'OSSICURE Bone Graft'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย

'OSSICURE Bone Graft'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย

พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทย ส่งผลให้ปัญหากระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 403 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบ

KEY

POINTS

  • OSSICURE Bone Graft เชื่อมกระดูกสันหลัง เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยเปิดประตูผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของนักวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยเอง
  • ความร่วมมือโครงการจะดำเนินการทดสอบทางคลินิกเป็นระยะเวลา 3 ปี นำร่อง 60 ราย เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานจริง
  • นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์มาตรฐานสากล จะช่วยลดการใช้กระดูกของผู้ป่วย เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทย ส่งผลให้ปัญหากระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 403 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 104 ล้านคน โดยการรักษาส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ในบางกรณีต้องใช้การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งปัจจุบันใช้กระดูกจากผู้ป่วยเองหรือจากผู้บริจาค

“โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม” เป็นปัญหาสุขภาพที่สามารพบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและการดำเนินชีวิตในสังคม ยิ่งขณะนี้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การปลูกถ่ายกระดูกด้วยวิธีมาตรฐาน นิยมใช้กระดูกของผู้ป่วยเอง โดยมักจะนำมาจากกระดูกเชิงกราน ซึ่งวิธีดังกล่าวกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัดในหลายประการ อาทิ  ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 2 ครั้ง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ มักประสบปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณที่จะหามาใช้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ  (เอ็มเทค) ได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ฝังใน OSSICURE Bone Graft ในการเชื่อมกระดูกสันหลัง เพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ทดแทนการปลูกถ่ายกระดูกโดยใช้กระดูกของผู้ป่วยเอง ซึ่งเป็นวิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'โรคกระดูกและข้อ' ไม่แก่ก็ป่วย เพราะปัจจัยเสี่ยงมีมากกว่าเรื่องอายุ 

ปัญหา 'กระดูกและข้อ' โรคยอดฮิตชีวิตแอคทีฟ

OSSICURE Bone Graft ทางเลือกใหม่ของผู้ป่วย

วานนี้(17 ก.พ.2568) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามสัญญาทดสอบทางคลินิกผลิตภัณฑ์ OSSICURE Bone Graft เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยกับผลิตภัณฑ์อ้างอิง Infuse Bone Graft ในการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหากระดูกสันหลัง โดยเฉพาะโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของประชากรไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังเรื้อรัง โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยกระดูกสันหลังเข้ามารับการรักษาจำนวนมาก 

การรักษาโรคกระดูกสันหลังที่ต้องใช้การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ปัจจุบันใช้กระดูกจากผู้ป่วยเองหรือจากผู้บริจาค แต่วิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุน ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และระยะเวลาพักฟื้นที่ยาวนาน

ทั้งนี้ การพัฒนา OSSICURE Bone Graft เป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์นี้สามารถใช้ทดแทนกระดูกได้ โดยผ่านการศึกษาในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง พบว่ามีความปลอดภัย และผลข้างเคียงใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก U.S. FDA

\'OSSICURE Bone Graft\'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย

\'OSSICURE Bone Graft\'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย

นำร่องทดลองคลินิกผู้ป่วย 60 ราย

“ความร่วมมือกับทางศิริราชครั้งนี้ จะเป็นโครงการจะดำเนินการทดสอบทางคลินิกเป็นระยะเวลา 3 ปี นำร่อง 60 ราย ที่เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วย เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ และยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล”ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

ลดนำเข้าวัสดุทดแทนกระดูกต่างประเทศ

ผศ.นพ.ศิริชัย วิลาศรัศมี แพทย์ผู้วิจัย ภาควิชาออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในแต่ละเดือน จะมีผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังมาเข้ารับการรักษาที่ศิริราช เฉลี่ย 100 กว่าราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีทั้งเข้ารับการผ่าตัด และไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

โดยเมื่อเข้ารับการผ่าตัดจะเป็นการใช้กระดูกของตัวเอง หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนกระดูกซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยค่าวัสดุทดแทนกระดูกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณ 40,000-50,000 บาท  ส่วนค่ารักษาพยาบาลตลอดการผ่าตัดการเชื่อมกระดูกและการดูแลรักษาอื่นๆ จะประมาณ 2 แสนกว่าบาท

“ผลิตภัณฑ์ OSSICURE Bone Graft ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทย และมีการนำมาทดลองทางคลินิกจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น  และหากผลการทดลองตลอด 3 ปี มีมาตรฐานไม่แตกต่างจากวัสดุทดแทนกระดูกจากต่างประเทศ จะถือเป็นโอกาสของคนไทยที่จะได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศได้” ผศ.นพ.ศิริชัย กล่าว

\'OSSICURE Bone Graft\'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย

ผลักดันงานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมผลักดันให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัยดังกล่าวและเป็นหนึ่งในความพยายามของนักวิจัยที่มีการพัฒนาและผลิตภัณฑ์ได้

การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ นักวิจัยเก่งเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ  เพราะต่อให้พัฒนาได้ในห้องปฎิบัติการ หรือสัตว์ทดลองแต่ไม่สามารถจบงานวิจัยได้ ต้องมีการทดสอบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาตรฐานทั้งในไทยและต่างประเทศ ในการตรวจสอบกระบวนการต่างๆ การพัฒนาและการทดสอบการใช้งาน

“มีความจำเป็นที่ต้องมีพันธมิตรที่ดี อย่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  ในการทดสอบทางคลินิกให้แก่งานวิจัย เพื่อให้ได้การยอมรับมาตรฐาน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว ใช้เวลาเกือบ 10 ปี หากผ่านการทดสอบทางคลินิกได้จะเป็นการเปิดประตูผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของนักวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยเอง ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าไม่มีการพัฒนาหรือสนับสนุนเกี่ยวกับงานวิจัยจะทำให้เราสูญเสียงบประมาณมากขึ้น ดังนั้น ต้องมีการผลักดันงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้าและไปสู่ตลาดใหม่ๆ ให้มากขึ้น” ดร.สมบุญ กล่าว  

OSSICURE Bone Graft นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ฝังใน

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า OSSICURE Bone Graft นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ฝังใน ที่ช่วยลดการใช้กระดูกของผู้ป่วยเอง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังมีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือได้รับการยกระดับผ่าน MU-NSTDA Research Consortium ที่มุ่งส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์ สาธารณะ และนโยบาย โดย OSSICURE Bone Graft เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรมและการใช้งานจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ

\'OSSICURE Bone Graft\'เชื่อมกระดูกสันหลัง เพิ่มโอกาสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย