หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

"หมอมนูญ" เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง ขณะที่เดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วย "ไข้หวัดใหญ่" เพิ่มมากขึ้น แนะฉีดวัคซีนป้องกันปีละครั้ง

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ติดตามข้อมูลระบาดวิทยา รู้ทันว่ามีโรคไวรัสอะไรระบาดบ้าง

 

 

หมอมนูญ เผยว่า เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลของ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี (RSV) และ Human metapneumovirus (hMPV) โดยเดือนที่แล้วพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 227 ราย ลดลงต่อเนื่อง (ดูกราฟ)

 

หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

 

พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เดือนที่แล้ว 103 ราย เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ดูกราฟ) เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ RSV 9 ราย อยู่ในช่วงขาลง และเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ hMPV Human metapneumovirus พบ 4 ราย

 

หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

 

 

พบโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ 19 ราย ลดลงจากเดือนก่อน (ดูกราฟ) พบโรคชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย 4 ราย

 

หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

 

โรคไวรัส Noro (โนโร) และ Rota (โรตา) ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เดือนที่แล้วพบมากพอสมควร พบโนโรไวรัส 28 ราย พบโรตาไวรัส 10 ราย (ดูกราฟ)

 

หมอมนูญ ชี้ โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง เผยเดือน ม.ค.66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โอมิครอน อยู่ในช่วงขาลง ในขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่พบมากขึ้น RSV ลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้โรคไข้เลือดออกที่ติดจากถูกยุงกัดยังพบมากพอสมควร และโรคชิคุนกุนยา หรือ ไข้ปวดข้อยุงลาย ยังพบบ้าง

 

"การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ช่วยลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิด"

 

หมอมนูญ ระบุในตอนท้ายว่า ขอให้ทุกคนไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง และไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดอย่างน้อย 3 เข็ม ตามด้วยเข็มกระตุ้นเพิ่มอีก 1 เข็ม 4 เดือนหลังเข็มสุดท้าย โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโควิดตามธรรมชาติ สำหรับคนที่ฉีดวัคซีน 3-4 เข็ม แล้วติดเชื้อไวรัสโควิดตามธรรมชาติแล้ว ให้รอฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ที่กำลังมาปีนี้