'โรคงูสวัด' ความเจ็บปวดที่อันตรายกว่าที่คิด หากปล่อยไว้นาน เสี่ยงตาบอดได้

'โรคงูสวัด' ความเจ็บปวดที่อันตรายกว่าที่คิด หากปล่อยไว้นาน เสี่ยงตาบอดได้

พญ.ปาริชาติ เมืองไทย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ให้ความรู้เรื่อง "โรคงูสวัด" อีกหนึ่งภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจเสี่ยงตาบอดได้

รู้หรือไม่? โรคงูสวัด - โรคอีสุกอีใส มีต้นกำเนิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน โรคงูสวัดยังเจอในคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็มีโอกาสเป็นงูสวัดได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นทางเลือกช่วยให้ผู้สูงอายุลดความเสี่ยงจากอาการรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในรายที่โรคขึ้นตา หากปล่อยไว้นาน อาจเสี่ยงตาบอดได้

พญ.ปาริชาติ เมืองไทย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ในเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ อธิบายอาการของโรคงูสวัดว่า เป็นโรคปลายประสาทที่เกิดจากเชื้อ ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด อีสุกอีใส บ่อยครั้งพบว่าเชื้อหลบอยู่ในปมประสาท ดังนั้นจึงมักเจอในผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือจะเจอในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยที่มีระบบ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่ต้องรับยากดภูมิ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยร่วมในเรื่องของการพักผ่อนไม่เพียงพอ ต่างกับโรคอีสุกอีใสที่แม้จะมีตุ่มน้ำขนาดเล็กเหมือนกัน แต่ตุ่มจะมีลักษณะกระจายทั่วร่างกาย พบบ่อยในเด็กอายุน้อย เป็นเพียงครั้งเดียว ไม่เป็นซ้ำอีก และอาจเป็นงูสวัดในอนาคตได้

"ส่วนในเคสผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือ โรคงูสวัด ขึ้นหน้า หรืออาการปวดรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แพทย์จะให้กินยาต้านไวรัส และเพื่อลดความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรได้รับยาหลังเกิดอาการภายใน 2-3 วัน แต่ถ้าเป็นในเคสของผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำจะให้ยาฉีดผ่านทางหลอดเลือดดำ ในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้สูงอายุ หลังหายแล้ว บางครั้งอาจมีอาการปวดเหมือนไฟช็อตอีกด้วย"

งูสวัดขึ้นหน้า ปล่อยไว้นานเสี่ยงตาบอด

พญ.ปาริชาติ ให้ความรู้ต่อไปว่า ตำแหน่งที่น่ากลัวของการป่วยโรคงูสวัดคือ บริเวณแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า โดยเฉพาะดวงตา หากปล่อยไว้เสี่ยงตาบอดได้ ดังนั้นควรพบจักษุแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ถึงอาการจะสงบแต่เชื้อไวรัสยังซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่อไรที่ร่างกายอ่อนแอก็มีโอกาสถูกกระตุ้นได้อีก 

ตุ่มใสห้ามแกะเกา เสี่ยงติดเชื้อ 

พญ.ปาริชาติ กล่าวต่อไปด้วยว่า ผู้ป่วยควรตรวจเช็กสม่ำเสมอ สังเกตอาการตามระยะ โดยระยะแรกมักจะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะบริเวณที่ปลายประสาทที่เริ่มอักเสบ ส่วนระยะที่ 2 ให้สังเกตว่า บริเวณที่เจ็บนั้นมีตุ่มพองขึ้นหรือไม่ ถ้ามีอาการให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเมื่อไรเข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาท ส่วนใหญ่มักจะพบตามไขสันหลังหรือบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง 

\'โรคงูสวัด\' ความเจ็บปวดที่อันตรายกว่าที่คิด หากปล่อยไว้นาน เสี่ยงตาบอดได้

"สำหรับผู้ป่วย โรคงูสวัด ในระยะเริ่มต้นที่เป็นตุ่มน้ำใส ต้องรักษาแผลให้สะอาด หากตุ่มน้ำแตกต้องระวังแบคทีเรียเข้าสู่แผล เกิดการติดเชื้อได้ วิธีล้างแผล ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ถ้าปวดแผลมากสามารถทานยาแก้ปวดได้ ที่สำคัญไม่ควรแกะเกาตุ่มงูสวัด เพราะอาจกลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า หรือเกิดแผลเป็นได้" 

งูสวัดป้องกันได้ด้วยวัคซีน

พญ.ปาริชาติ กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีของคนปกติ ผื่นแดงคันตามแนวปมประสาท เช่น เอว แขน ขา จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสและแห้งตกสะเก็ด อาการจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ หรืออาจทิ้งร่องรอยไว้ แต่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ป่วยที่งูสวัดขึ้นตาให้รีบพบแพทย์ทันที ก่อนที่จะเกิดอาการและความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนตามมา

สำหรับวิธีการป้องกันในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  1. Live-attenuated zoster vaccine (วัคซีนที่เตรียมจากเชื้อไวรัส varicella zoster ชนิดที่ถูกทำให้อ่อนแรงลง) วัคซีนนี้ฉีดเข็มเดียว ฉีดได้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  2. Recombinant zoster vaccine (วัคซีนชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์) เป็นวัคซีนตัวใหม่ที่เข้าไทย ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 2-6 เดือน สามารถฉีดในคนทั่วไปอายุ 50 ปีขึ้นไป คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้ยากดภูมิคุ้มกันในอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพสูงและระดับภูมิคุ้มกันอยู่นานอย่างน้อย 10 ปี 

พญ.ปาริชาติ แนะนำทิ้งท้ายว่า ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงยังคงต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อด้วย 

สำหรับผู้ที่มีความกังวลหรืออาการป่วยมีข้อบ่งชี้ แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลใน เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ทุกแห่ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์