"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ BQ.1.1 ครองสัดส่วนทั่วโลกสูงสุด

"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ BQ.1.1 ครองสัดส่วนทั่วโลกสูงสุด

"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ที่นำการระบาดในแต่ละประเทศ โดยรวมแล้วทั่วโลก BQ.1.1 ยังครองสัดส่วนที่สูงสุด และพบว่า XBB.1.5 ที่มีการระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอเมริกาไปสู่ 38 ประเทศ

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 194,453 คน ตายเพิ่ม 697 คน รวมแล้วติดไป 671,340,706 คน เสียชีวิตรวม 6,730,405 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ไต้หวัน
  4. ฮ่องกง
  5. รัสเซีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.46 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.97

ญี่ปุ่น

แนวโน้มการติดเชื้อรายวันชะลอตัวลง แต่จำนวนเสียชีวิตรายวันนั้นยังสูงมาก

การระบาดในญี่ปุ่นนั้นสะท้อนให้ไทยเราจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะ drivers หลักน่าจะมาจากความแออัดของประชากร และกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะสูง แต่ก็ติดกันมาก ป่วยกันมาก และเสียชีวิตกันมากได้ โดยญี่ปุ่นนั้นเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่า ระลอกที่ 8 ล่าสุดนั้นหนักกว่าทุกระลอกที่เคยผ่านมาทั้งหมด

ความเชื่อเรื่องไม่ต้องกังวลเพราะไวรัสอ่อนลง และคนแข็งแกร่งจากภูมิคุ้มกันของวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนนั้น --> "ไม่จริง" และจำเป็นต้องป้องกันตัวให้สม่ำเสมอในสถานการณ์ที่เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจโดยอาศัยการท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนมาก กิจกรรมและสถานที่เสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

แอบมองสายพันธุ์ที่นำการระบาดในแต่ละประเทศ

โดยรวมแล้วทั่วโลก BQ.1.1 ยังครองสัดส่วนที่สูงสุด และพบว่า XBB.1.5 ที่มีการระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอเมริกาไปสู่ 38 ประเทศ

อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศที่มีสายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดในประเทศที่จำเพาะ เช่น

ภูมิภาคเอเชีย:

อินเดีย XBB

เกาหลีใต้ BN.1.3

ญี่ปุ่น BF.5

จีน BF.7

สิงคโปร์ XBB.1*

ฮ่องกง CH.1.1

ฟิลิปปินส์ BA.2.3.20

ภูมิภาคโอเชียเนีย:

ออสเตรเลีย XBF BR.2.1

นิวซีแลนด์ CH.1.1

ภูมิภาคยุโรป:

รัสเซีย CL.1

อัปเดต XBB.1.5

ทีมงานจาก The Sato Lab ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ 15 มกราคม 2566 พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB.1.5 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ราว 10 เท่า และมากกว่า BA.2 ราว 20 เท่า

นอกจากนี้ จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า XBB.1.5 ติดเชื้อสู่เซลล์ได้ง่ายกว่า XBB.1 ราว 3 เท่า และหากประเมินสมรรถนะของไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.5 ในการแพร่จากคนติดเชื้อไปยังผู้อื่น พบว่าจะแพร่ได้มากกว่า XBB.1 ราว 20% ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานจากหน่วยงานควบคุมป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ได้ประเมินไว้เมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา

สำหรับไทยเรา

จำเป็นต้องใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวสม่ำเสมอ หลังเปิดกิจกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ มีโอกาสที่จะเกิดระบาดปะทุขึ้นได้ ดังที่เห็นจากต่างประเทศ และหากปะทุขึ้น ลักษณะที่จะเกิดย่อมขึ้นกับสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ว่าเข้ามาในแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB.1.5, CH.1.1 หรืออื่นๆ

การติดเชื้อ ไม่จบแคชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

อ้างอิง

The Sato Lab, Japan. 15 January 2023.