'ต่อมลูกหมากโต'ความผิดปกติที่ชายไทยไม่ควรมองห้าม

'ต่อมลูกหมากโต'ความผิดปกติที่ชายไทยไม่ควรมองห้าม

ปวดฉี่กลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง ฉี่ไม่สุด ฉี่ไม่พุ่ง กลั้นฉี่ไม่ได้ ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่อมลูกหมากโตที่มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติของผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปพบมากถึง 80%

Keypoint:

  • 'โรคต่อมลูกหมากโต' พบป่วยในกลุ่มผู้ชายอายุ50 ปีขึ้นไป สังเกตได้ง่ายๆ จากความผิดปกติในการปัสสาวะ หรือฉี่ 
  • หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะติดเชื้อบ่อยๆ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือไตเสื่อม และ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเสื่อมไปเลย
  • วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการปัสสาวะของตนเอง และหมั่นตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำกับแพทย์

โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี จนกระทั่งอายุประมาณ 45 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรค"ต่อมลูกหมากโต" ซึ่งเกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดความผิดปกติต่อทางเดินปัสสาวะ

ทั้งนี้ หากมีอาการควรรีบรักษาและไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นที่มาของอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้เกิดขึ้นได้ 

'นพ.พีร์ พบพาน' แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มาให้ความรู้ ความรู้เกี่ยวกับอาการต่อมลูกหมากโต และสาระน่ารู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ใน ติดจอ ฬ.จุฬา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"เทคโนโลยี" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

ชายไทยป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น เหตุกินฟาสต์ฟู้ด นม เนย ชีส

เทรนด์การลงทุน-ดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ เฮลท์แคร์สมาร์ทดิจิทัล สู่ความยั่งยืน

เคล็ด(ไม่)ลับ ปลุกพลังการทำงานอย่างไร? หลังวันหยุดยาว

 

ภาวะแทรกซ้อม 'ต่อมลูกหมากโต'หากไม่ได้รักษา

นพ.พีร์  อธิบายว่า โรคต่อมลูกหมากโต หากไม่ได้รับการรักษา จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะติดเชื้อบ่อยๆ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือไตเสื่อม แย่สุด คือ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเสื่อมไปเลย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้สามารถเจอได้ประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น อายุ 50 ปี ขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุด และสังเกตอาการปัสสาวะของตัวเองที่เริ่มผิดปกติ  

'ต่อมลูกหมาก' เป็นหนึ่งในอวัยวะระบบสืบพันธุ์เพศชาย ซึ่งตัวต่อมลูกหมากจะอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน หลายๆ คนมักจะเข้าใจว่าต่อมลูกหมาก คือ อัณฑะที่อยู่ในถุงอัณฑะด้านนอก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่

นพ.พีร์  กล่าวต่อว่า ต่อมลูกหมากโตจะเป็นอาการที่ผู้ชายพบเจอได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น พออายุเพิ่มมากขึ้น ตัวต่อมลูกหมากจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการปัสสาวะที่ผิดปกติ

โดยอาการมีได้ตั้งแต่ ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง เริ่มมีการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ลุกกลางคืนเพื่อปัสสาวะบ่อยๆ และอาการมีตั้งแต่อาการเบา หนัก แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย  แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถจัดการกับมันได้ไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป

 

7 อาการเบื้องต้นของโรคต่อมลูกหมากโต 

นพ.พีร์  กล่าวต่อไปว่าต่อมลูกหมากโตเป็นอาการที่พบได้โดยปกติเมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น ซึ่งปกติต่อมลูกหมากจะมีรูปร่างคล้ายเกาลัด ขนาดประมาณสัก 15-20 กรัม หุ้มอยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น

เมื่ออายุประมาณ20 ปี ต่อมลูกหมากจะหยุดโต และจะกลับมาโตอีกครั้งที่อายุประมาณ 45 ปี  พอเริ่มโตมากขึ้นก็จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะที่ผิดปกติไปจากการกดเบียดท่อปัสสาวะได้  โดยอัตราการโตเร็ว หรือว่าโตช้าจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย  ความรุนแรง หนัก หรือเบาก็แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

"อาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้น เกิดจากการกดเบียดของตัวต่อมลูกหมายกับท่อปัสสาวะเอง หรือเกิดจากการที่ต่อมลูกหมากโตทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานหนักขึ้น จนกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติไปนั่นเอง"

อาการของโรคต่อมลูกหมายโตที่สำคัญมีอยู่ 7 อย่างด้วยกัน มีดังนี้

  1. ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  2. ปัสสาวะไหลเบา ไม่พุ่ง
  3. ปวดปัสสาวะแล้วต้องรีบเข้าห้องน้ำ ไม่สามารถรอได้
  4. ถ่ายปัสสาวะเสร็จ แล้วรู้สึกไม่สุด
  5. ปัสสาวะไหลๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง
  6. ต้องเบ่งช่วย เวลาถ่ายปัสสาวะ
  7. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ปัสสาวะดีขึ้น

ในกลุ่มผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่มีอาการโรครุนแรงน้อย การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ผู้ป่วยและปรับพฤติกรรมเพื่อให้การปัสสาวะดีขึ้น รวมถึงนัดผู้ป่วยมาติดตามโรค

สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ มีดังต่อไปนี้

1.ลดการดื่มน้ำลง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา หรือกาแฟ  และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.ลดการดื่มน้ำ และเครื่องดื่มในช่วงเวลาก่อนเข้านอนในผู้ป่วยที่มีปัญหาปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ

3.การเข้าห้องน้ำ เช่น การฝึกกั้นปัสสาวะ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมด ถ้าทำแล้วดีขึ้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยา แต่หากไม่ดีขึ้นก็จำเป็นจะต้องใช้ยาเป็นลำดับถัดไป

การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต

1. การซักประวัติ บ่อยครั้งแพทย์ให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม (IPSS) เพื่อประเมินความรุนแรงของความผิดปรกติของการถ่ายปัสสาวะ

2. การตรวจทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้น การใช้นิ้วคลำจะเป็นวิธีการตรวจร่างกายที่ง่ายที่สุดในการประเมินถึงลักษณะทางภายกายภาพของต่อมลูกหมาก และที่สำคัญยังสามารถบอกได้ถึงความผิดปรกติที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

3. การตรวจปัสสาวะเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อ มีเม็ดเลือดผิดปรกติหรือไม่ และยังเป็นการบอกถึงความผิดปรกติของร่างกายในระบบอื่นได้

4. การตรวจเลือดเพื่อหาค่า PSA (prostatic specific antigen) จะตรวจต่อเมื่อผู้ป่วยมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรง และน่าจะมีชีวิตยืนยาวมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก มีแนวโน้มจะโตและลุกลามช้า

5. การตรวจอัลตราซาวน์ ส่วนมากมักใช้เมื่อมีความผิดปรกติในการตรวจปัสสาวะ แต่ปัจจุบันเป็นที่นิยมส่งตรวจกันมากขึ้น เนื่องจากปลอดภัยและให้ประโยชน์สูง

6. การตรวจความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry)  มักจะร่วมกับการตรวจปัสสาวะที่เหลือค้างหลังจากปัสสาวะหมดแล้ว มีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงและติดตามการรักษา

7. การตรวจอื่น ๆ เช่น การส่องกล้อง การตรวจยูโรพลศาสตร์จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน

การรักษาโรคต่อมลูกหมากให้หายขาด

สำหรับ โรคต่อมลูกหมากโตนั้น ส่วนมากมักจะมีต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม  ดังนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะให้อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยดีขึ้น และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโต

โดยทั่วไป สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและไม่มีผลต่อคุณภาพชีวิต อาจยังไม่ต้องรักษาเพียงแต่เฝ้าติดตามไปก่อนได้ สำหรับการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่

1. การใช้ยา ปัจจุบันมียาเพื่อใช้รักษาอาการของโรคต่อมลูกหมากโตมากมาย สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มดังนี้

  • ยาในกลุ่มอัลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha adrenergic blockers)   

ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เป็นยาลดความดัน แต่ปัจจุบันได้พัฒนาต่อจนมีผลต่อความดันโลหิตน้อยมาก ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปัสสาวะสะดวกขึ้นภายใน 3 วัน แต่ถ้าหยุดยาและอาการก็จะกลับมาอย่างรวดเร็ว ยาในกลุ่มนี้จะใช้กันแพร่หลายที่สุด

  • ยาที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน (DHT) (Dihydrotestosterone)

ยาในกลุ่มนี้จะลดการสร้างฮอร์โมน DHT ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก แม้ว่าจะออกฤทธิ์ช้า แต่สามารถลดขนาดของต่อมลูกหมากได้ในระดับหนึ่ง จะมีประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากค่อนข้างโต

  • ยาสมุนไพร มีอยู่หลายชนิด

สำหรับชนิดที่แพร่หลายที่สุด คือ จากสมุนไพรชื่อ Saw palmetto แต่ประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจนนัก

2. การรักษาโดยการผ่าตัด ส่วนมากจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือที่รู้จักในชื่อ TURP  ซึ่งยังคงเป็นมาตรฐานการผ่าตัด ในขณะนี้การรักษาโดยการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตและมีภาวะแทรกซ้อน หรือการทานยาไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

การผ่าตัดวิธีการอื่นที่สามารถลดภาวะแทรกซ้อนหรือลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลได้ เช่น การใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด การใช้ขดลวดตาข่ายขยายต่อมลูกหมาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อละเลยการรักษาที่ถูกต้อง

  • ปัสสาวะไม่ออกทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป
  • ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากต่อมลูกหมากบวม
  • กระเพาะปัสสาวะครากหรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • การทำงานของไตเสื่อมลง และไตวายได้

สิ่งที่แพทย์เน้นย้ำ คือ ชายไทยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาในระดับต้นตอสาเหตุ และอย่าละเลยการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้รักษามีประสิทธิภาพสูงสุดทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีขึ้นดังเดิม