ส่องความพร้อม 'Bangkok Pride 2023' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

ส่องความพร้อม 'Bangkok Pride 2023' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

ส่องความพร้อม Bangkok Pride 2023 ถนนสายรุ้งความยาว 1.5 กิโลเมตร จากแยกปทุมวัน สู่แยกราชประสงค์ วันที่ 4 มิ.ย. 66 ผลักดันความหลากหลายเคลื่อน GDP ใน 4 อุตสหากรรม ชูความ Friendly ต่อความหลากหลาย จุดเด่นไทย ดึงนักท่องเที่ยวอันดับต้นในเอเชีย

Key Point

  • ความ Friendly ต่อความหลากหลายทางเพศของไทย นับเป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับต้นๆ ในเอเชีย
  • อีกทั้ง ความหลากหลายทางเพศ สามารถขับเคลื่อน GDP ได้ โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว หนังซีรย์ บันเทิง และการแพทย์ 
  • Bangkok Pride 2022 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำเร็จ นำมาสู่การต่อยอด Bangkok Pride 2023 ที่รวบรวมไฮไลท์ 6 ขบวนสีสัน และการขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ รับรองเพศสภาพ

 

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความ Friendly ต่อความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศซึ่งมีจำนวนน้อย สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมภาคธุรกิจต่างๆ มีบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีความหลากหลายแม้กฎหมายบางตัวจะยังไม่ผ่าน เช่น การซื้อประกันชีวิต หรือ สวัสดิการในหลายบริษัท สามารถลางานผ่าตัดยืนยันเพศได้ เป็นต้น

 

ความ Friendly ดังกล่าว นับเป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับต้นๆ ในเอเชีย และความหลากหลายถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งการท่องเที่ยว หนังซีรีย์ บันเทิง และการแพทย์โดยเฉพาะศัลยกรรม ผ่าตัดยืนยันเพศ 

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม. ภาพบรรยากาศงาน Bagkok Pride 2022 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

สะท้อนจากความสำเร็จในการจัดงาน Bangkok Pride 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 20,000 คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และกำลังก้าวสู่ Bangkok Pride 2023 งานไพรด์พาเหรดเต็มรูปแบบที่สร้างประวัติศาสตร์บนถนนสีรุ้งกับการรวมตัวของกลุ่ม LGBTQ+ กับผู้อยู่เบื้องหลังคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ นำโดย นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ และอาสาสมัคร ที่พร้อมจะขับเคลื่อนสิทธิความทัดเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ โดยจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566

 

Bangkok Pride 2023 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “BEYOND GENDER” ที่ประกอบด้วย Gender Recognition, Marriage Equality และ SEX Work Rights ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ โอบรับความหลากหลายสู่ศักราชใหม่ของครอบครัวหลากหลายและรับรองเพศสภาพพร้อมยกระดับมาตรฐาน Pride Parade ประเทศไทยสู่มาตรฐาน WorldPride

 

จุดเริ่มต้น BANGKOK PRIDE

 

สำหรับ Bangkok Pride จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2022 ที่ผ่านมา ‘วาดดาว - ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการจัดงานมาจากกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในเรื่องสมรสเท่าเทียม และรวมกลุ่มกับเครือข่าย รวมถึงลงขันงบประมาณ ด้วยการเตรียมตัวเพียง 1 เดือน การจัดงานในปีแรกเรียกว่าประสบความสำเร็จและมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน กลายเป็นปรากฎการณ์ให้มีการจัดต่อเนื่องในต่างจังหวัดกว่า 12 จังหวัด 20 ครั้ง ด้วยเป้าหมาย คือ ต้องการให้สมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพูดถึงในสภาอีกครั้ง

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

 

“จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ กทม. บรรจุเดือน PRIDE มาเป็น 1 ใน 2 เทศกาล อีกทั้งยังได้รับการติดต่อจากต่างประเทศ และมี 2 องค์กรที่สำคัญระดับโลกอย่าง Rainbow Cities Network และ World Pride มองเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็น Destination ของเอเชีย เพราะประเทศไทย มีความพร้อมที่สุดในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในระดับเอเชีย ประเทศไทย Friendly ที่สุดในการต้อนรับ LGBTQ+ รวมถึงมีองค์กรที่ทำงานร่วมกันกว่า 50-60 องค์กรที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน”

 

ความหลากหลาย ดัน 4 อุตสาหกรรมประเทศ

 

ชุมาพร กล่าวต่อไปว่า พหุวัฒนธรรม หรือความหลากหลายทางเพศ สามารถขับเคลื่อน GDP ได้ เป็นผลงานที่เห็นชัด โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม คือ

1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว งาน Bangkok Pride สามารถเปิดประตูให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน โดยในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามีสื่อกว่า 60 กว่าแห่ง ใน 15 ประเทศพูดถึง

2. หนังและซีรีย์ ในปีที่ผ่านมา ซีรีย์วาย ส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันซีรีย์ยูริ กำลังมาแรงและแฟนคลับพร้อมจ่าย โดยเฉพาะละตินอเมริกา ที่ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีย์ยูริถล่มทลายเพราะเขาไม่สามารถผลิตได้

3. อุตสาหกรรมบันเทิง คาบาเร่ คลับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ แต่เราเห็นปรากฎการณ์สำคัญ คือ แดร็ก ซึ่งเอเชียมีไฮไลท์มากกว่าประเทศอื่น และเรื่องของปาร์ตี้ คอนเสิร์ต สำคัญมากในการดึงนักท่องเที่ยว

4. อุตสาหกรรมการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮอร์โมน ศัลยกรรมในการยืนยันเพศ การที่คนๆ หนึ่งรู้สึกปลอดภัยในจะเข้ามารับการผ่าตัดยืนยันเพศ สังคมต้องเปิดกว้างด้วย เพราะฉะนั้น ตรงนี้คือ Long-Term Resident อุตสาหกรรมการแพทย์และ Wellness ทั้งหมด ขยายไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างโรงแรม ภัตตาคาร และอื่นๆ

 

“เชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อน GDP แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐต้องขยับด้วย เราคือธุรกิจสร้างสรรค์ รัฐต้องเอา Soft Power มาใส่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และรัฐต้องเปิดโอกาสให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ดูแลพลเมืองของรัฐด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงมาสู่ข้อเรียกร้องของเราในปีนี้ที่ต้องทำงาน ได้แก่ 1. สมรสเท่าเทียม 2. กฎหมายรับรองเพศสภาพ 3.ปลดล็อก พ.ร.บ.การปราบปรามการค้าประเวณีที่เอาผิดพนักงานบริการ และ 4.ต้องให้สวัสดิการเรื่องสุขภาพถ้วนหน้าของคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้นำมาร้อยเรียงสำหรับการขับเคลื่อนขบวนงาน Bangkok Pride ในปีนี้”

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

ภาพบรรยากาศงาน Bagkok Pride 2022 

 

ทั้งนี้ Bangkok Pride 2023 มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมหลักแสนคน บนถนนความยาว 1.5 กิโลเมตร จากแยกปทุมวันไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ (ถนนพระราม 1) และเวทีฉลองความภาคภูมิใจบริเวณหน้าลานห้างเซนทรัลเวิร์ดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ รองรับได้ราว 15,000 คน ขณะที่ บริเวณแยกราชประสงค์ทั้งหมดรองรับได้ราว 400,000 คน เพราะฉะนั้น จึงต้องเตรียมพร้อม กองบัญชาการในการดูแล และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย

 

เป้าหมายสู่ WorldPride ในปี 2028

 

สำหรับขบวน Bangkok Pride ในปีนี้ จะล้อไปกับสีรุ้งทั้ง 6 สี 6 ขบวน เพิ่มดนตรีเพื่อให้ขบวนมีความสนุกสนาน อีกทั้ง ก่อนการจัดงานมีไวรัล เช่น แบบทดสอบชายแท้ 4 ข้อ ใน TikTok ซึ่งมาจากทีมผู้จัดงาน เป็นใบลงทะเบียนอาสาสมัคร ซึ่งมียอดวิวมากกว่าล้านวิวภายใน 2 คืน

 

“ความคาดหวังเดิมพันของการจัดงาน คือ ต้องการให้มี Impact ไปสู่ WorldPride ซึ่งจะต้องไปนำเสนอในเดือนตุลาคม เพื่อแสดงศักยภาพของไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เพื่อชิงเป็นผู้จัดงาน WorldPride ในปี 2028 โดยคุณสมบัติที่จะจัด WorldPride ได้ จะต้องมีหลายองค์ประกอบ คือ 1.ชุมชนและสังคมเปิด 2.ภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองต้องเปิด พร้อมปักหมุด Pride District ที่สยามและสีลม รวมถึง ทำให้เห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมหนังและซีรีย์ 3.กฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องผ่าน เพราะฉะนั้น นี่จึงไม่ใช่แค่ภารกิจที่อยากจะจัดงานใหญ่ แต่เป็นภารกิจที่เอื้อให้กับ LGBTQ+ ซึ่งกฎหมาย 2 ตัวหลักที่จะต้องผ่าน คือ สมรสเท่าเทียม และ รับรองเพศสภาพ” ชุมาพร กล่าว 

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

Cr : Phuttiseth Chaipuwarat

 

6 ขบวนสีสัน ไฮไลท์ Bangkok Pride

 

จรัญ คงมั่น ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวถึง ขบวน Bangkok Pride 2023 มีความยาว 144.8 เมตร ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ขบวน ประเด็นรณรงค์ร่วมกับการสื่อสารผ่านแนวเพลง ประกอบด้วย

  • สีม่วง Community (ชุมชน) กับแนวเพลง POP ที่จะบอกเล่าถึง Beyond Gender Binary แนวคิดหลักของขบวนนี้คือชุมชน (Community) ปีนี้เราต้องการนำเสนอความต้องการด้านสิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่รวมไปถึงกลุ่ม Intersex Trans และ Non-binaryของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
  • สีน้ำเงิน Purpose (เจตน์จำนง) กับแนวเพลง HIPHOP RAP ที่จะบอกเล่าถึง My Body my Choice ขบวนนี้ต้องการรณรงค์ให้ยกเลิกพ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการและ Sex creator รวมถึงการสนับสนุนเซ็กซ์ทอย (sexual wellness product)ให้ถูกกฎหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและ Consent ในโรงเรียน และรณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว
  • สีเขียว Relationship (ความสัมพันธ์) กับแนวเพลงหมอลำ ที่จะบอกเล่าถึง Chosen Family แนวคิดหลักของขบวนนี้คือความสัมพันธ์ (Relationship) ปีนี้เราต้องการรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของคำนิยามของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียมและรัฐธรรมนูญ
  • สีเหลือง Environmet (สิ่งแวดล้อม) กับแนวเพลง JAZZ BLUE ที่จะบอกเล่าถึง Peace& Earth แนวคิดหลักของขบวนนี้คือสิ่งแวดล้อม (Enviroment) ปีนี้เราต้องการรณรงค์เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ทุกเพศ
  • สีส้ม Health (สุขภาพ) กับแนวเพลง KPOP TPOP JPOP ที่จะบอกเล่าถึง Equal Rights to Health แนวคิดหลักของขบวนนี้คือสุขภาพที่ดี (Health) ปีนี้เราต้องการรณรงค์สิทธิในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศและเรียกร้องสวัสดิการการยืนยันเพศ (gender-affirming care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ
  • สีแดง Security (ความปลอดภัย) กับแนวเพลง ROCK ที่จะบอกเล่าถึง I’m My Own Home แนวคิดหลักของขบวนนี้คือการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบสันติจากทุกภาคส่วน รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล รณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.

Cr : Phuttiseth Chaipuwarat

 

นับเป็นโอกาศสำคัญในการก้าวไปสู่กรุงเทพ 'มหานคร' แห่งความหลากหลาย ชุมชนคนเพศหลากหลาย ภาคธุรกิจ และองค์กรภาครัฐ ร่วมมือพาสังคมไทย Beyond ไปมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมยกระดับเศรษฐกิจสำคัญ ด้วยถ้อยแถลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยมีไฮไลท์ Pride Stage ที่มีกิจกรรมมากมาย อาทิ ถ้อยคำแถลงชุมชนเพศหลากหลาย ถ้อยแถลงกรุงเทพมหานคร การแสดงจากชุมชนแดร็คที่สร้างสรรค์โชว์สำหรับ Bangkok Pride และมินิคอนเสิร์ตศิลปิน LGBTQ+ นอกจากนี้ยังมีขบวน Miss Grad Thailand 77 จังหวัด เข้าร่วมไพรด์พาเหรด

 

พร้อมกันนี้ Bangkok Pride 2023 ยังจัดเตรียม NARUEMIT AMBASSADORS (ทูตนฤมิต) กลุ่มนักรณรงค์ LGBTQ+ จำนวน 6 คน สวมชุดที่ออกแบบอย่างสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกัน มาทำหน้าที่สื่อสารประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของสังคมอย่างสร้างสรรค์

 

สำหรับ ประวัติศาสตร์งาน Bangkok Pride 2023 บนถนนสายรุ้งความยาว 1.5 กิโลเมตร จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 เริ่มตั้งขบวนเวลา 14.00 น. เคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. จากแยกปทุมวันไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ (ถนนพระราม 1) และเวทีฉลองความภาคภูมิใจบริเวณหน้าลานห้างเซนทรัลเวิร์ด เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

 

 

ส่องความพร้อม \'Bangkok Pride 2023\' ประวัติศาสตร์ถนนสีรุ้งความยาว 1.5 กม.