'หมอธีระ' อัปเดตโอกาสเจอไวรัสกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคต

'หมอธีระ' อัปเดตโอกาสเจอไวรัสกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคต

"หมอธีระ" อัปเดต โอกาสที่จะเจอการกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคตอันใกล้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินไว้อยู่ราว 20% ใน 2 ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานโควิดทั่วโลกติดเพิ่ม 24,686 คน ตายเพิ่ม 86 คน รวมแล้วติดไป 687,722,214 คน เสียชีวิตรวม 6,870,840 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด-19" สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. ฝรั่งเศส
  3. รัสเซีย
  4. เวียดนาม
  5. เม็กซิโก

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.23

โอกาสเจอไวรัสกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคต

หากย้อนกลับไปหลังจบระลอกเดลต้าช่วงปลายปี 2021 เกิดความสูญเสียมากมาย แต่ ณ ขณะนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าไวรัสโรคโควิด-19 จะมีกลายพันธุ์อย่างมากจนเกิดสายพันธุ์ Omicron ขึ้นมา จนทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่าเดลต้าหลายเท่า และทำให้เกิดการป่วย ทุพพลภาพ และสูญเสียชีวิตมากกว่าระลอกเดลต้าด้วย

ล่าสุดทาง CNN รายงานข่าวว่ามีการสอบถามอย่างไม่เป็นทางการจากทางทำเนียบขาวไปยังกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินโอกาสที่จะเจอการกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคตอันใกล้ 2 ปีข้างหน้า

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินไว้อยู๋ราว 20% ใน 2 ปีข้างหน้า แม้จะมีบางคนที่ประเมินไว้สูงราว 40% ก็ตาม

โควิด-19 เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวอเมริกัน

ข้อมูลจาก Topol E (Cr: Wall Street Journal) ชี้ให้เห็นผลการประเมินรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวอเมริกัน เปรียบเทียบระหว่างปี 2019 ก่อนการระบาด และปัจจุบัน 2023

สาระสำคัญคือ คนมีการย้ายที่อยู่จากเมืองที่แออัดไปสู่ชนบท ป่าเขา หรือชานเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองที่เคยมีการระบาดมาก เช่น นิวยอร์ก

การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานที่เอื้อให้มีการทำงานแบบทางไกลนั้น เอื้อให้เกิดการย้ายที่อยู่กันมากขึ้นด้วย

การไปกินดื่มของชาวอเมริกันนั้น พบว่าใช้บริการแบบ quick service มากขึ้น แต่ไปตามบาร์ และนั่งกินในร้านแบบ full service ลดลงราว 10%

การจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ นั้น ภาพรวมพบว่ามีมูลค่าของการใช้บริการแบบไป pick up, delivery, และส่งของถึงบ้าน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดถึง 4 เท่า (8 พันล้านเหรียญในปัจจุบัน vs 1.9 ล้านเหรียญในปี 2019)

สัดส่วนของชาวอเมริกันที่ไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษานั้นน้อยกว่าช่วงก่อนที่มีการระบาด โดยมีการใช้บริการแบบทางไกล Telehealth มากขึ้น

 

สำหรับไทยเรา

ด้วยสถานการณ์ระบาดที่ยังมีการติดเชื้อกันมาก ในขณะที่สังคมมีระดับการป้องกันตัวที่มีแนวโน้มลดลง ย่อมประเมินได้ว่าจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันไปต่อเนื่อง ป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และมีภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้ด้วย

การป้องกันแบบทุติยภูมิ (Secondary prevention) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

กล่าวคือ นอกจากการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ที่เป็นการป้องกันระดับปฐมภูมิ (Primary prevention) ซึ่งทำได้ในคนที่มีความใส่ใจสุขภาพแล้ว

ควรใช้ชีวิตประจำวัน โดยฝึกตนเองให้หมั่นสังเกต ประเมินตนเอง ลูกหลาน คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรือคนรอบข้างที่รู้จักมักจี่ หากมีอาการไม่สบาย ก็แนะนำให้ไปตรวจรักษาให้เร็ว และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อในที่นั้นๆ เพื่อช่วยตัดวงจรการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

ภาระโรคเรื้อรัง ที่มีความรู้ทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นกันมาตลอดแล้วว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ฯลฯ น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ตามมาในอนาคตสำหรับระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ

คงจะดีที่สุด หากปรับวิถีการใช้ชีวิต มีสติ ไม่ประมาท ลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่เสี่ยง

การใส่หน้ากากป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

อ้างอิง

Covid-19 experts say they warned White House about chance of an Omicron-level event within the next two years. CNN. 5 May 2023.

\'หมอธีระ\' อัปเดตโอกาสเจอไวรัสกลายพันธุ์แบบ Omicron ในอนาคต