รับประทาน 'วิตามิน สมุนไพร ยาบำรุง' อย่างไร? ให้ตับไม่พัง

รับประทาน 'วิตามิน สมุนไพร ยาบำรุง' อย่างไร? ให้ตับไม่พัง

ทาน วิตามิน สมุนไพร ยาบำรุง อย่างไร? ให้ตับไม่พัง วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความเร่งรีบในการทำงาน การเรียน บวกกับการเผชิญกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เริ่มแย่ลงไปหมด

KEY

POINTS

  • วิตามินและสมุนไพรมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับวิตามินหรือทานสมุนไพรมากเกินไป หรือใช้ผิดวิธี ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ  และเสี่ยงให้ตับพังได้ 
  • ตับพัง เป็นภาวะที่ตับไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ซึ่งเกิดจากการเสียหายของเซลล์ตับอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (ตับวายเฉียบพลัน) หรือค่อยๆ เป็น (ตับวายเรื้อรัง)
  • นอกเหนืออาหารบำรุงตับแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตับมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความเร่งรีบในการทำงาน การเรียน บวกกับการ การเผชิญกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เริ่มแย่ลงไปหมด ปัญหาฝุ่นPM2.5 ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้คนเมืองมีปัญหาเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนจึงหันมาใส่ใจในการดูแลตัวเองทั้งการนอนหลับ การรับประทานอาหาร รวมถึงการบริโภคสมุนไพรและวิตามินกันมากขึ้น

ด้วยความเชื่อที่ว่าการบริโภคสมุนไพรและวิตามินต่างๆ จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดี แต่จริงๆ แล้วการรับประทานสมุนไพรและวิตามินในปริมาณที่มากเกินไปหรือต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน กลับไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่เราหวัง หนำซ้ำยังเป็นการสร้างปัญหาให้กับตับอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

Save เลย! 'วิตามิน' ที่ไม่ควรกินก่อนนอน ยิ่งกินยิ่งนอนไม่หลับ

สมุนไพรมีประโยชน์ ทานมากอาจมีโทษ

นพ. ศรัณย์ สมพรเสริม อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายว่าสมุนไพรถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและเป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกายอย่างแพร่หลาย เพราะคนทั่วไปคิดว่าสมุนไพรเป็นพืช จึงไม่น่าจะมีพิษต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมุนไพรอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (Allergic reactions) 
  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects)
  • สมุนไพรที่ทำให้ยาที่ใช้เป็นประจำเพิ่มหรือลดระดับได้ (Herb and drug reactions)
  • สมุนไพรที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือเชื้อโรคในขั้นตอนการผลิต (Contamination)
  • สมุนไพรที่อาจมีการปลอมปนสารเคมีชนิดอื่นๆ (Adulterants) โดยส่วนใหญ่มักปลอมปนมากับสเตียรอยด์
  • สมุนไพรที่ทำให้เกิดการเป็นพิษ (Toxic reactions) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เคยมีมติให้ระงับการผลิตและเก็บยาสมุนไพรขี้เหล็กออกจากตลาด เนื่องจากในปี พ.ศ. 2542 มีรายงานว่า ใบขี้เหล็กในรูปแบบยาอัดเม็ดทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคาวา (Kava) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ก็ทำให้เกิดการเป็นพิษต่อตับเช่นกัน

กินวิตามินเกินความจำเป็น ส่งผลต่อสุขภาพ

วิตามิน มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งแหล่งที่มาของวิตามินโดยทั่วไป คือ อาหาร และจากกระบวนการผลิตภายในร่างกาย ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายได้รับวิตามินบางชนิดไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ทำให้บางคนพยายามหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยนั้นด้วยการเพิ่มแหล่งวิตามินให้กับร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารเสริม รวมถึงวิตามินแบบอัดเม็ด อย่างไรก็ตาม หากร่างกายได้รับวิตามินมากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี ก็อาจส่งผลเสียได้มากมายเช่นกัน

วิตามิน เอ

เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันและสามารถสะสมไว้ในร่างกายเพื่อเก็บไว้ใช้งาน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือรับเป็นระยะเวลานานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผมร่วง ตับอักเสบ โดยเฉพาะในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

วิตามิน ซี

เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมได้ การรับประทานวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะอึดอัดแน่นท้อง ท้องเสีย รวมถึงระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือถ้าหากกินวิตามินซีติดต่อกันนานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นนิ่วในไตได้

วิตามิน ดี

เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด มีประโยชน์ในการยับยั้งการเกิดโรคกระดูกพรุนและลดการแตกหักของกระดูก รวมทั้งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นนิ่วในไตได้เช่นกัน

วิตามิน อี

เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ใช้ในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้

สังกะสี

ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและป้องกันเชื้อโรค และสามารถขับออกทางอุจจาระได้ ถ้าร่างกายดูดซึมได้ไม่หมด แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ

ธาตุเหล็ก

เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง ช่วยลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และเกิดการเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

กินสมุนไพรและวิตามิน ทำให้ตับพังอย่างไร

ตับ จัดเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างกลูโคส กรดอะมิโน ไขมัน และโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว รวมถึงกำจัดสารพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย และถึงแม้ว่าตับจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ถ้าหากทำงานหนักเกินไปหรือมีความผิดปกติเรื้อรังเกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตับถูกทำลาย และลุกลามเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โดย ตับพัง (Liver Failure) หมายถึงภาวะที่ตับไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ซึ่งเกิดจากการเสียหายของเซลล์ตับอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (ตับวายเฉียบพลัน) หรือค่อยๆ เป็น (ตับวายเรื้อรัง) โดยอาการตับพังสามารถสังเกตได้จากลักษณะต่างๆ เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพ หลายคนอาจนึกถึงการทานยาบำรุงเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง แต่ทราบหรือไม่ว่า ยาบำรุงที่เราคิดว่าช่วยฟื้นฟูสุขภาพ อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อตับได้ หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือในปริมาณที่เกินความจำเป็น

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของตับ

ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเผชิญกับสารเคมีหรือสารพิษเป็นประจำ ภาวะอ้วนลงพุง รวมถึงการกินยา วิตามิน หรือสมุนไพรที่มากเกินไปหรือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งมีผลทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น และถ้าไม่สามารถขับของเสียออกมาได้ทัน ก็อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย และทำลายเนื้อตับได้

โรคตับ เป็นโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตติด 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ดังนั้น การตรวจสุขภาพตับเป็นประจำ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ
  • ผู้ป่วยโรคตับ หรือสงสัยว่าเป็นโรคตับ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคตับแข็ง
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีอาการตาเหลืองและตัวซีดเหลืองผิดปกติ

การตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan)

การตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องเจ็บตัว ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และสามารถตรวจซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

ผลจากการตรวจไฟโบรสแกน สามารถช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง รวมถึงติดตามผล และช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้จะเป็นค่าความแข็งของตับและค่าปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยแพทย์จะแปลผลที่ได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาต่อไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพตับ ควรงดน้ำ อาหารและเครื่องดื่มให้พลังงานอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด และตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่ใส่เครื่องมือแพทย์ที่ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือการฝังแร่กัมมันตรังสี รวมถึงผู้ป่วยที่มีน้ำในช่องท้อง ไม่แนะนำให้ตรวจด้วยวิธีนี้

ข้อควรระวังเมื่อรับประทานวิตามิน และอาหารเสริม

  • เกิดอาการแพ้
  • อาจมีสารเคมีปะปนระหว่างการผลิต
  • อาจลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้เป็นประจำ

อาหารบำรุงตับ ฟื้นฟูให้แข็งแรง

  1. ผักประเภทหัว อาทิ กะหล่ำปลี จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มกลูตาไธโอน (Glutathione) ในร่างกาย ทำให้ล้างสารพิษ บำรุงตับได้เป็นอย่างดี บรอกโคลี มันเทศ ที่มีกลูโคซิโนเลต (Glucosinolate) ช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ต่อต้านสารพิษ และเอนไซม์ช่วยย่อย
  2. แครอท ผักสีส้มที่อัดแน่นไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งวิตามิน A, B1, B2, C, D และ K อีกทั้งยังมีกรดโฟลิก ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดง ช่วยบำรุงตับ บำรุงเลือด และช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้
  3. ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักกาดหอม รวมถึงผักใบเขียวชนิดอื่นๆ จะมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดโลหะหนักในตับ และชะล้างสารเคมีที่สะสมอยู่ในตับ โดยเฉพาะสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงที่ร่างกายมักจะได้รับจากการบริโภคอาหาร
  4. บีทรูท จะมีสารฟลาโวนอยด์ ที่ตับต้องการไปบำรุงและฟื้นฟูตัวเอง
  5. ลิ้นจี่ อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน กลูโคส ซูโครส วิตามิน A, B, C และกรดซิตริก ที่ช่วยบำรุงตับและบรรเทาอาการตับอักเสบได้
  6. ส้มและเกรปฟรุต มีทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการล้างพิษในตับและลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
  7. อะโวคาโด มีกลูตาไธโอน (Glutathione) จะช่วยล้างพิษสะสมในตับ และช่วยลดโอกาสเกิดโลหะหนักสะสมในตับ
  8. เห็ดต่างๆ อาทิ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เห็ดหูหนู หรือเห็ดหลินจือ ช่วยลดไขมันที่สะสมในตับและกระแสเลือด ต่อต้านการเกิดมะเร็ง และเพิ่มปริมาณของเม็ดเลือดขาวด้วย
  9. มะขามป้อม อุดมไปด้วยวิตามินซีช่วยรักษาอาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันการเกิดพิษโลหะหนักในตับ และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับได้
  10. ข้าวกล้อง มีคาร์โบไฮเดรตสูง มีวิตามินบีรวม หากรับประทานในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยสร้างไกลโคเจนในตับได้ ทำให้ช่วยฟื้นฟูให้ตับแข็งแรง
  11. เนื้อปลา เช่น ปลาแซลมอน จะมีโอเมก้า 3 สารอาหารบำรุงการทำงานของตับ เป็นตัวช่วยสำคัญในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของตับที่เสียหายให้กลับมาฟื้นฟูและทำงานได้ดีอีกครั้ง
  12. เก๋ากี้ จะมีเบต้าแคโรทีน กรดกำมะถัน แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน E, B2 ที่จะมาช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาว และลดไขมันในเลือด ซึ่งจะบำรุงตับให้ทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันไม่ให้ไขมันมาพอกตับมากกว่าเดิม
  13. วอลนัท มีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงตับอยู่ 2 ชนิด คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 และกลูต้าไธโอน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการขจัดสารพิษออกจากตับ
  14. กระเทียม มีสรรพคุณกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ตัวที่ช่วยขับสารพิษออกไป อีกทั้งกระเทียมยังมีอัลลิซิน (Allicin) และซีลีเนียม (Selenium) 2 องค์ประกอบสำคัญจากธรรมชาติที่จะช่วยดีท็อกซ์สารพิษที่สะสมในตับ

นอกเหนือจากการรับประทานอาหารและสมุนไพรบำรุงตับแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตับมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยสามารถทำได้ ดังนี้

  1. ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI เกิน 25 kg/m2) ควรออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
  3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

แม้ผลกระทบจากการใช้สมุนไพรและวิตามินจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปและต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะสุขภาพตับ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย แนะนำว่าให้ศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อน หรือสามารถสอบถามรายละเอียดการใช้สมุนไพรและวิตามินเหล่านี้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน และที่สำคัญ ควรหยุดใช้ทันทีเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

 

อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช  ,โรงพยาบาลศิครินทร์  ,โรงพยาบาลนครธน