"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" Paxlovid ลดป่วยนอนรพ.ได้ 55%

"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" Paxlovid ลดป่วยนอนรพ.ได้ 55%

"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" ระบุ Paxlovid ลดป่วยนอนรพ.ได้ 55% และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้ 85% ยุคที่มี Omicron ระบาด พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงไปกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานโควิดทั่วโลกติดเพิ่ม 85,560 คน ตายเพิ่ม 399 คน รวมแล้วติดไป 677,384,501 คน เสียชีวิตรวม 6,781,153 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. ไต้หวัน
  3. รัสเซีย
  4. เกาหลีใต้
  5. ออสเตรีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.76 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.47

 

วันนี้อัปเดตความรู้ COVID-19 เพียบ

1. Paxlovid ลดป่วยนอนรพ.ได้ 55% และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้ 85%

Aggrawal NR และคณะจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ The Lancet Infectious Diseases เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ศึกษาระหว่างมีนาคมถึงสิงหาคม 2565 เปรียบเทียบอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิต ณ 28 วัน ระหว่างกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง จำนวน 21,493 คน โดยมี 9,881 คนมีประวัติได้รับยา Paxlovid และ 11,612 คนไม่ได้รับยา

ผลการศึกษาพบว่า การได้รับยา Paxlovid จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 55% และลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ 85%

 

2. วัคซีนจะป้องกันเราได้นานแค่ไหน?

Wu N และคณะจากประเทศแคนาดา ได้ทำการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ และทำการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อหาคำตอบว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตได้นานเพียงใด

เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคทางเดินหายใจ The Lancet Respiratory Medicine เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทบทวนงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 68 ชิ้น ทั้งนี้เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับวัคซีน 4 ชนิด ได้แก่ BNT162b2 [Pfizer–BioNTech], mRNA-1273 [Moderna], ChAdOx1 nCoV-19 [AZD1222; Oxford–AstraZeneca], และ Ad26.COV2.S [Janssen]

สรุปสาระสำคัญได้ว่า การฉีดวัคซีนจนครบคอร์สแรก (primary series) นั้นจะช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อได้เฉลี่ย 83% ณ 3 เดือนแรกหลังฉีด แต่จะลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 62% ณ 4 เดือน

ในขณะที่จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรงได้เฉลี่ย 92% แต่จะลดลงเหลือ 79% ณ 8 เดือน และช่วยลดเสี่ยงเสียชีวิตได้เฉลี่ย 91% โดยลดลงเหลือ 86% ณ 6 เดือน

ทั้งนี้ ที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นๆ คือ ยุคที่มี Omicron ระบาด พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงไปกว่าเดิม ทั้งเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิต

นอกจากนี้ หากดูประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งงานวิจัยที่มีส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในช่วง Omicron ระบาด พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้เฉลี่ย 70% แต่จะลดลงเหลือเพียง 43% ณ 4 เดือนหลังฉีดกระตุ้น

และช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้ 89% แต่จะลดลงเหลือราว 71% ณ 4 เดือนหลังฉีด โดยข้อมูลวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นในการลดการเสียชีวิต

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Omicron ระบาดยืดเยื้อเช่นในปัจจุบัน

และหากติดตามงานวิจัยอื่นๆ ที่ได้มาแลกเปลี่ยนให้ทราบโดยตลอด จะพบว่ามีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้มีหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต หลังฉีดเข็มกระตุ้น น่าจะอยู่ในระดับที่มากพอที่จะป้องกันได้ราว 7-11 เดือน

 

3. ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID

Yin K และคณะจาก UCSF ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ โดยทำการเปรียบเทียบลักษณะทางภูมิคุ้มกันจากเลือดของกลุ่มผู้ป่วย Long COVID เปรียบเทียบกับกลุ่มที่เคยติดเชื้อแต่ไม่ได้เป็น Long COVID

เผยแพร่ใน bioRxiv เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พบว่า กลุ่มผู้ป่วย Long COVID นั้นมีลักษณะผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ประเภท T-cell โดยมี CD4 T-cells จำนวนมากที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อบริเวณที่มีการอักเสบเกิดขึ้น และมีภาวะอ่อนล้าของการทำงานของ CD8 T-cells

คณะผู้วิจัยคาดว่า ปรากฏการณ์ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วย Long COVID นั้นอาจเกิดขึ้นจากการมีไวรัสคงค้างในร่างกาย สอดคล้องกับสมมติฐานของทีมวิจัยอื่นทั่วโลก

 

 

อ้างอิง

1. Aggraval NR et al. Real-world use of nirmatrelvir–ritonavir in outpatients with COVID-19 during the era of omicron variants including BA.4 and BA.5 in Colorado, USA: a retrospective cohort study. The Lancet Infectious Diseases. 10 February 2023.

2. Wu N et al. Long-term effectiveness of COVID-19 vaccines against infections, hospitalisations, and mortality in adults: findings from a rapid living systematic evidence synthesis and meta-analysis up to December, 2022. The Lancet Respiratory Medicine. 10 February 2023.

3. Yin K et al. Long COVID manifests with T cell dysregulation, inflammation, and an uncoordinated adaptive immune response to SARS-CoV-2. bioRxiv. 10 February 2023.