ระวัง! เสพข่าว ‘เรือใต้น้ำไททัน’ มากเกินไป อาจกระตุ้น ‘โรคกลัวทะเล’

ระวัง! เสพข่าว ‘เรือใต้น้ำไททัน’ มากเกินไป อาจกระตุ้น ‘โรคกลัวทะเล’

หลายคนที่ติดตามข่าวพบซาก “เรือไททัน” ที่ไปสำรวจเรือไททานิค ระเบิด แล้วเกิดอาการใจสั่น เหงื่อออก เมื่อเห็นภาพมหาสมุทรที่กว้างไกล ระวังอาจจะเป็น “โรคกลัวทะเล” หรือ “Thalassophobia”

Key Points; 

  • โรคกลัวทะเล (Thalassophobia) เป็นโรคกลัวน้ำขนาดใหญ่และ/หรือลึก ถือว่าเป็นหนึ่งใน “โรคกลัวเฉพาะอย่าง” (Specific Phobias)
  • ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกลัวทะเลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป สำหรับบางคนเพียงแค่เห็นภาพสัตว์ในท้องทะเลก็เกิดอาการแล้ว ขณะที่บางคนไม่สามารถทนดูภาพหรือวิดีโอของมหาสมุทรลึกได้ บางส่วนอาจจะอาการกำเริบเมื่ออยู่กลางทะเลที่ไม่เห็นชายฝั่ง
  • โรคกลัวน้ำทะเลมีแนวโน้มมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีจากน้ำลึก เช่น จมน้ำ หรืออาจเรียนรู้จากบุคคลอื่น แต่สามารถรักษาให้หายได้

 

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับ “เรือใต้น้ำไททัน” เมื่อ พลเรือตรีจอห์น มอเกอร์ จากหน่วยยามฝั่งของสหรัฐ แถลงว่า พบชิ้นส่วนจำนวน 5 ชิ้น ของเรือใต้น้ำไททัน ที่คาดว่าเกิดจากการระเบิด และผู้ที่อยู่บนเรือทั้ง 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติการค้นหาต่อไปเพื่อหาสาเหตุของการระเบิด สร้างความเสียใจให้แก่ผู้ที่ติดตามข่าวที่ลุ้นเอาใจช่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารเรื่อง"เรือไททัน" ที่ส่วนมากมีรูปของมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล และบางวิดีโอคลิปยังพาผู้ชมดำดิ่งลึกลงไปภายใต้มหาสมุทรที่ลึก ดำมืด และน่ากลัว จนทำให้เกิดความรู้สึกหายใจไม่ออก อึดอัด ไม่สบายตัว ซึ่งเป็นสัญญาณของ “โรคกลัวทะเล” หรือ “Thalassophobia

  • โรคกลัวทะเล คืออะไร

โรคกลัวทะเล เป็น โรคกลัวน้ำขนาดใหญ่และ/หรือลึก เช่น มหาสมุทร ทะเล และทะเลสาบ โดยต้นกำเนิดของคำนี้มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ thalasso แปลว่า “ทะเล” และ phobia แปลว่า “ความกลัว”

แม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้บรรจุอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต หรือ DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) แต่จะถือว่าเป็นหนึ่งใน “โรคกลัวเฉพาะอย่าง” (Specific Phobias) เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ นับไม่ถ้วน เช่น กลัวงู กลัวแมลงบิน กลัวเข็ม เป็นต้น

ที่สำคัญ โรคกลัวทะเลแตกต่างจาก “โรคกลัวน้ำ” (Aquaphobia) เพราะโรคกลัวน้ำมีอาการกลัวน้ำทุกอย่าง แม้แต่น้ำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ฝักบัว อ่างอาบน้ำ หรือแม้แต่การดื่มน้ำ

คนที่เป็นโรคกลัวทะเลมักจะรู้สึกตื่นตระหนกเมื่อคิดว่าต้องสัมผัสกับน้ำลึก หัวใจของพวกเขาจะเต้นแรง อาจสั่นเทา เหงื่อออก หายใจเร็ว หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ยิ่งหากต้องสัมผัสกับน้ำลึกในระยะใกล้และไม่ได้ตั้งตัว ปฏิกิริยาทางร่างกายเหล่านี้ก็จะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนมีอาการกลัวตาย เกิดความวิตกกังวล รู้สึกถึงอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา พยายามหลบหนีจากสถานการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกลัวทะเลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป สำหรับบางคนแล้ว เพียงแค่เห็นภาพสัตว์ในท้องทะเลก็เกิดอาการแล้ว ขณะที่บางคนไม่สามารถทนดูภาพหรือวิดีโอของมหาสมุทรลึกได้ บางส่วนอาจจะอาการกำเริบเมื่อได้ไปสัมผัสสถานที่จริง มีน้ำทะเลอยู่รายรอบตัว มองไม่เห็นแผ่นดิน หรือแม้แต่แสดงอาการเมื่อรถต้องขับข้ามสะพานกลางน้ำ หรือนั่งอยู่บนเครื่องบินเหนือมหาสมุทรก็เป็นได้ทั้งนั้น

แม้ว่าปัจจุบัน จะยังไม่มีการศึกษาที่ประมาณการจำนวนผู้ที่เป็นโรคกลัวทะเล แต่หากมองผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะคาดเดาได้ว่ามีผู้ที่เป็นโรคนี้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

บนเว็บไซต์ Reddit ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดชื่อดังของโลก มีสมาชิกในห้องสนทนา Thaslassphobia กว่า 1.4 ล้านคน ถือว่าเป็นห้องสนทนาที่มีสมาชิกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 325 ของเว็บบอร์ดนี้ ขณะที่ Horizon Forbidden West วิดีโอเกมแนวแอคชันผจญภัยยอดนิยม พึ่งได้เพิ่มโหมดกลัวทะเลเข้ามาในการอัปเดตครั้งล่าสุด หลังจากที่ผู้เล่นส่งคำขอมาตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยโหมดนี้จะช่วยให้แสดงใต้ทะเลสว่างขึ้น และตัวละครสามารถหายใจในน้ำได้ปรกติ

นอกจากนี้ ในสื่อบันเทิงยังมีภาพยนตร์และหนังสือจำนวนมากที่บอกเล่าถึงความน่ากลัวของท้องทะเลลึก ไม่ว่าจะเป็น Twenty Thousand Leagues Under the Seas นิยายที่เล่าเรื่องเรือดำน้ำที่ออกผจญภัยในโลกใต้ทะเล แล้วพบกับสัตว์ประหลาดมากมาย, The Abyss ภาพยนตร์แนวไซไฟที่ต้องค้นหาเรือดำน้ำที่อับปางในหุบเหวทะเลลึก ของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน, และ ภาพยนตร์ชุด Deep Blue Sea ที่เล่าเรื่องของฝูงฉลามที่กลายเป็นภัยพิบัติต่อมวลมนุษยชาติ รวมถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เล่าถึงอสุรกายลึกลับในมหาสมุทร

 

  • ที่มาของโรคกลัวทะเล

เช่นเดียวกับโรคกลัวเฉพาะส่วนใหญ่ "โรคกลัวน้ำทะเล" มีแนวโน้มมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีจากสิ่งนั้น เช่น เคยจมในน้ำลึกก่อนที่จะว่ายน้ำได้ เมื่อพวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ยิ่งจะทำให้ความกลัวเพิ่มขึ้นจนพัฒนาเป็นความกลัว เนื่องจากเมื่อเราอยู่ห่างจากสิ่งที่กลัว จะทำให้เราไม่มีโอกาส ต่อสู้กับความกลัว และเรียนรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด 

นอกจากนี้ อาการกลัวน้ำทะเล อาจจะเกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้ความกลัวจากผู้อื่น เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่กลัวและไม่ชอบน้ำลึกมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคกลัวทะเล รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ความกลัวนี้จะถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมจนกลายเป็นนิสัยติดตัว

“หากมองในมุมวิวัฒนาการแล้ว ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้วที่มนุษย์จะมีแนวโน้มที่จะกลัวและหลีกเลี่ยงน้ำลึก เนื่องจากไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่นั้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงนานัปการ ซึ่งวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ตั้งโปรแกรมให้กลัวกับสถานการณ์บางอย่าง” ดร.มาร์ติน แอนโทนี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไรเออร์สัน ในแคนาดา เปิดเผย

วิวัฒนาการสอนให้มนุษย์หลีกเลี่ยงแมงมุมและงู แม้ว่าพวกมันจะไม่ค่อยทำอันตรายใครก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่โจมตีมนุษย์ เช่นเดียวกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่า “มีอะไร” ซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำอันเงียบสงบนั้น และที่แห่งนั้นเป็นที่ที่เราไม่คุ้นชิน ไม่ได้มีอำนาจเหนือสุดบนห่วงโซ่อาหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสัญชาตญาณจะสั่งให้เรากลัวทะเล และรู้สึกปลอดภัยกว่าเมื่ออยู่บนบก

ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อพื้นดินและทะเลนั้นแตกต่างกัน ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา เป็นส่วนที่ลึกที่สุดของโลกเท่าที่มีการสำรวจพบ โดยมีความลึกถึง 10,911 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งหากเทียบเป็นระยะทางบนบกแล้ว ยังเป็นระยะทางที่สั้นกว่าการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานของใครหลายคนด้วยซ้ำ เราสามารถเดินทางบนบกในระยะทาง 11 กิโลเมตร ที่คุ้นชินได้โดยไม่มีความกลัว แตกต่างจากการเดินทางในน้ำที่เราแทบไม่มีข้อมูลอะไรเลย และคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แถมลงไปในน้ำแค่ไม่กี่กิโลเมตรก็มืดสนิท แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึง ยิ่งทำให้ “ความกลัว” ของเราเพิ่มขึ้น

  • เอาชนะโรคกลัวทะเล

สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวทะเลเล็กน้อย การใช้ชีวิตประจำวันอาจไม่ใช่ปัญหามากนัก แต่ถ้ามันกลายเป็นความหมกมุ่นหรือเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถเดินทางข้ามแม่น้ำได้ อาจจะถึงเวลาต้องเข้ารับการรักษา

โดยทั่วไป โรคกลัวเฉพาะอย่างสามารถรักษาได้ ด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) แบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" นักบำบัดจะค่อย ๆ ให้ผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำ อาจเริ่มด้วยการจินตนาการ เมื่อรับมือได้แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นการดูรูปภาพและวิดีโอ ก่อนจะสร้างประสบการณ์ในสถานที่จริง เช่น การว่ายน้ำ หรือพายเรือ พร้อมกับการสอนเทคนิคช่วยให้ผ่อนคลาย เพื่อรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น

เมื่อได้ลองสัมผัสกับสิ่งที่คุณกลัวแล้ว ในที่สุดแล้วความกลัวจะค่อย ๆ จางหายไป และจนเกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งที่คุณกลัวไม่สามารถคุกคามคุณได้เลย หากไม่ประมาทและมีสติ



ที่มา: Big ThinkHow Stuff WorksPatientScience FocusThe VergeVery Well HealthVery Well Mind