กฎหมายกับปัญหาสุขภาพเรื่องความเหงา | ณิชนันท์ คุปตานนท์

กฎหมายกับปัญหาสุขภาพเรื่องความเหงา | ณิชนันท์ คุปตานนท์

เมื่อ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ ความเหงา (Loneliness) เป็นภัยคุกคามสุขภาพระดับโลก โดยเปรียบเทียบว่า มีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าได้กับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน ทั้งนี้ ผลจากความเหงานั้น บั่นทอนทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย

สำหรับในผู้สูงอายุ ความเหงามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นทั้งโรคภาวะสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเรียนรู้และการทำงานที่ลดลง

อันจะส่งผลต่อปัญหาทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป จึงนับได้ว่า ปัญหาเรื่องของความเหงา เป็นปัญหารุนแรงที่รัฐไม่ควรมองข้าม

เรื่องของความเหงาและความโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว และทวีความรุนแรงสูงขึ้นหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมหลายภาคส่วนหยุดชะงัก ส่งผลกระทบให้มีผู้คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ในบางรายก็ส่งผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า และในบางรายก็รุนแรงจนเราพบเห็นข่าวการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบัน บางประเทศจึงเริ่มมีแนวนโยบาย และมาตรการทางกฎหมายเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าว

ในสหรัฐ ซึ่งประสบกับปัญหาที่มีประชาชนจำนวนมากเป็นโรคเหงาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจึงได้มีการเสนอกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาความเหงาและการแยกตัวจากสังคมในผู้สูงอายุ

และต่อมาในช่วงกลางปีก็ได้มีการเสนอมาตรการระดับชาติเพื่อจัดการกับปัญหาความเหงาที่แพร่ระบาดในอเมริกา รวมถึงการส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มขึ้น

โดยเสนอเป็นกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม (The National Strategy for Social Connection Act) ซึ่งจะก่อตั้งสำนักงานนโยบายความสัมพันธ์ทางสังคมในทำเนียบขาวเพื่อทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และออกแนวทางปฏิบัติระดับชาติ (national guideline) ในเรื่องนี้ 

รวมไปถึงการให้ทุนสำหรับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาด (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

กฎหมายกับปัญหาสุขภาพเรื่องความเหงา | ณิชนันท์ คุปตานนท์

สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบปัญหาในเรื่องนี้ไม่น้อยเช่นเดียวกันนั้น ก็ได้ออกกฎหมายส่งเสริมนโยบายการจัดการกับปัญหาความเหงาและความแยกตัวทางสังคม เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 เป็นต้นไป 

กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่จะไม่มีการทอดทิ้งให้มีบุคคลใดต้องทุกข์ทรมานจากความเหงาและความโดดเดี่ยวหรือแยกตัวทางสังคม รวมถึงการสนับสนุนการดูแลรายบุคคลและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้จึงได้วางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับนโยบายในเรื่องการหาทางป้องกันผู้คนไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะความเหงาและความโดดเดี่ยวหรือแยกตัวทางสังคม และมีการสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสมรวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยให้คนที่อยู่ในภาวะความเหงาและแยกตัวสามารถหลุดพ้นจากสภาพนั้น แล้วสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นปกติสุขได้ โดยดำเนินการในทุกภาคส่วนของสังคม 

ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนดังกล่าว ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและต้องปรับให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละบุคคล รวมถึงครอบครัว และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น รัฐบาลต้องร่วมกับท้องถิ่น และต้องก่อตั้งหน่วยงานระดับภูมิภาคเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากความเหงาและการแยกตัว โดยท้องถิ่นจะให้ข้อมูลของคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และข้อมูลดังกล่าวต้องถูกเก็บเป็นความลับ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 เยน

ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่โรคโควิด-19 ระบาด และญี่ปุ่นซึ่งประสบปัญหาผู้ที่ประสบปัญหาจากความเหงาเพิ่มขึ้นสูงด้วยลักษณะของสังคมเองซึ่งมีความโดดเดี่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ญี่ปุ่นได้ตั้งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องความเหงาและการแยกตัว

เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ แต่พบข้อจำกัดเนื่องจากการขาดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นแล้ว การออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็เป็นที่คาดหวังว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้

หากมองในภาพรวมแล้ว มาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนไม่ว่าในประเทศใดนั้น การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็จะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สามารถช่วยได้ โดยอาจรวมถึงการดำเนินการในรูปแบบอาสาสมัคร

หรือการสนับสนุนส่งเสริมจากภาคธุรกิจ ที่จะช่วยให้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยคำนึงถึงสภาวะและความแตกต่างของนิสัยพื้นฐานของแต่ละคนเข้าร่วมด้วย 

เพราะแม้ลักษณะและสภาพสังคมในปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่จะมีคนชอบอยู่คนเดียว (Introvert) เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจก็จะมีการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบทำกิจกรรมคนเดียวเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่หากมุ่งเน้นในด้านนี้มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้คนตกอยู่ในความเหงาและความโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะแต่ภาครัฐเพียงอย่างเดียวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะได้รักษาสมดุล ทั้งกิจกรรมสำหรับคนที่อาจไม่ชอบการเข้าสังคมมากนัก กับการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุซึ่งอาจเคลื่อนไหวหรือเดินทางลำบาก จึงมีแนวโน้มที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง 

การส่งเสริมกิจกรรมสำหรับคนเหล่านี้ ที่ไม่จำกัดแค่ในบ้านพักคนชรา ก็จะช่วยไม่ให้คนเหล่านั้น ตกอยู่ในความเหงาและการแยกตัวจากสังคมได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ ต่อไปด้วย ภาครัฐจึงควรรีบเข้ามาดูแลก่อนที่ปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่จนยากที่จะแก้ไข