“ความกตัญญู” เป็นเครื่องหมายของคนดี ? จริงหรือ

“ความกตัญญู” เป็นเครื่องหมายของคนดี ? จริงหรือ

ส่องนิยาม 'ความกตัญญู' ตรงไหนคือความพอดี ที่จะสร้างความเข้าใจและความอบอุ่นในครอบครัว โดยไม่ต้อง 'สร้างความกดดัน' ให้ใครคนใดคนหนึ่ง 'กตัญญู' แล้วได้อะไร และอะไรที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจมีลูก

 

เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า คนดีต้อง มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด แนวคิดดังกล่าวถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และหลายคนที่มีลูกก็คาดหวังให้ลูก “โตทันใช้ และแก่ไปมีคนดูแล” แต่บางครั้ง ความคาดหวังกับความจริงก็ไม่ไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป

 

อีกมุมหนึ่ง เกิดคำถามที่ว่า เราจำเป็นต้องกตัญญูหรือไม่ หากเติบโตมาโดยที่ถูกพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดทอดทิ้ง และกลับมาในวันที่คุณยืนได้ด้วยตัวเองหรืออยู่ในการดูแลของคนอื่น เหล่านี้ ถูกปักธงด้วยคำว่า “ผู้ให้กำเนิด” จนทำให้หลายคนรู้สึกย้อนแย้งระหว่างความรู้สึกและความเป็นจริง

 

หรือในบางครั้งเรา พบว่า เด็กๆ ถูกคาดหวังจากครอบครัวมากเกินไปจนไม่มีความสุข “ทำดีแล้ว แต่ไม่เคยดีที่สุด” ความกดดันต่างๆ ถูกส่งต่อมายังลูกที่ต้องเรียนเก่ง ทำงานดี มีหน้ามีตากับสังคม เพื่อเป็นที่ภาคภูมิใจของพ่อแม่ หลายคนเป็น 'เดอะแบก' ของครอบครัว ซึ่งความกดดันดังกล่าว อาจส่งผลนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

สังคมเปลี่ยน แนวคิดเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน ในยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนไป คนนิยมมีลูกน้อยลง และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่บริบทสังคมเปลี่ยนไปเท่านั้น แนวคิดการมีลูกก็เปลี่ยนไปเช่นกัน นอกจากความพร้อมที่จะเลี้ยงดูคนๆ หนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องใช้เงิน เวลา และความเอาใจใส่ แนวคิดของคนรุ่นใหม่ยังเปลี่ยนไปเนื่องจากมองว่า “ลูกไม่ได้ขอมาเกิด” จึงไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องมาเลี้ยงดูเรา หรือตอบแทนบุญคุณ และนั่นทำให้หลายครอบครัวที่วางแผนมีลูก ต้องทำตัวเองให้พร้อมในทุกด้าน 

 

“ดังนั้น ตรงไหนจึงจะเป็นความพอดี เพื่อให้ครอบครัวยังคงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน “สร้างความอบอุ่น” ได้โดยไม่ต้อง “สร้างความกดดัน” ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือต้องทำให้รู้สึกว่า เป็นหนี้ ที่ต้องชดใช้”

 

ความกตัญญู คืออะไร

วารสารมานุษยวิทยาศาสนา (Journal of Religious Anthropology : JORA) อธิบายความหมายของคำว่า 'กตัญญูกตเวที' คือ ผู้ที่รู้ระลึกคุณของผู้มีพระคุณและทำคุณประโยชน์ตอบแทน โดยความกตัญญูในสังคมไทยมักมีอยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้

 

1) การทำความดีเพื่อหวังผลประโยชน์ คือการตอบแทนคนที่ช่วยเหลือเรา ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการตั้งนิยามในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต สังเกตได้จากค่านิยมการมีลูกสมัยก่อนที่ว่า “มีลูกเพื่อให้พวกเขาเลี้ยงดูตอนแก่”

 

2) การทำความดีด้วยโดยไม่หวังผลตอบแทน ลักษณะนี้สอดคล้องกับคำว่า 'บุพการี' ในพุทธศาสนา แปลว่า ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลประโยชน์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีภาพจำความกตัญญูกตเวทีกับรูปแบบแรกที่ต้องตอบแทนผู้ที่ช่วยเหลือเรา

 

 

 

เราเกิดมา พร้อมกับหนี้บุญคุณ ?

การแสดงออกถึงความกตัญญู ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะถือว่าเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ให้ ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง 'หนี้แห่งความกตัญญู : การแยกแยะความกตัญญูและการเป็นหนี้' จากทีมนักวิจัย (Watkins, Scheer, Ovnicek & Kolts) ของหลักสูตรปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (The Chinese University of Hong Kong)

 

พวกเขาได้เผยแพร่ผลการศึกษาไว้ว่า แม้การเป็น 'หนี้' และ 'ความกตัญญู' ทั้งสองอย่างนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝ่ายหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอีกฝ่าย แต่ก็มีความแตกต่างกันในความรู้สึกและพฤติกรรมโต้ตอบ

 

กล่าวคือ.. การเป็น 'หนี้' เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ลูกหนี้จะรับรู้และตระหนักว่าพวกเขามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ และการเป็นหนี้จะกระตุ้นให้ลูกหนี้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้เสมอ

 

ขณะที่ 'ความกตัญญู' ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีอารมณ์และความรู้สึกที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ดีในเชิงบวก คือ ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ มักอยากจะค้นหาผู้มีพระคุณเพื่อตอบแทนบุญคุณ และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้ทั้งสองฝ่าย พร้อมส่งต่อพฤติกรรมการเกื้อกูลนี้สู่อนาคตต่อๆ ไปด้วย

 

ประโยชน์ของ "ความกตัญญู" ในเชิงจิตวิทยา

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความกตัญญูในเชิงจิตวิทยา พบว่ามันมีประโยชน์ในแง่ช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตใจ ภาวะทางอารมณ์ให้ดีขึ้น และส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน โดย Robert Emmons จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และ Michael McCullough จากมหาวิทยาลัยไมอามี พวกเขาได้ศึกษาและทดลองในประเด็น 'จิตวิทยาเชิงบวกของความกตัญญู' พวกเขาทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง

 

โดยให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งเขียนขอบคุณสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอมาในชีวิตประจำวันลงในไดอารีเป็นเวลา 13 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่เขียนเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธ

 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่เขียนขอบคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ โดยพบว่าเมื่อเกิดความรู้สึกขอบคุณ (หรือกตัญญูต่อสิ่งรอบตัว - ตามบริบทของงานวิจัยชิ้นนี้) ร่างกายของคนเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ลึกซึ้ง เช่น

 

ความเครียดลดลง, กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน, การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น, อัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ, หายใจลึกขึ้น, ปริมาณออกซิเจนในเส้นเลือดและเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

 

เหล่านี้ส่งผลให้อารมณ์ดี การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการคิดในแง่บวกแม้ขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ ซึ่งเป็นกลไกของจิตใต้สำนึกที่ช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดีขึ้น

 

ความกตัญญู แสดงออกได้หลายรูปแบบ

จากงานวิจัยทั้งสองชิ้นพอจะสรุปได้ว่า ความกตัญญูนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนควรมี เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในเชิงบวกทั้งในแง่จิตใจและอารมณ์แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในทางอ้อมด้วย

 

ส่วนการแสดงออกถึงความกตัญญูนั้น ไม่ใช่การจ่ายหนี้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจใหม่ว่า ลูกไม่จำเป็นต้องนำเงินจำนวนมากๆ มาให้พ่อแม่เพื่อแสดงถึงความกตัญญู ทั้งนี้การที่ลูกให้เงินพ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรให้ตามกำลังของตนเอง

 

นอกจากนี้ ลูกๆ ยังสามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แทบไม่ต้องใช้เงินด้วยซ้ำ เช่น กล่าวขอบคุณพ่อแม่เมื่อท่านช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน, แสดงความรักด้วยการกอด, ช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน, ช่วยเหลือจุนเจือตามกำลังที่ทำได้, หาเวลาไปเยี่ยมหรือพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

 

พ่อแม่ต้องพร้อม และเข้าใจ ก่อนมีลูก

ข้อมูลจาก สภาบันพ่อแม่ไทย อธิบายว่า คู่สามีภรรยาที่มีความพร้อมและตัดสินใจมีลูกแล้ว จะต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ๆ เกิดขึ้นตามมา โดยมีบทบาทใหม่ในการเป็นพ่อและแม่ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญและมีความรับผิดชอบสูงอัน ได้แก่

 

1. การให้ความเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและจิตใจ

พ่อแม่มีหน้าที่ต้องให้ความเอาใส่ลูกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกายเป็นความจำเป็นในอันดับแรกของชีวิต ในขณะที่ลูกยังช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องดูแลหาอาหาร เครื่องนุ่งห่มและดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในด้านจิตใจก็ได้แก่การให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ลูก สร้างความรู้สึกให้ลูกรู้สึกถึงการเจริญเติบโตด้วยความเป็นมิตร มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เกิดความภูมิใจกับสถานภาพของตนเองในครอบครัว

 

2. การอบรมสั่งสอน

พ่อแม่มีหน้าที่ต้องปลูกฝังให้ลูกสามารถควบคุมตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการเข้าสังคม มารยาทสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้

 

3. การเอาใจใส่

พ่อแม่ต้องคอยเอาใจใส่ดูแลลูก เพื่อสังเกตและควบคุมพฤติกรรมของลูกให้ดำเนินไปได้อย่างถูกครรลองคลองธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคม อันได้แก่ ด้านสุขภาพจิต ด้านการใช้ยาเสพติด ด้านการใช้เวลาว่าง พ่อแม่ควรต้องแนะนำให้เด็กได้ใช้เวลาว่างตามความถนัดตามความสนใจ ให้คำแนะนำและส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

 

ความคาดหวัง ที่ 'ลูก' ต้องรับผิดชอบ ?

แน่นอนว่า หลายครอบครัวมีลูกและมักมาพร้อมกับความคาดหวัง ความรู้จากเพจ หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ให้มุมมองว่า มีคุณแม่ถามมาว่า 'เลี้ยงลูก เราไม่ควรมีความคาดหวังอะไรเลยหรอ?'

 

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง 'ความคาดหวัง' เป็นเรื่องที่ปกติมากที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราได้ลงมือตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แต่ 'ความคาดหวัง' ที่เรามีให้กับลูก ควรเป็น 'ความรับผิดชอบ' ของเรา ไม่ใช่ของลูก

 

ลูกไม่ควรมีหน้าที่ที่จะมาสานความฝันหรือมีชีวิตให้เป็นไปตามคาดหวังของใคร เพราะการต้องมีชีวิตในรูปแบบนั้น มันอาจจะสร้างความทุกข์ใจให้กับเด็กหลายคน

เพราะมนุษย์ทุกคน ก็มีความต้องการและความฝันเป็นของตัวเอง คาดหวังได้ แต่ต้องรับผิดชอบและ 'จัดการความคาดหวัง' ของตัวเราเองได้ โดยไม่สร้างความทุกข์ ให้กับชีวิตลูกโดยไม่จำเป็น

 

ในคลินิกวัยรุ่นตอนนี้ เต็มไปด้วยเด็กที่มาด้วยปัญหาเครียด กดดัน รู้สึกเศร้า รู้สึก burnout ไปจนถึง ไม่อยากมีชีวิตอยู่เด็กหลายคนต้องใช้ชีวิตเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ทำให้ให้พ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ใช้ได้ สร้างหน้าตาให้พ่อแม่ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกโซเชียล

 

หลายครั้ง ความคาดหวังและความหวังดีของพ่อแม่ มักถูกอ้างว่ามันทำในนามแห่ง 'ความรักและปรารถนาดี' แต่ลึกลงไปแล้วหลายครั้งที่เราอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ เป็นเด็กที่ใช้ได้ ไม่ได้เกิดจากความรักลูกเพียงเท่านั้น แต่เกิดจากความ 'รักตัวเอง' ของเราด้วย

 

ความสำเร็จของลูก … หลายครั้งเป็นสิ่งที่เข้ามาชดเชยความรู้สึกขาดพร่อง ความรู้สึกไม่มั่นใจ ความรู้สึกไม่มั่นคงภายใน และความรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ 'ของตัวพ่อแม่เอง' เรามี 'ความหวัง' กับลูกได้ เพราะความหวัง สร้างพลังกับชีวิตเสมอ แต่ถ้าเผลอไป 'คาดหวัง' กับลูกจนเป็นทุกข์ ทั้งลูกและเรา เรามีหน้าที่ รู้เท่าทันและ 'จัดการ' ความคาดหวังในใจของเราเอง

 

จัดการความคาดหวัง ด้วยการ 'ยอมรับ' ว่าไม่มีใครมีหน้าที่เกิดมาตอบสนองความต้องการของใคร หลายครั้งความรับผิดชอบคือการยอม 'ไว้อาลัย' กับความต้องการที่ไม่ได้ดังใจของเรา และสำหรับหลายคน การจัดการความคาดหวัง… ทำได้ด้วยการเติมเต็มความมั่นคงภายใน กลับมารักและภูมิใจกับตัวเองได้ โดยไม่ต้องให้ 'ลูก' ต้องเป็นคนที่ใช้ชีวิตเพื่อทำหน้าที่นั้น

 

อ้างอิง : สถาบันพ่อแม่ไทย , เพจหมอโอ๋เลี้ยงลูกนอกบ้าน