กลับมากินเยอะหลังอดอาหาร เสี่ยงเข้าข่าย "Refeeding Syndrome" อันตรายถึงชีวิต

กลับมากินเยอะหลังอดอาหาร เสี่ยงเข้าข่าย "Refeeding Syndrome" อันตรายถึงชีวิต

ใครที่ “ลดน้ำหนัก” ผิดวิธีด้วยการ “อดอาหาร” เป็นเวลานานๆ แล้วกลับมากินอาหารปริมาณมากแบบทันทีทันใด นอกจากจะทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน และร่างกายทำงานผิดปกติแล้ว ยังเสี่ยงเสียชีวิตอีกด้วย

สำหรับผู้ที่อดอาหารเป็นเวลานาน อาจมาจากการลดน้ำหนักแบบผิดๆ หรือเนื่องจากป่วยรุนแรงหรือเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้อง “งดอาหาร” เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เมื่อพ้นผ่านช่วงการรักษาตัวมาแล้ว หากกลับมากินอาหารในปริมาณมากอีกครั้งอย่างฉับพลัน ถือว่าอันตรายมาก เนื่องจากเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาหรือยู่ในความดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เรียกว่า “Refeeding Syndrome”

ภาวะ Refeeding Syndrome คือ การอดอาหารหรือกินอาหารต่อวันในปริมาณน้อยเกินไปเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ แต่วิธีการรักษาผู้ที่มีภาวะดังกล่าวไม่ใช่การให้กลับไปกินอาหารในปริมาณปกติแบบทันทีทันใด แต่ต้องได้รับการดูแลเรื่องอาหารจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องเริ่มจากกินอาหารเพิ่มขึ้นทีละน้อยเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิต โดยวิธีนี้เรียกว่า Refeeding

ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังเผชิญภาวะ “Refeeding Syndrome” อยู่แล้วจะกลับมากินอาหารตามปกติเองนั้น ต้องหยุดความคิดไว้ก่อนแล้วปรึกษาแพทย์ถ้าไม่อยากเสี่ยงเสียชีวิตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

  • Refeeding Syndrome คืออะไร ?

ตามปกติกระบวนการย่อยอาหารของร่างกายนั้น ส่วนสำคัญที่สุดในระบบก็คือ “ตับอ่อน” ซึ่งมีหน้าที่หลั่งอินซูลินออกมาเพื่อนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์และเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดังนั้นหากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หรืออดอาหารติดกันนานเกินไป ก็จะทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง  เซลล์เปลี่ยนไปใช้ไขมันและโปรตีนที่สะสมในร่างกายมาเป็นแหล่งพลังงานแทน

หลังจากนั้นเมื่อร่างกายกลับมาได้รับสารอาหารแบบทันทีทันใด จะส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญ นั่นคือ “อินซูลิน” จะถูกหลั่งออกมาจากตับอ่อนแบบฉับพลันเพื่อปรับให้เซลล์กลับไปใช้กลูโคส ซึ่งได้จากการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่เป็นแหล่งพลังงานหลักเหมือนเดิม และการย้อนกระบวนการกลับไปแบบฉับพลันนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

นอกจากนี้ ตามปกติกระบวนการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นพลังงานของเซลล์ ต้องใช้วิตามินบี 1 และแร่ธาตุบางชนิด เช่น ฟอสเฟต แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งเมื่อสารอาหารและแร่ธาตุดังกล่าวถูกดึงไปใช้ในกระบวนการนี้มากขึ้นอย่างฉับพลัน อาจส่งผลให้สารอาหารบางอย่างหรือแร่ธาตุในเลือดลดต่ำลงผิดปกติ จนนำไปสู่  ภาวะ “Refeeding Syndrome” ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้จะเริ่มมีอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนในช่วงเวลาประมาณ 4 วัน หลังกลับมากินอาหารปกติแบบทันทีทันใด เช่น

- อ่อนเพลีย

- ท้องเสีย

- เกิดความรู้สึกสับสน

- หายใจลำบากกว่าปกติ

- มีอาการชัก

- หัวใจเต้นผิดปกติ

- ความดันโลหิตสูง

- บวมน้ำ

- เกิดภาวะอัมพาต

- หัวใจวาย

- สูญเสียการรับรู้ และนำไปสู่การเสียชีวิต

  • ใครบ้างเสี่ยงเกิดภาวะ Refeeding Syndrome

ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าวนั้น ส่วนมากมักเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะทุพโภชนาการขั้นรุนแรงที่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น

- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 16

- ผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 15% ระหว่าง 3-6 เดือน

- ผู้ที่อดอาหารนานติดต่อกัน 10 วันขึ้นไป

- ผู้ที่มีระดับแร่ธาตุฟอสเฟต โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

- ผู้ที่มีหรือเคยมีประวัติติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น อินซูลิน ยาเคมีบำบัด ยาขับปัสสาวะ หรือยาลดกรด

- ผู้ที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมาในช่วงแรก

- ผู้ที่มีแผลไฟไหม้จนไม่สามารถกินอาหารได้ หรืออยู่ในภาวะงดอาหาร

- ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น Anorexia, โรคมะเร็ง, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, โรคซิสติก ไฟโบรซิส, ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และผู้ที่มีภาวะลำไส้สั้น

  • ภาวะ Refeeding Syndrome ป้องกันได้

สำหรับผู้ที่เสี่ยงหรืออยู่ในภาวะ Refeeding Syndrome เมื่อแพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่าว่จำเป็นต้องกลับมากินอาหารตามปกติ จะต้องมีการติดตามอาการ ให้กินอาหารในปริมาณจำกัดแบบ “โภชนบำบัด” และต้องเฝ้าระวังตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ดังนี้

- เริ่มให้โภชนบําบัด ด้วยการเพิ่มอาหารที่มีพลังงานทีละน้อย จากเดิมผู้ป่วยได้รับร้อยละ 20-25 ของความต้องการ พลังงาน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นทีละนิด จนอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการพลังงานทั้งหมด (เหมือนตอนก่อนป่วย) ในปลายสัปดาห์แรก

- ติดตามระดับอิเลกโทรไลต์และแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด โดยเฉพาะฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และ แคลเซียม เมื่อแรกรับผู้ป่วยไว้รักษา ติดตามอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกที่เริ่มให้โภชนบําบัด เมื่อพบอาการผิดปกติให้รักษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด

- ติดตามปริมาณสารน้ำที่ผู้ป่วยได้รับ ปริมาณปัสสาวะ และน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง

- ให้วิตามินบี 1 ขนาด 25-100 มิลลิกรัมต่อวัน ทางปากหรือทางหลอดเลือดดํา ก่อนเริ่มให้อาหาร จากนั้นให้วิตามินบี 1  ต่อเนื่องอีก 7-10 วัน

โดยสรุปแล้วแม้ว่าภาวะ Refeeding Syndrome จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ กับคนทั่วไป แต่ในคนที่อยู่ระหว่างลดน้ำหนักก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะหากกินน้อยเกินไปแทนที่จะได้สุขภาพที่ดีอาจเสียสุขภาพและเสียชีวิตได้ และสำหรับผู้ที่อดอาหารมาเป็นเวลานานรวมถึงมีภาวะทุพโภชนาการและต้องการกลับมากินอาหารตามปกติอีกครั้ง ก็จำเป็นต้องมีการปรับขนาดการกินตามดุลยพินิจของแพทย์

อ้างอิงข้อมูล : Sanook Health และ พบแพทย์