ดูแลสุขภาพเมื่อสูงอายุ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ดูแลสุขภาพเมื่อสูงอายุ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เวลาผ่านไปเร็วมาก ใกล้ครบ 10 ปีแล้ว ที่ผมเริ่มศึกษาและดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้ การแก่ตัวจนกระทั่งอายุ 56 ปีของผมนั้น ผมไม่เคยสนใจดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเป็นระบบเลย

ส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 40-55 ปี จะทำตามที่ “เขาเล่าว่า” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลหรือคำแนะนำที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับ และมักจะแฝงโฆษณาขายของให้กินโน่นกินนี่

จนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (ที่สำคัญคือ ละเลยการออกกำลังกาย) สุขภาพไม่ดี ป่วยบ่อย และต้องพึ่งพาการไปหาแพทย์และกินยามากมาย

หากเปรียบเทียบร่างกายของผมเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ผมเป็น CEO (และผู้ก่อตั้งบริษัท) แต่ไม่มีความรู้เลยว่า กระบวนการการผลิต การบริหารภายในและรักษาความปลอดภัยของบริษัทเลย เพราะให้คุณหมอและเภสัชกรรับช่วงการบริหารภายในของบริษัทไปทั้งหมด

พูดง่ายๆ คือ แต่ก่อนเป็นคนที่ชอบรถยนต์ จึงรู้จักการทำงานของรถยนต์มากกว่าการทำงานของร่างกายตัวเอง

มาวันนี้ ผมมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และรับรู้ว่าเป็นความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น และหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยมาด้วยดี และยังรอดจาก COVID 19 มาจนกระทั่งวันนี้ บทเรียนคือ ความรู้และ lifestyle สำคัญมาก

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ที่มีอายุยืนถึง 96 ปี (1926-2022) กับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่มีอายุยืนเพียง 71 ปี (1930-2002)

จะเห็นได้ว่าเป็นพี่น้องที่เติบโตขึ้นมาด้วยกัน แต่อายุขัยแตกต่างกันถึง 25 ปี ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าหญิงมาร์กาเรตเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น และยอมเลิกสูบบุหรี่ในปี 1991 (อายุ 61 ปี) แต่ยังดื่มสุราอย่างหนักต่อไป

ดูแลสุขภาพเมื่อสูงอายุ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สุขภาพของเจ้าหญิงมาร์กาเรตเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

-1985: (อายุ 55 ปี) ผ่าตัดปอดข้างซ้ายออกไป

-1993: เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคปอดบวม

-1998: (อายุ 68 ปี) เส้นเลือดในสมองตีบตัน (stroke)

-1999: อุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ ทำให้เดินลำบากต้องนั่งรถเข็นในบางโอกาส

-2001: เข้าโรงพยาบาล เพราะ stroke รุนแรงขึ้น ทำให้กลืนอาหารลำบาก เป็นอัมพาตด้านซ้ายของร่างกายและตาข้างซ้ายก็มองเห็นได้จำกัด

-9 กุมภาพันธ์ 2002: เสียชีวิตหลังจาก stroke วันก่อนหน้าและเกิดโรคหัวใจตามมา

แต่ในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยน้อยมากคือ

-1994: กระดูกข้อมือข้างซ้ายหักเพราะตกจากม้า

-2003: ผ่าตัดหัวเข่าข้างซ้ายและปีต่อมาผ่าตัดหัวเข่าข้างขวา (อายุ 77, 78 ปี)

-2016 เป็นไข้หวัดใหญ่ ทำให้ต้องยกเลิกพระราชกรณียกิจ

-2018 ผ่าตัดตา (cataract)

-2021 เคล็ดขัดยอกหลัง (sprained back) เดือนกุมภาพันธ์, ติด COVID 19 เดือนพฤศจิกายน

-2022 วันที่ 6 กันยายน แต่งตั้งนาง Liz Truss เป็นนายกรัฐมนตรี

-วันที่ 8 กันยายน แพทย์วินิจฉัยว่าสิ้นพระชนม์ เพราะ “old age” ที่พระราชวังที่ประเทศสก็อตแลนด์

คงจะไม่ต้องถามว่าตอนที่เราต้องเสียชีวิตเมื่อแก่ตัว เราต้องการ “ไป” แบบไหน ซึ่งผมก็ได้ไปค้นคว้าข้อมูลต่อไปอีก พบว่า มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับฝาแฝดที่เป็นทั้งฝาแฝดธรรมดา (fraternal twins) และฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน  (identical twins)

กล่าวคือมีความเหมือนกันอย่างมากในเชิงของรูปร่างลักษณะและอุปนิสัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่ติดตามชีวิตของฝาแฝด ที่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน (บางกรณีเป็นเด็กกำพร้าที่ ถูกนำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ต่างบ้าน ต่างประเทศกัน)

ข้อสรุปคือ ความอายุยืนหรือไม่อายุยืนนั้น ประมาณ 25% เป็นเพราะยีน แต่อีกประมาณ 75% เป็นเพราะการดำเนินชีวิต ว่าดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดีเพียงใด

การดูแลสุขภาพให้ “ดี” นั้น ผมเคยกล่าวถึงงานวิจัยขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2018 ที่สรุปว่าหากปรับการดำเนินชีวิตให้เข้าเกณฑ์ 5 ข้อ จะทำให้คนที่ปัจจุบันอายุ 50 ปี สามารถมีอายุยืนมากขึ้นไปอีก 12-14 ปี

ดูแลสุขภาพเมื่อสูงอายุ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

จากเกณฑ์มาตรฐาน 78.7 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สามารถเข้าเกณฑ์ได้เลย (หากเป็นผู้ชายอายุจะยืนขึ้นไปอีก 12 ปี หากเป็นผู้หญิงอายุจะยืนขึ้นไปอีก 14 ปี)

สำหรับเกณฑ์ดำเนินชีวิต 5 ข้อ ได้แก่ การไม่สูบบุหรี่ การดื่มสุราไม่เกินวันละ 1-2 แก้ว การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน การกินอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายและการควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินเกณฑ์ (ดัชนีมวลรวมของร่างกายหรือ BMI ระหว่าง 18.5-24.9) ซึ่งข้อสุดท้ายเป็นข้อที่ยากที่สุด เพราะคนอเมริกันไม่ถึง 10% สามารถเข้าเกณฑ์นี้ได้

หากมองไปที่ระบบขับเคลื่อน (operating system) ของร่างกายของมนุษย์ ก็พอสรุปได้ว่า เป็นการนำเอาอากาศกับอาหารมารวมกันสร้างพลังงานและฟอกเลือด เพื่อส่งเสบียงผ่านเส้นเลือด รวมทั้งสิ้นยาว 1 แสนกิโลเมตรไปให้ทั่วถึงทุกอวัยวะและทุกส่วนของร่างกาย 

โดยผ่านปั๊มที่ทำงานหนักและตลอดเวลาคือ หัวใจ (น้ำหนักเพียง 0.5% แต่ใช้พลังงาน 7%) และ CPU คือสมอง ที่ทำงานหนักและตลอดเวลาเช่นกัน (น้ำหนัก 2% แต่ใช้พลังงาน 20%)

นอกจากนั้น ก็ยังมีระบบรักษาความปลอดภัย คือระบบภูมิคุ้มกัน ที่ 60% รักษาความปลอดภัยและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่ระบบย่อยอาหาร

การดูแลร่างกายให้สมบูรณ์ในภาพรวมคือการดูแลให้หัวใจและเส้นเลือดแข็งแรง แปลว่า

1.กินอาหารที่เป็นประโยชน์

2.ออกกำลังกายแบบหัวใจเต้นเร็ว (cardio vascular exercise) เพื่อให้หัวใจแข็งแรงและเส้นเลือด 100,000 กิโลเมตรแข็งแรง

3.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

หากทำได้จะเป็นประโยชน์ดังนี้

-ความดันโลหิตต่ำอยู่ในเกณฑ์ แปลว่าเส้นเลือดแข็งแรงและไม่มีการตีบตันและหัวใจแข็งแรงโดยไม่ต้องทำงานหนัก

-น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ระดับไขมันดีสูง (เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ) และระดับไขมันไม่ดีอยู่ที่ระดับต่ำ เพราะควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์

-การออกกำลังกาย ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อย 13 ชนิดและยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ตลอดจนลดความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมและเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

-การนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน จะช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว (นอนน้อยจะหิวมาก) และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมตอนแก่ตัว นอกจากนั้น การนอนหลับที่เพียงพอก็ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย

ดังนั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์ การนอนให้เพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำและการควบคุมน้ำหนักตัว จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญยิ่งต่อการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่การซื้อประกันสุขภาพเพื่อรอให้หมอมารักษาตอนที่เราเป็นโรคแล้วครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร