผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรจำนวน 18,509 คนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดหัวใจวายและเส้นเลือดสมองอุดตัน โดยการศึกษาชี้ว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์กับคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ขาดเพื่อนฝูงและความสัมพันธ์ทางสังคม

นอกจากนี้ความเหงาเรื้อรังยังทำให้ความเครียดคงอยู่ยาวนาน ส่งผลให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลักของร่างกายออกมาตลอดเวลา ทำให้ความดันโลหิตสูง รวมทั้งระดับกลูโคสในเลือด คลอเรสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ส่วนการศึกษาที่เผยแพร่ใน Scientific Report ปี 2020 ระบุว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือแยกตัวจากสังคมทำให้การเดิน และลุกขึ้นยืนจากการนั่งช้าลง ขณะที่การแยกตัวจากสังคมเพียงอย่างเดียวยังทำให้สมดุลของร่างกายแย่ลง

 อย่างไรก็ตามการลดความเหงาและความโดดเดี่ยวไม่ใช่เพียงแค่การออกไปพบปะผู้คนมากขึ้นเท่านั้น เพราะนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง Stirling University) พบว่าสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความเหงาคือการสัมผัสทางร่างกายกับเพื่อนฝูงและคนที่รัก ไม่ใช่แค่การอยู่ร่วมกันเท่านั้น เพราะการศึกษาที่เผยแพร่ใน Scientific Report ยังพบว่าคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมีความรู้สึกเหงาน้อยลงเมื่อมีการสัมผัสทางร่างกายอย่างการจับมือและการกอดอยู่เสมอ ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิลเลอร์วิลล์ (Millerville University) ที่เพนซิลวาเนีย แนะว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการเขียนจดหมายป็นสิ่งที่ต่อสู้กับความเหงาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากการส่งอีเมล์หรือส่งข้อความ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสมอง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสรีรวิทยา, สุขภาพ, และพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษยชาติอย่างคาดไม่ถึง ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive science) พบว่าขนาดสมองโดยเฉลี่ยของคนเราจะปรับตัวลดลงทุกครั้งเมื่อเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตลอดช่วงเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมา

ดร. เจฟฟ์ มอร์แกน สตีเบล นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Brain, Behavior, and Evolution ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่าสถานการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงการตอบสนองและปรับตัวของมนุษย์ ทั้งในด้านกายภาพและสติปัญญา เพื่อดูว่ามนุษยชาติมีกลไกทางวิวัฒนาการที่รับมือต่อภาวะเครียดกดดันดังกล่าวอย่างไร

ดร. สตีเบลได้วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของขนาดสมองมนุษย์ โดยรวบรวมข้อมูลจากกะโหลกศีรษะของมนุษย์โบราณในสายตระกูลโฮโม (hominins) จำนวน 298 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลา 50,000 ปีที่ผ่านมา

จากนั้นผู้วิจัยได้นำข้อมูลข้างต้นไปเปรียบเทียบกับบันทึกความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งรวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ย, ความชื้น, และปริมาณน้ำฝนในยุคต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถทราบได้จากสารที่สะสมในแกนน้ำแข็งที่เจาะมาจากทวีปแอนตาร์กติกา

ผลปรากฏว่าขนาดสมองโดยเฉลี่ยของมนุษย์สายพันธุ์ต่าง ๆ ในอดีต มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงที่โลกมีอุณหภูมิหนาวเย็นลงและมีสภาพอากาศแห้ง ส่วนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนโลกร้อนขึ้น ขนาดสมองของเผ่าพันธุ์มนุษย์จะหดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดถึง 10.7 %

ผู้วิจัยพบแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา และในช่วงราว 100 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมปลายศตวรรษที่ 19 เหตุการณ์สำคัญนี้ส่งผลให้มนุษย์ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก

แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบกันดีอยู่แล้วว่า สมองของเผ่าพันธุ์มนุษย์มีวิวัฒนาการจนขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วง 2 ล้านปีที่ผ่านมา แต่การค้นพบของดร. สตีเบลในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มย่อยที่เกิดขึ้นในวิวัฒนาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคน้ำแข็งใหญ่ครั้งล่าสุด (Last Glacial Maximum) ที่ทำให้โลกหนาวเย็นลง และช่วงเริ่มต้นสมัยโฮโลซีน (Holocene epoch) ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเริ่มสูงขึ้น

“กว่าที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของขนาดสมองมนุษย์อย่างชัดเจน ต้องใช้เวลานานหลายพันปีในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เราก็พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า วิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติสามารถจะเริ่มเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วรุ่นเท่านั้น ทำให้ขนาดของสมองมนุษย์เปลี่ยนไป โดยอาจมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ามาส่งผลในเรื่องนี้ด้วย” ดร. สตีเบลกล่าวสรุป

สมองสัมพันธ์กับสมองอย่างไรบ้าง?

จากบทความทาง Neuromarketing ที่นำเสนอเรื่อง ความเหงากับสมอง ระบุว่า

ความเหงา เป็น affection แบบหนึ่งซึ่งในทางจิตวิทยามันคือเหนือกว่า emotion และความเหงาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกสปีชีส์ของสัตว์สังคม (ซึ่งมนุษย์เป็นสัตว์สังคมแน่นอน) ซึ่งเมื่อปี 2020 - 2021 เป็นช่วงที่มีการระบาดของ COVID19 อย่างรุนแรง และทั่วโลกก็ต้องใช้มาตรการ social distance ใช่ไหมครับ สิ่งหนึ่งที่วงการแพทย์เจอก็คือมีคนที่มีการของ “ภาวะเหงา” ตามมาหลังจากการที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และความเหงานั้นส่งผลต่อสุขภาพกายโดยรวมด้วย

นำไปสู่การวิจัยและหาข้อสรุป WHO บัญญัติภาวะ stress disorder from sicial distancing ขึ้นมาในช่วงนั้นเลยครับ และก็ยังมีการให้แนวทางการบำบัดรักษาไว้ด้วย นี่เป็นข้อยืนยันว่า สำหรับสัตว์สังคม การได้พบปะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต อย่างไรก็ตาม ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่  John Cacioppo และคณะ ทำการวิจัยเรื่องกลไกความเหงาตั้งแต่ปี 2014 และ 2018 และ 2021 ซึ่งผลออกมาเหมือนกัน และตั้งทฤษฏี John Cacioppo’s evolutionary theory of loneliness ขึ้นตั้งแต่ 2014 "

"โดยอธิบายว่า สัตว์สังคมต้องการสังคมและการเชื่อมต่อ หากขาดการเชื่อมต่อ ถูกจับแยกจากสังคมจะมีผลต่อสมองและชีวิต ดังนั้น ความเหงา คือ affection ที่ถูกวิวัฒนาการขึ้นมา เพื่อให้สัตว์รู้สึกกระหาย และต้องการเชื่อมโยงกับใครสักคน เพื่อกำจัดความความเหงา"

ความเหงา ถ้าพูดในเชิงกลไกทางประสาทวิทยาก็คือ short term adaptation เมื่อสัตว์สังคมขาด social contact และเป็นไกลไกที่กระตุ้นให้โหยหาการ connect กับใครสักคน กับสังคม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ขาดสังคมต่อไปก็จะเกิด long term maladaptation  และส่งผลต่อร่างกายเป็นแบบองค์รวม ก็คือประมาณว่า ถ้าขาดการเข้าสังคมไปแล้ว สมอและร่างกายงจะได้รับความกระทบกระเทือน และอาจจะส่งผลต่อชีวิตเลยก็ได้

ที่จริงก็ยังไม่มีงานวิจัยไหนพูดถึงเรื่องของ “ตายจากความเหงา” แต่ว่าเราก็เห็นภาวะ Takotsubo heart failure (หัวใจล้มเหลวจากการเสียใจอย่างรุนแรง) แล้วก็ยังมี Bereavement disorder (ภาวะซึมเศร้าอันเกิดจากการเสียคู่ชีวิต จนไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้) ดังนั้น ทฤษฏีนี้ก็พอจะมีหลักฐานสนับสนุน

อันตรายจากความเหงาเรื้อรัง

ปัจจุบันการวิจัยเรื่อง ความเหงา Loneliness เป็นสิ่งที่นักประสาทวิทยาสนใจครับ แต่ข้อมูลในการวิจัยในคนยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง ประกอบการการใช้ fMRI, EEGม PET และการทำ autopsy ในการหาข้อมูลสนับสนุน ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุกลไกทางประสาทวิทยา และจุดกำเนิดความเหงาได้ แต่ก็มีข้อมูลมากพอที่จะระบุได้ว่า “ความเหงา บ่อนทำลายสมอง” 

งานวิจัยนี้เป็น meta analysis โดยรวบรวมงานวิจัยอื่นๆมาวิเคราะห์ครับ เขารวมรวบมาได้ 41งานวิจัย (ซึ่งก็ถือว่าเยอะเหมือนกัน เพราะหัวข้อนี้ค่อนข้างจะวิจัยยาก โดยข้อมูลที่เขาสรุปได้มีหลายเรื่องที่น่าสนใจมากๆพบว่าในคนที่เหงาเแบบเรื้อรัง จนเกิด maladaltation ตามที่คุณ Cacioppo ตั้งทฤษฏี สมองส่วน Prefrontal cortex (PFC) มีการทำงานลดลง มีการหดของขนาดลงเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เหงาเรื้อรัง โดยเฉพาะสมองส่วน mPFC และ dlPFC ซึ่งมีงานวิจัยที่สอดคล้องกัน 14 งานวิจัย

นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเหงาจะรู้สึกว่าตัวเองมีความทรงจำแบบ working memory ไม่ค่อยดี และบางครั้งอาจจะไม่ค่อยมีความยับยั้งชั่งใจ ถูกชักจูงได้ง่าย เนื่องจาก dlPFC เป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับ working memory และ mPFC เป็นสมองส่วนที่จะทำงานเวลาที่เราต้องยับยั้งชั่งใจ คิดทบทวนไตร่ตรอง

พบว่าสมองส่วน insula จะมี activity ที่ค่อนข้างไวในกลุ่มคนที่มีความเหงาแบบเรื้อรัง ซึ่งจาก insula somatic marker hypothesis เชื่อว่า การถูกกีดกันไม่ให้เข้าสังคม หรือถูกปฏิเสธการเข้าสังคม = ความเจ็บทางกาย ซึ่งมีงานวิจัยที่ให้ผลสอดคล้องกัน 6 งานวิจัย

ถัดมา สมองส่วน ventral striatum ซึ่งประกอบไปด้วย nucleus accumben และ anterior cingular cortex : มีงานวิจัยหนึ่ง จับเอาคนมาให้ขาดการติดต่อกับสังคม 10 ชั่วโมงแล้วแสกนสมองส่วน fMRI เขาพบว่ามี pattern การกระตุ้นในสมองส่วน ventral striatum แบบเดียวกับคนที่หิวและต้องการอาหาร

จึงสรุปว่า การเข้าสังคมเป็นสิ่งที่สมองต้องการโดยสัญชาตญาณ แบบเดียวกับเมื่อหิวแล้วเราอยากหาอาหาร ไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่ง ดังนั้นความเหงาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและบังคับให้ไม่เกิดไม่ได้ ดังนั้นการที่เราสั่งตัวเองว่าอย่าเหงาสิ มันเป็นไปไม่ได้

มีงานวิจัย 4 งานที่บอกว่าความเหงามีผลต่อ attention track ทั้ง ventral attention, dorsal attention และ cingula-opercular network ซึ่งทั้งหมดนี้รวมไปถึงสมองบริเวณ TPJ ซึ่งเป็นส่วนที่ “เราเชื่อมโยงกับตัวเอง” ตรงนี้เมื่อเทียบกับงานวิจัยเก่าๆหลายๆเรื่องจะสามารถอธิบายได้ว่า เมื่อเราเหงาไปนานๆ เราอาจจะเสียการ connect กับตัวตนของเราไปได้ครับ และนำไปสู่ภาวะ low self-esteem ได้ด้วย

มี 2 งานวิจัยที่ทำการทดลองโดย EEG  และได้ผลว่าในคนที่มีภาวะเหงาเรื้อรัง เวลาเห็นคำพูดที่วางไว้คละๆกัน สมองจะให้ความสำคัญกับคำที่เป็น negative และคำพูดที่เป็นเชิงคุมคาม มากกว่าคำพูดเชิง positive มีการเก็บข้อมูลจากคนที่เป็นโรค Alzheimer ด้วย พบว่าความเหงาเรื้อรังส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Alzheimer ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลทั้ง AD marker ทางเลือด การแสกนสมองด้วย PET (ทำไป 2 วิจัย) และการเก็บ RNA จากสมองมาวิเคราะห์ (เพราะคนไข้ที่เป็น AD จะมีการสร้างโปรตีน Amyloid และ tau มากกว่าปกติ และสิ่งที่โค้ดการสร้างโปรตีนก็คือ RNA )

แม้ว่าปัจจุบันเรายังไม่สามารถระบุจุดกำเนิดความเหงาในสมอง ยังไม่สามารถระบุกลไกความเหงาในสมองได้ แต่เราค้นพบหลักฐานมากมายผ่านงานวิจัยและเก็บข้อมูลว่า ความเหงามีจริงๆครับ ความเหงาห้ามไม่ได้ และความเหงาก่อความเสียหายให้กับเรามากกว่าแค่ทางอารมณ์ ดังนั้น คำว่า “เหงาจนตาย” อาจจะไม่ใช่คำพูดเล่นๆมันอาจจะเป็นจริงก็ได้     

วิธีป้องกันความเหงา ดูแลสุขภาพ

ใครที่กำลังคิดว่าอยากจะมีเพื่อนใหม่แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีไม่ควรพลาด! ไปดูกันดีกว่าว่าเราจะสามารถพบเพื่อนใหม่ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

1. พบเพื่อนใหม่ผ่านการแนะนำ

การสร้างมิตรภาพใหม่ๆ จะสำเร็จได้ง่ายขึ้นหากผ่านการแนะนำจากคนใกล้ตัว Andrea Bonior ผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนหนังสือ The Friendship Fix ได้อธิบายวิธีการไว้ว่า เมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักของคุณมีการเลี้ยงสรรค์กับเพื่อนๆ ของเขาที่คุณไม่รู้จัก มันเป็นการดีถ้าหากคุณจะเอ่ยปากขอไปด้วยคน ไม่ต้องอายที่จะพูดกับเพื่อนว่าคุณอยากจะพบปะกับเพื่อนใหม่ๆ ดูบ้าง

2. เข้าหาสังคมใหม่ๆ

หากคุณรู้สึกว่าสังคมเดิมๆ ของคุณเริ่มที่จะน่าเบื่อ การมองหาเพื่อนจากสังคมใหม่ๆ ก็เป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่ง การพบปะกับผู้คนใหม่ๆ ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันหรือมีนิสัยและประสบการณ์ชีวิตที่คล้ายกัน คุณอาจจะได้พบเพื่อนใหม่ๆ จากการเข้าร่วมชมรม หรือการท่องเที่ยว หรือการย้ายที่ทำงาน หรือย้ายที่อยู่ก็สามารถทำให้พบเพื่อนใหม่ และสังคมใหม่ๆ ได้เช่นกัน

3. อย่าด่วนตัดสินใจเร็วเกินไป

มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะสามารถสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันได้หลังจากพบกันเพียง แค่ครั้งเดียว การพบปะและพูดคุยกันบ่อยๆ ต่างหากที่จะสามารถช่วยทำให้รู้สึกผูกพันและเกิดมิตรภาพที่ดีได้ ดังนั้นคุณไม่ควรที่ตัดสินว่าคุณกับเขาเป็นเพื่อนกันไปแล้วจนกว่าคุณกับเขา จะได้พบปะและพูดคุยกันอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง เพราะมิตรภาพที่มาไวก็จากไปไวเหมือนกัน

4. จดจำสิ่งที่พูดคุยกันครั้งแรกเอาไว้

การเริ่มบทสนทนาด้วยคำถามเกี่ยวกับความสนใจต่างๆ ที่คุณมีก็สามารถทำให้เราสร้างมิตรภาพกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะลืมสิ่งที่อีกฝ่ายตอบกลับมาในบทสนทนาครั้งแรกด้วย เพราะถ้าหากคุณจดจำได้ การพูดคุยกันครั้งต่อไปก็จะมีเรื่องที่จะพูดคุยกันได้มากขึ้นด้วย

5. หาตัวช่วย

ถ้าหากคุณได้พบกับใครสักคนและรู้สึกเหมือนว่าคุณและเขามีความสนใจและมีความ คิดคล้ายกัน จนคุณรู้สึกว่าเขานี่ล่ะคือเพื่อนที่ดีของคุณได้อย่างแน่นอน แต่คุณก็รู้สึกกังวลและประหม่าไม่กล้าที่จะชักชวนเขาไปเที่ยวเพียงสองต่อสอง ล่ะก็ การไปกันเป็นกลุ่มก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้คุณและเขาไม่รู้สึกอึดอัดจนเกิดไป คุณอาจจะเริ่มจากการชวนเขามาปาร์ตี้ที่บ้านและชวนเพื่อนของคุณคนอื่นๆ มาด้วยก็ได้

อ้างอิง:คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , NeuroMarketing การตลาดเชิงประสาทวิทยา , gqthailand ,bbc ,คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย