โรคหายาก AADC Deficiency กับความหวัง 'รักษาด้วยยีนบำบัด'

โรคหายาก “AADC Deficiency”หรือโรคพร่องเอนไซม์ AADCทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว การกิน หรือการพูด
KEY
POINTS
- โรคAADC Deficiency เป็นโรคพันธุกรรมหายากชนิดหนึ่ง พบในสัดส่วนประชากรประมาณ 1 คนต่อ 1.3 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคนี้เพียง 5 ราย
- ยีนบำบัดสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหายากนี้ได้จริง เรากำลังช่วยกันทำสิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ หมอรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่หมอเชื่อเสมอว่า จะสำเร็จได้ถ้าเราช่วยกัน
- เปิดระดมทุนบริจาค ค่ารักษายีนบำบัดให้กับน้องอคิน ที่ยังรอการรักษา โดยบริจาค ช่วยเหลือค่ารักษายีนบำบัด ที่นำไปลดหย่อนภาษี ได้2 เท่า ที่สภากาชาดไทย
โรคหายาก “AADC Deficiency”หรือโรคพร่องเอนไซม์ AADCทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว การกิน หรือการพูด หรือแม้กระทั่งการนอนหลับได้ตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น แม้ว่าโรคนี้จะสามารถรักษาได้ด้วยวิธียีนบำบัด แต่ค่ารักษาสูงถึง 107 ล้านบาท
ในฐานะหนึ่งในทีมแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย “ศ.ดร.พญ.กัญญา ศุภปีติพร” อาจารย์ประจําสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์และเมแทบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคAADC Deficiency หรือชื่อเต็มว่า Aromatic L-amino acid decarboxylase deficiency เป็นโรคพันธุกรรมหายากชนิดหนึ่ง พบในสัดส่วนประชากรประมาณ 1 คนต่อ 1.3 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันพบประมาณ 350 คนทั่วโลกในประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคนี้เพียง 5 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยีนบำบัดจากแล็บไทย จุดความหวังผู้ป่วยธาลัสซีเมีย
‘ม.มหิดล’ ประกาศทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ สร้าง 'Real World Impact'
โรคพร่องเอนไซม์ AADC ไม่สามารถป้องกันได้
ปัจจุบัน โรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากพ่อและแม่จะไม่ทราบว่าตนเป็นพาหะ จะทราบก็ต่อเมื่อพบว่ามีลูกเป็นโรคแล้ว โดยลูกมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ร้อยละ 25 หรือ 1ใน 4 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แพทย์พอจะทำได้คือ ป้องกันการเกิดซ้ำได้ โดยการตรวจวินิจฉัยโรคพันธุกรรมระยะก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Diagnosis) แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
โรคพร่องเอนไซม์ AADC เกิดจากผู้ป่วยมีความผิดปกติของยีน DDC แต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถสร้างเอนไซม์ AADC ได้ ส่งผลให้สมองไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่สำคัญมาก ๆ อย่างโดปามีน และเซโรโทนิน เป็นต้น แม้ว่าคนไข้กลุ่มนี้จะมีเนื้อสมองที่ปกติ สามารถรับรู้ พร้อมเรียนรู้พัฒนาได้ตามธรรมชาติ
แต่เพราะขาดสารสื่อประสาทเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนไม่สามารถแม้กระทั่ง ยกคอ พลิกตัวได้ด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนเป็นผู้ป่วยติดเตียง พูดไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ทุก ๆ 3-4 วัน จะปรากฏอาการของโรค ได้แก่ อาการตาลอยมองบนและกล้ามเนื้อเกร็งนาน 7-8 ชั่วโมง ซึ่งสร้างความเจ็บปวดทรมานมาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีปัญหาการนอนหลับที่ยาก ไม่สามารถนอนหลับยาวได้ รับประทานอาหารลำบาก น้ำหนักตัวตกเกณฑ์ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการเทียบเท่าเด็กแรกเกิด
ยีนบำบัดโอกาสเด็กป่วยโรคหายาก
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุดและทันท่วงที อาการและคุณภาพชีวิต จะแย่ลงเรื่อย ๆ และมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ซึ่งเด็กจะมีอายุได้ถึงกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากเด็กมีการพัฒนาการที่ช้ามาก ไม่สามารถตั้งคอได้เลย ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในวัยเด็ก
ศ.ดร.พญ.กัญญา ยังได้อธิบายต่อว่าปัจจุบัน โรคพร่องเอนไซม์ AADC สามารถรักษาได้ ด้วยวิธีการรักษาแบบตรงเป้าด้วย ‘ยีนบำบัด’ (Gene Therapy)ด้วยยา Eladocagene Exuparvovec ที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) และสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (Europe FDA) ได้รับรองว่ายานี้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว หรือการนอนหลับที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากอย่างชัดเจน
การให้ยีนบำบัดนี้ จะฉีดยาเข้าไปที่โพรงสมองโดยตรง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทาง ซึ่งยาจะทำหน้าที่เข้าไปเติมยีน DDC ที่ขาดหายไป หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มสร้างสารสื่อประสาท และเริ่มฟื้นฟู พัฒนาร่างกายได้ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า จะต้องรอให้โพรงสมองมีขนาดที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับการฉีดด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งช่วงอายุที่เหมาะสม คือตั้งแต่ 18 เดือนขึ้นไป และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุดควรได้รับยา ยิ่งเร็วยิ่งดี เพื่อให้เด็กสามารถมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคAADC Deficiency ในประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ราย โดยคนไข้ทั้ง 4 รายก่อนหน้า ได้รับการรักษาผ่านการได้รับยาฟรีในโครงการศึกษาวิจัยทางคลินิกในต่างประเทศ แต่งานวิจัยเหล่านี้ได้ปิดรับผู้ป่วยใหม่แล้ว
ตัวอย่างผู้ป่วย 1ใน 4 ราย เด็กหญิงที่ได้รับการรักษาด้วยยีนบำบัดช่วงอายุ 18 เดือน ปัจจุบันอายุ 6 ปี สามารถพูดได้ เดินได้ ขี่ม้า ออกกำลังกาย และเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ ได้ เหมือนเป็นการให้ชีวิตใหม่กับเด็กอีกครั้ง(ตัวอย่างเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยีนบำบัดและสามารถใช้ชีวิตได้บนโลกใบนี้)https://youtu.be/HJ-zi1noY38?si=XzwrHnd8-HawMyMX)
สำหรับคนไข้รายที่ 5 นี้ ยังคงรอคอยการรักษาอยู่ แต่ทางเลือกได้รับยาฟรีจาก 2 งานวิจัยที่ยังเปิดรับอยู่ มีโอกาสได้น้อยมาก โดยงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้ผู้ป่วยจำนวนครบแล้ว ส่วนในประเทศจีน ไม่เปิดรับคนไข้ต่างชาติ ทำให้เหลือทางเลือกเดียว คือ ครอบครัวต้องจ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งมีค่ารักษาที่สูงมากถึง 107 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้าน ยูโร) ซึ่งมากเกินกว่าที่ครอบครัวผู้ป่วยจะจ่ายได้ไหว
ทั้งนี้ ทางทีมแพทย์ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า ผู้ป่วยควรที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธียีนบำบัดอย่างเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสจะเข้าถึงการรักษานี้ได้ จึงได้ขออนุมัติไปยังสภากาชาดไทย เพื่อขอให้เปิดบัญชีภายใต้สภากาชาดไทย สำหรับระดมเงินบริจาค ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหายากนี้
“ยีนบำบัดสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหายากนี้ได้จริง เรากำลังช่วยกันทำสิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ หมอรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่หมอเชื่อเสมอว่า จะสำเร็จได้ถ้าเราช่วยกันค่ะ” ศ. ดร. พญ.กัญญา กล่าวทิ้งท้าย
อคิน –ป่วยโรคAADC Deficiencyรายที่5
ในกรณีของน้องอคิน เด็กชายวัย17 เดือน (1 ปี 5 เดือน) เป็นคนไข้รายที่ 5 ในประเทศไทยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคAADC Deficiency (https://www.youtube.com/watch?v=mWp1QcQJG-A) อลงกรณ์ สกุลอารีย์มิตร คุณพ่อของน้องอคิน เล่าให้ฟังว่า แม้ว่าจะรักษาได้ แต่ค่ารักษาร้อยกว่าล้านบาท ก็รู้สึกหมดหวังไม่รู้จะทำอย่างไรดี จนอาจารย์กัญญา เตือนสติว่า
“อย่าเพิ่งยอมแพ้ โรคนี้ยังรักษาได้แม้ค่ารักษาจะสูงมาก เพื่อให้ลูกมีโอกาสได้รับการรักษา เราจะช่วยกันเต็มที่ เรามาลองช่วยกันเปิดระดมทุนหาค่ารักษาก่อน เช่นเดียวกับในบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษา หมอยังเชื่อว่า เราคนไทยด้วยกันจะช่วยเหลือกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ทำให้คุณพ่อและครอบครัว ยังมีความหวังที่น้องอคินจะได้รับการรักษา และเป็นที่มาของการเปิดระดมทุนบริจาค ค่ารักษายีนบำบัดให้กับน้องอคิน ที่ยังรอการรักษา โดยบริจาค ช่วยเหลือค่ารักษายีนบำบัด ที่นำไปลดหย่อนภาษี ได้2 เท่า ได้ที่ สภากาชาดไทย https://www.facebook.com/share/p/18kD8DdyFj/ และ Crowd Funding ผ่านทางGoFundMehttps://www.gofundme.com/f/donate-to-save-alakorns-sons-life ติดตามและให้กำลังใจได้ที่ FB:อคินน้อยๆ มาแชร์TikTok:อคินน้อย สู้โรคหายาก