สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์

สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์

ข้อมูลเกี่ยวกับอายุคาดเฉลี่ยของคนไทย ที่ผมค้นพบจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้คือ หากอายุ 60 ปี และเป็น

• ผู้ชาย จะมีอายุคาดเฉลี่ย (มีอายุต่อไปอีก) 22 ปีถึง 82 ปี แต่ช่วงที่สุขภาพยังดีจะประมาณ 17 ปี แปลว่าช่วงปลายของชีวิตที่เหลืออีก 5 ปีจะมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี

• ผู้หญิง จะมีอายุคาดเฉลี่ย 25 ปี (ถึง 85 ปี) แต่ช่วงที่สุขภาพยังดีจะประมาณ 19 ปี แปลว่าช่วงปลายของชีวิตที่เหลืออีก 6 ปีจะมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี

ผมไม่อยากให้ตัวเองต้องอยู่ใน “กรอบ” ดังกล่าว ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่าหากจะสูงวัยแบบนอกกรอบดังกล่าวจะต้องทำอย่างไร การจะไปทำประกันสุขภาพ ไม่ใช่การตอบโจทย์อย่างแน่นอน

เพราะข้อมูลของไทยและประเทศอื่นๆ นั้นเหมือนกันหมดคือ อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุคาดเฉลี่ยที่สุขภาพดี (Healthy Life Expectancy หรือ HALE) เพิ่มขึ้นน้อยกว่า

แปลว่า ช่วงที่สุขภาพไม่ดีตอนบั้นปลายของชีวิตจะยาวนานขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะระบบประกันสุขภาพปัจจุบันจะเน้นการรักษาโรค มากกว่าการป้องกันไม่ให้เป็นโรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้อง “ลงทุน” ดูแลตัวเอง ตั้งแต่ตอนที่ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรง เช่น ตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป

สำหรับตัวของผมเองนั้น ก็ต้องขอสารภาพว่าเริ่มหาความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อดูแลตัวเองอย่างจริงจังช้าไปประมาณ 25 ปี หากฉลาดกว่านี้ สุขภาพก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก

แต่จากการอ่านงานวิจัยหลายร้อยเรื่องก็ยังดีใจ ที่พบว่าการเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองนั้นไม่มีคำว่า “สายเกินไป”

งานวิจัยที่น่าสนใจคือ งานวิจัยที่สหรัฐเกี่ยวกับคนที่อายุยืนใกล้และเกิน 100 ปี ที่เรียกว่า New England Centenarian Study ซึ่งเป็นการวิจัยประเภทนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (และยังจะทำต่อไปอีกเรื่อยๆ โดยจะขยายไปศึกษาผู้สูงอายุที่ Sardinia ประเทศอิตาลี)

สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์

และมีข้อสรุปเบื้องต้น เกี่ยวกับคนอายุยืน 100 ปี (Centenarians) ดังนี้

1.การมีอายุยืนมากกว่าปกติ (ใกล้ 100 ปีและเกิน 100 ปี) เป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะหลังจากอายุ 90 ปี แปลว่าญาติใกล้ชิดก็จะอายุยืนมากกว่าปกติไปด้วย

2.คนอายุยืน 100 ปีจะเริ่มป่วยช้ามาก และช่วงที่ป่วยในบั้นปลายของชีวิตจะเป็นช่วงสั้นๆ (disability compressed) ทั้งนี้ คนกลุ่มนี้จะมีพันธุกรรมที่ช่วยให้หลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงจากการเป็น 4 โรคหลัก คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคสมองเสื่อม

3.ได้ค้นพบในเบื้องต้นว่า การมีลักษณะของพันธุกรรม 281 ชนิดจะช่วยให้อายุยืนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่มีอายุยืนถึง 105 ปีนั้น 85% จะมีลักษณะพันธุกรรมทั้ง 281 ชนิดดังกล่าว

ข้อสรุปปัจจุบัน คือการที่ทำให้มีอายุยืนถึง 80-85 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของตัวเอง (lifestyle) เป็นหลัก

แต่การจะมีอายุยืน 90 ปีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุถึง 110 ปี (super centenarians) นั้น จะต้องพึ่งพาพันธุกรรมที่ช่วยปกป้องจากการเป็นโรคต่างๆ ตลอดจนการมียีนที่ช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอ เซลล์ที่มีหางเทโลเมียยาว และการควบคุมระดับไขมัน ตลอดจน การมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง (strong immune system)

ข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้สรุปว่า การมีอายุยืนนั้นขึ้นอยู่กับโชคมากกว่าการดำเนินชีวิต

แต่ผมเชื่อว่ายิ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เราจะยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเราจะสามารถปรับการดำเนินชีวิตให้ยีน “ที่ดี” ที่มีอยู่ ทำงานมากขึ้นและดีขึ้น ในขณะที่ยีน “ที่ไม่ดี” จะถูกจำกัดให้ทำอันตรายต่อการมีอายุยืนให้น้อยที่สุด

สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์

ตัวอย่างนั้นมีอยู่มากมาย เช่น

- การนอนหลับน้อย (4 ชั่วโมง) เพียง 1 คืน ทำให้การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า natural killer cell นั้นลดลงไป 70% การที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลงนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น

- การนอนหลับน้อย (5 ชั่วโมงต่อคืน) จะทำให้น้ำหนักตัวขึ้น 4.5-7 กิโลกรัมต่อปี

- การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง 12 ประเภท

นอกจากนั้นก็ยังมียาที่ผมกล่าวถึงตอนก่อนหน้า ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำหนัก และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจพร้อมกันไป

แต่ผมคิดว่า ประเด็นที่สำคัญคือความรู้เกี่ยวกับยีนและการทำงานของยีน จะทำให้ lifestyle และเทคโนโลยี มีบทบาทมากขึ้นในการทำให้เราสุขภาพดีและอายุยืน

เช่น สหประชาชาติประเมินว่าในปี 2565 มีคนที่อายุ 100 หรือมากกว่าจำนวน 593,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 3.7 ล้านคนในปี 2593 ผมขอยกตัวอย่างอีก 2 เรื่อง เช่น

1.เรารู้แล้วว่าการที่ผู้หญิงมียีน BRCA1 และ BRCA2 ที่ทำงานผิดปกติ จะทำให้ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเป็นยีนที่ควบคุมไม่ให้เกิดเนื้องอก (tumor suppressor gene)

สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(7) : พันธุกรรม/ไลฟ์สไตล์

ในทำนองเดียวกับยีน TP53 มีหน้าที่ปกป้องจีโนม (guardian of the genome) จึงพบว่าในคนที่เป็นโรคมะเร็งนั้น กว่า 50% ยีน TP53 ทำงานผิดปกติ

2.คนที่มียีน APOE ประเภท e4 ทั้งคู่ (จากบิดาและมารดา) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่มี APOE ประเภท e3 ทั้งคู่ (ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ปกติ) ถึง 14.9 เท่า ตรงกันข้ามคนที่มียีน APOE ประเภท e2 จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าปกติถึง 40%

ความรู้ดังกล่าว (ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต) จะทำให้เราสามารถปรับการดำเนินชีวิตและมีมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

เช่นในกรณีของความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น สามารถลดลงได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำและนอนหลับให้เพียงพอตั้งแต่อายุกลางคนเป็นต้น

เรื่องนี้ ผมจะเขียนถึงในรายละเอียดต่อไปครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร