'ไอซ์ ปรีชญา' อาการดีขึ้น แต่ 'โรคซึมเศร้า' ยังรุมเร้าเพราะเครียดสะสม

'ไอซ์ ปรีชญา' อาการดีขึ้น แต่ 'โรคซึมเศร้า' ยังรุมเร้าเพราะเครียดสะสม

จากกรณี "ไอซ์ ปรีชญา" หมดสติและถูกนำส่งโรงพยาบาล ล่าสุด..อาการดีขึ้นและออกจากห้อง ICU แล้ว ขณะที่ "แม่บังอร" มารดาของดาราสาวเผยว่าลูกสาวป่วย "โรคซึมเศร้า" และเครียดสะสม ชวนรู้ทำไมความเครียดถึงส่งผลให้ยิ่งซึมเศร้าหนัก?

จากกรณี "ไอซ์ ปรีชญา" หมดสติในห้องนอน สู่การเปิดเผยถึงอาการป่วย "โรคซึมเศร้า" ที่ "แม่บังอร" มารดาของดาราสาวได้บอกเล่าผ่านสื่อว่า ที่ผ่านมาลูกสาวมีอาการซึมเศร้า และช่วงหลังๆ มานี้เครียดสะสมจากเหตุการณ์กรณีกรมโรงงานจ่อฟ้อง ฐานครอบครอง "ไซยาไนด์" รวมถึงถูกพักงานต่างๆ ในวงการ และยังมีปัญหากับแฟนหนุ่มอีกด้วย จึงกระทบต่ออาการซึมเศร้าให้ยิ่งแย่ลง

ล่าสุด.. มีรายงานข่าวจากสำนักข่าว "ไนท์เอ็นเตอร์เทน" ระบุว่า ดาราสาวพ้นขีดอันตรายแล้ว มีอาการดีขึ้น และออกจากห้องไอซียูมาพักฟื้นต่อที่ห้องผู้ป่วยปกติ นอกจากนี้ไนท์เอ็นเตอร์เทนยังรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุหมดสติไป ดาราสาวมีพฤติกรรมเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ตั้งแต่ 28 มิ.ย. 66 แทบไม่ออกจากห้อง ไม่กินข้าว จนซูบผอม อาการโรคซึมเศร้ากำเริบ ร้องไห้บ่อย สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ เป็นต้น

จากกรณีตัวอย่างในเคสนี้ และเคสคนมีชื่อเสียงที่ป่วยโรคซึมเศร้าอีกหลายคนที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจ ชวนย้อนรอยสาเหตุและอาการของ "โรคซึมเศร้า" กันอีกครั้ง เพื่อเป็นกระตุ้นเตือนสังคมออนไลน์ให้งดส่งต่อข้อความด่าทอรุนแรงผ่านสื่อโซเชียล ที่อาจกระทบจิตใจผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยซึมเศร้าควรรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมที่สุด  

 

  • "โรคซึมเศร้า" ไม่ว่าจะดาราหรือคนปกติ ก็ต้องการการดูแลอย่างเข้าใจ

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล, ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลในบทความวิชาการไว้ว่า "โรคซึมเศร้า" เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ กล่าวคือ มีอารมณ์ซึมเศร้านานต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยความเครียดสะสมก็เป็นตัวกระตุ้นอาการได้เช่นกัน

\'ไอซ์ ปรีชญา\' อาการดีขึ้น แต่ \'โรคซึมเศร้า\' ยังรุมเร้าเพราะเครียดสะสม

อีกทั้งมีอาการเศร้าอย่างมาก จนไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยทำให้กลับมามีความสุขสดชื่นเหมือนเดิม เบื่อหน่ายไปในทุกๆ สิ่ง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรืออยากนอนทั้งวัน ไม่อยากทำอะไร รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง มองตัวเองไม่ดี และอาจมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง เป็นต้น

ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นเป็นคนอ่อนแอ  เป็นคนชอบคิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่จริงแล้ว อาการเหล่านั้นเป็นเพราะตัวโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง และจะกลับมาเป็นผู้ที่มีจิตใจแจ่มใสได้เช่นเดิม

 

  • อาการบ่งชี้ โรคซึมเศร้า ที่เห็นได้ชัดเจนคืออะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยหลักๆ คือจะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม อาจแบ่งได้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยมีอาการหลักๆ ได้แก่ 

1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป : เศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อ่อนไหวง่าย จิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใสสดชื่นเหมือนเดิม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย คิดกังวล

2. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป : เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน หรือบางคนกลับกัน คือ กลายเป็นกินอาหารมากผิดปกติ หรือมีอาการท้องผูก อืด แน่นท้องร่วมด้วย

3. การนอนเปลี่ยนแปลงไป : นอนไม่หลับ หลับยากขึ้น หลับๆ ตื่นๆ กลางดึก

4. มีอาการทางกายร่วมด้วย : รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไร เชื่องช้า ในบางรายอาจลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายมากขึ้น ปากคอแห้ง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวมากขึ้น

5. มองชีวิตตนเองเปลี่ยนแปลงไป : รู้สึกแย่ไปหมด มองชีวิตในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาด ความล้มเหลว ชีวิตตอนนี้ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น 

6. มีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย : เมื่อรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความทรมานจิตใจเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยคิดถึงเรื่องการตายบ่อยครั้ง หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจในช่วงนี้ก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองจากอารมณ์ชั่ววูบได้

7. สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย : วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าพูดเรื่องอะไร จิตใจเหม่อลอย 

8. การงานแย่ลง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป : ซึมลง ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนก่อน เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร ความรับผิดชอบต่อการงานลดลง ขาดสมาธิ หมดพลังที่จะต่อสู้กับงาน เริ่มลางานขาดงานบ่อย

\'ไอซ์ ปรีชญา\' อาการดีขึ้น แต่ \'โรคซึมเศร้า\' ยังรุมเร้าเพราะเครียดสะสม

 

  • สาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจากอะไร? คนรอบข้างควรดูแลอย่างไร?

ส่วนสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้านั้น ก็อย่างที่หลายคนพอรู้กันมาบ้างแล้ว โดยหลักๆ เลยเกิดจาก "สารเคมีในสมอง" ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน และนอร์เอพิเนฟริน ที่ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์ตัวรับสารสื่อประสาทเหล่านี้ด้วย 

ประกอบกับอาจเกิดจาก ความเครียดสะสม, การสูญเสียครั้งใหญ่, สภาพจิตใจที่ถูกกระทบกระเทือนจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ราบรื่น ฯลฯ นอกจากนี้อาจเกิดได้จาก "กรรมพันธุ์" หากมีญาติที่เคยป่วยซึมเศร้า คนในครอบครัวเดียวกันก็มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป รวมไปถึงเกิดจาก "แนวคิด" ของผู้ป่วยเองก็มีผลให้เกิดโรค เช่น เป็นคนที่มักคิดลบกับตัวเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น

ทั้งนี้ คนรอบข้างควรดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด และควรอยู่เคียงข้างคอยรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ และไม่ตัดสิน โดยแพทย์ได้แนะนำถึงข้อควรทำ และไม่ควรทำ ในการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า ดังนี้ 

สิ่งที่ไม่ควรทำ / ชุดคำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง

ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า “จะเศร้าไปทำไมนักหนากับเรื่องแค่นี้…?” , เข้มแข็งหน่อยสิ! เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” , เรื่องเล็กๆ น่า…อดทนหน่อย” เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่า “ตัวเองเป็นภาระ” จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยจิตใจตกอยู่ในความทุกข์

อีกทั้ง อย่ามองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าเป็นการแกล้งทำ ภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา แต่มันคือ “การเจ็บป่วย” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง, อย่าพยายามกระตุ้นหรือคะยั้นคะยอทำตามสิ่งที่คนรอบข้างคาดหวัง, อย่าไปบังคับให้เขาทำอะไรโดยที่ยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาชอบหรือไม่ก็ตาม, อย่ากลัวที่จะถามหรือพูดคุยเรื่องฆ่าตัวตาย 

สิ่งที่ควรทำ / ชุดคำพูดที่ใช้พูดได้

คนรอบข้างควร “พร้อมที่จะรับฟังปัญหาของผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ” อย่าเพิ่งรีบให้คำแนะนำโดยที่ผู้ป่วยยังไม่ได้ร้องขอ แต่เน้นการเปิดโอกาสให้เขาได้พูดระบายออกมา อย่าตัดสินว่าเขาแกล้งทำ แต่ควรทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น หากสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น จึงค่อยๆ เข้าไปพูดคุยถึงเรื่องที่เขาชอบ หรือชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่พอทำได้ เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยลดความคิดฟุ้งซ่านลง

นอกจากนี้การซักถามเรื่องความคิดอยากตายก็ทำได้ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกความตึงเครียดออกมาได้ และควรรับฟังอย่างใจเย็น อย่าพูดคำต้องห้ามออกไป (เลิกคิดเถอะ คิดมากทำไม อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ฯลฯ) ถ้าพูดคุยแล้วสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยยังมีความท้อแท้สูง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบพามาพบจิตแพทย์ 

\'ไอซ์ ปรีชญา\' อาการดีขึ้น แต่ \'โรคซึมเศร้า\' ยังรุมเร้าเพราะเครียดสะสม

 

  • "โรคซึมเศร้า" รักษาให้หายได้ ต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับ "วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า" แพทย์จะใช้วิธีรักษาทางจิตใจในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งอาจเป็นการ "พูดคุย" กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ และอาจมีการจ่ายยาเพื่อปรับปรุงสารเคมีในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ

ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการ "รักษาทางพฤติกรรม" ด้วย เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของตนเอง และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความซึมเศร้า โดยแพทย์จะใช้วิธีการรักษา 2 รูปแบบที่มีการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี นั่นคือ

1. การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เน้นการแก้ไขปัญหาระหว่าง ผู้ป่วยกับคนรอบข้าง

2. การรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม เน้นการช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง

ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยา ร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่สงสัยว่าตนเองกำลังมีอาการซึมเศร้า สามารถเข้าไปคัดกรองอาการตนเอง โดยการทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 ได้ที่ลิงก์นี้ : Depression_risk

----------------------------------------

อ้างอิง : Nineentertain, Nineentertain2, Rama.mahidol, Rama.mahidol2, Rama.mahidol3