สปสช. ร่วมคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย บัตรทอง 4 กลุ่มโรค

คลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่งฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยบัตรทอง 4 กลุ่มโรค จริงหรือ?

สปสช. ร่วมมือกับคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่งฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย "บัตรทอง" 4 กลุ่มโรค เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือกับคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศ เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยสิทธิ "บัตรทอง" เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล

  • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพครอบคลุม 4 กลุ่มโรค ได้แก่

1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
2. ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)
3. ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่
4. ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip )

สปสช. ร่วมคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย บัตรทอง 4 กลุ่มโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศเข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว 58 แห่ง สำหรับการเข้ารับบริการ โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง" จะประสานส่งต่อผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค ไปยังคลินิกกายภาพบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับบริการกายภาพบำบัดแบบเข้มข้น (ไม่เกิน 20 ครั้ง) ในช่วง 6 เดือนแรกหลังพ้นระยะวิกฤต ซึ่งเป็นระยะ golden period ที่ระบบสมองและระบบประสาทต่าง ๆ ของร่างกายมีความพร้อมที่จะรับการฟื้นฟูสภาพ หากได้รับการบำบัดที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ
 

  • ตั้งเป้า ผลักดัน "การฟื้นฟูระยะกลาง" ให้เกิดขึ้นจริงใน กทม. 

รศ.ดร.กภ.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมโครงการคลินิกกายภาพบำบัด เข้าร่วมบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเบื้องต้นได้จัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (intermediate care) ใน 4 กลุ่มโรค ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยทั้ง 4 โรคนี้ เมื่อแพทย์ผ่าตัดแล้วจะต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้

รศ.ดร.กภ.มัณฑนา กล่าวว่า ขณะนี้คลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมโครงการยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร และการให้บริการในช่วงที่ผ่านมายังถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด แต่แนวโน้มในต่างจังหวัดพบว่ามีคลินิกกายภาพฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมบริการมากขึ้น ส่วนคลินิกที่ให้บริการอยู่แล้วก็มีการให้บริการเพิ่มขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ต่างจังหวัดจึงน่าจะขยายบริการได้เรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ กทม. ยังไม่สามารถจัดให้มีบริการเกิดขึ้นได้จริง ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไข้ไม่รู้เรื่องสิทธิของตัวเอง และอีกประการคือระบบการส่งตัวก็ยังไม่สมบูรณ์ เช่น โปรแกรม Disability Portal ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับ คลินิก สปสช. ใช้โปรแกรมเดียวกันทั่วประเทศ แต่โรงพยาบาลใน กทม. ไม่มีใครใช้โปรแกรมนี้เลย และการจะเอาโปรแกรมนี้ไปให้โรงพยาบาลติดตั้งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะโรงพยาบาลใน กทม. มีหลายสังกัด และต้องอาศัยระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในการดำเนินการ

สปสช. ร่วมคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย บัตรทอง 4 กลุ่มโรค

รศ.ดร.กภ.มัณฑนา กล่าวว่า ปัญหาอีกประการที่ทำให้บริการใน กทม. ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก สปสช. จ่ายเงินชดเชยค่าบริการในอัตราเดียวกับต่างจังหวัด ซึ่งในพื้นที่ กทม. การที่คลินิกกายภาพฯ จะส่งทีมไปดูแลคนผู้ป่วยที่บ้านจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงกว่าต่างจังหวัด ไม่คุ้มต้นทุนการให้บริการ จึงไม่ดึงดูดให้คลินิกกายภาพฯ เข้ามาร่วมให้บริการ

รศ.ดร.กภ.มัณฑนา กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยในปีนี้ ต้องการโปรโมทให้การดูแลผู้ป่วยทั้ง 4 โรคนี้ เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ กทม. ให้ได้อย่างเร่งด่วน โดยมีแนวทางประการแรกคือ ต้องทำให้แพทย์และพยาบาลทราบว่าคนไข้มีสิทธิได้รับบริการกายภาพบำบัดตามโครงการนี้ เพราะบางครั้งแพทย์ก็ไม่ทราบ รวมทั้งตัวคนไข้เองก็ไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิ

นอกจากนี้ ก็จะเน้นรณรงค์หาคลินิกกายภาพฯ ที่จะเข้ามาให้บริการให้มากขึ้น โดยสมาคมฯอาจต้องเป็นตัวกลาง จับคู่ระหว่างโรงพยาบาลผู้ส่งตัวคนไข้และคลินิกที่จะรับตัวคนไข้ให้มาเจอกัน รวมทั้งอาจต้องทำโมเดลเสนออัตราค่าบริการที่คลินิกกายภาพฯ สามารถให้บริการได้ โดยน่าจะเป็นอัตราจ่ายที่สูงกว่าในต่างจังหวัด เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าหากจ่ายในอัตราเดียวกับต่างจังหวัด คลินิกใน กทม. อาจให้บริการได้ยาก 

จริงๆ แล้วบริการกายภาพบำบัดสามารถให้บริการได้มากกว่า 4 โรคข้างต้น บริการที่คนส่วนใหญ่รู้จักจะเป็นการบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ หรือสิ่งอื่นๆที่ทำให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวไม่สะดวก นอกจากนี้ ยังมีบริการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในทุกกลุ่มวัยที่นักกายภาพฯ สามารถช่วยได้ เช่น การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มคนทำงาน กลุ่มเด็ก นักกายภาพก็สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการนั่ง ยืน เดิน ในชีวิตประจำวันที่จะไม่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ หากนักกายภาพบำบัดสามารถให้บริการเหล่านี้แก่ประชาชนได้ จำนวนคนป่วยด้วยโรคเหล่านี้ก็จะน้อยลง แต่คงต้องค่อยๆ เสนอให้ สปสช. จัดบริการเหล่านี้ ในเบื้องต้นจะเน้นให้บริการใน 4 โรคนี้ก่อน เพราะชัดเจนว่าถ้าไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยก็จะกลายเป็นคนพิการ” รศ.ดร.กภ.มัณฑนา กล่าว

สปสช. ร่วมคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย บัตรทอง 4 กลุ่มโรค