'โรคอ้วน' ต้องรู้ 'ผ่าตัดกระเพาะ' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

'โรคอ้วน' ต้องรู้ 'ผ่าตัดกระเพาะ' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

'โรคอ้วน' พบในคนไทยมากกว่า 20.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก ขณะที่บางราย การออกกำลังกาย และควบคุมอาหารมักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากพอ การผ่าตัดกระเพาะจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา ซึ่งก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย

Key point : 

  • คนไทย เป็น 'โรคอ้วน' มากกว่า 20.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา
  • สำหรับในผู้ป่วยบางราย ลำพังเพียงการออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร มักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากเพียงพอที่จะทำให้หายจากโรคประจำตัวต่างๆ การผ่าตัดกระเพาะจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา
  • อย่างไรก็ตาม ก่อนการผ่าตัดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วิธีนี้เหมาะกับใคร การเตรียมพร้อม ผลลัพธ์ และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจ 

 

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน โรคกรดไหลย้อน กระดูกสันหลังหรือกระดูกเข่าเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกด้วย

 

ปัจจุบัน จากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ พบว่า มีคนไทยมีโรคอ้วน มากกว่า 20.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก จากข้อมูลโรคร่วมที่เกิดขึ้นจากภาวะโรคอ้วน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน และรักษาโรคอ้วนได้อย่างชัดเจน แต่การรักษาด้วยการใช้ยา  การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ สามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่สามารถรักษาหรือคงน้ำหนักให้ผู้ป่วยได้ตลอด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงได้มีการรักษาด้วยการผ่าตัดขึ้น ซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าและมีผลสามารถคงน้ำหนักได้เป็นระยะเวลานานมากกว่า 7-10 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายไม่มาก สามารถพิจารณาลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายได้ แต่หากผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายที่สูงมากมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายเนื่องจากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วนร่วมด้วย

 

นอกจากนี้ ลำพังเพียงการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารมักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากเพียงพอที่จะทำให้หายจากโรคประจำตัวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเข่าเสื่อม โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ เป็นต้น

 

ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกายมากการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อลดน้ำหนัก และรักษาโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนรวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่จะเป็นในอนาคต เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

 

การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน คืออะไร ?

 

การผ่าตัดกระเพาะ เพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้ ฮอร์โมนความหิวที่ถูกสร้างที่กระเพาะก็จะลดลงหลังผ่าตัดทำให้หลังผ่าตัดความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย จุดประสงค์ของผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน และรักษาโรคร่วมที่มากับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น  ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยสุขภาพดี แข็งแรง และชีวิตได้อย่างปกติ

 

 

การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เหมาะกับใคร?

 

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อม และคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อบ่งชี้ สำหรับผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล ดังต่อไปนี้

1.ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 27.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถคุมได้

2.ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, หยุดหายใจขณะนอนหลับ, ไขมันเกาะตับ เป็นต้น

3.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5 kg/m2

 

เตรียมตัว ประเมิน ก่อนผ่าตัด 

 

นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดลดน้ำหนัก คลินิกโรคอ้วนโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนที่ต้องมีการเตรียมตัว และประเมินก่อนผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าการผ่าตัดรักษาที่จะได้รับคืออะไร ความคาดหวังน้ำหนักที่ลดลงได้ และโอกาสในการหายจากโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วน การปฏิบัติตนหลังผ่าตัดต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

  

การผ่าตัดลดน้ำหนักมีวิธีการอย่างไร?


1.การผ่าตัดแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy) คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร (Ghrelin) ทำให้รับประทานได้น้อยลง ลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกินลดลง 60-70% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

 

2.การผ่าตัดแบบบายพาส (Laparoscopic Roux-en-y gastric bypass) คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือร่วมกับการทำทางเดินอาหารบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อทำให้รับประทานได้น้อยลง และปรับเปลี่ยนสมดุลฮอร์โมนความอิ่มของร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น โดยการกระตุ้นลำไส้เล็กให้สร้างฮอร์โมนความอิ่ม (GLP1,PYY) โดยสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ดีประมาณ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

 

3.การผ่าตัดแบบสลีฟพลัสบายพาส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass)  คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร(Ghrelin) ทำให้รับประทานได้น้อยลง ร่วมกับการทำบายพาสผ่านลำไส้เล็กส่วนกลางเพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนความอิ่ม(GLP1,PYY) โดยสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ดีประมาณ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

 

การผ่าตัดแบบอื่นๆ 

 

สำหรับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ เช่น การใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร(Laparoscopic Gastric Banding) ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากลดน้ำหนักได้ไม่ดี และพบปัญหาห่วงรัดกระเพาะอาหารรัดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล

 

การผ่าตัดลดน้ำหนักช่วยลดน้ำหนักได้อย่างไร? คืออะไร?


กลไกที่ทำให้หลังผ่าตัดแบบสลีฟช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ มีดังนี้

1.ลดขนาดกระเพาะ ทำให้รับประทานอาหารได้ลดลง

2.ลดบริเวณที่จะดูดซึมอาหาร

3.มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนควบคุมความหิว และความอิ่ม

4.การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร

5.มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้

6.ลดการอักเสบในร่างกาย

 

ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาเท่าไร กว่าจะเห็นผลชัดเจน?

 

จากข้อมูล และงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่า หลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก

  • ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักส่วนเกินลดลงสูงถึง 60-80% โดยใช้ระยะเวลาหลังผ่าตัดประมาณ 6-12 เดือน
  • ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น หายจากโรคเบาหวาน หรืออาการดีขึ้น >80%
  • หายจากโรคความดันโลหิตสูง 60-70%
  • หายจากโรคไขมันในเลือดสูง 80-90% 

นอกจากนี้ น้ำหนักที่ลดลงจะช่วยป้องกันโรคเข่าเสื่อม, กระดูกสันหลังเสื่อม, ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจตีบตัน อีกด้วย

 

การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?

 

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัย และความชำนาญของศัลยแพทย์ผ่าตัดประสบการณ์ผ่าตัดสูงและจบเฉพาะทางด้านการผ่าตัดโรคอ้วน พบว่า ความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำมาก ขนาดแผลประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เย็บแผลด้วยไหมละลาย และปิดแผลแบบกันน้ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อยมาก และลุกเดินได้หลังผ่าตัด 1-2 วัน

 

นอกจากนี้ในกระบวนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดก็ยังมีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อให้การผ่าตัดลดน้ำหนักประสบความสำเร็จ และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ให้น้อยที่สุด

 

\'โรคอ้วน\' ต้องรู้ \'ผ่าตัดกระเพาะ\' ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร ?

 

อาการที่ต้องระวังหลังผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ?

 

ความเสี่ยงโดยทั่วไปหลังการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก คือ

  • ภาวะเลือดออกในช่องท้อง
  • กระเพาะรั่ว
  • ลิ่มเลือดดำอุดตัน เป็นต้น

ซึ่งโดยทั่วไปพบน้อยกว่า 1% ในศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยหากมีอาการไข้ ปวดท้อง ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ อาเจียนตลอดหลังรับประทานอาหาร ให้รีบติดต่อแจ้งแพทย์ และพยาบาลได้ทันที

 

โดยสรุปการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สามารถทำให้ผู้ป่วยลด น้ำหนักลงได้ดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ และยังทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคร่วมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดแบบไหนขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับคนไข้ว่าจะเลือกวิธีการผ่าตัดแบบไหน เพื่อให้ได้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

 

สำหรับผู้ป่วยสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่ คลินิกโรคอ้วน ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกศัลยกรรมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 1,3,5 ของแต่ละเดือน  เวลา 13.00-16.00 น. โดยสามารถติดต่อปรึกษา และจองคิวเข้าพบแพทย์ผ่านทางเพจ คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์