รู้จักภาวะ "Spotlight Effect" กังวลว่าตัวเองเป็น "จุดสนใจเกินจริง"

รู้จักภาวะ "Spotlight Effect" กังวลว่าตัวเองเป็น "จุดสนใจเกินจริง"

หากคุณเคยคิดหรือกังวลว่า “ทุกคนกำลังจับจ้อง” จนทำให้เครียดและทำตัวไม่ถูกเพราะกลัวทำผิดพลาด นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ “Spotlight Effect” ภาวะนี้เกิดจากอะไรและหากเป็นแล้วจะรับมืออย่างไร

ข้อมูลจากเว็บไซต์ VeryWellMind ซึ่งรวบรวมบทความและงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิต ระบุว่า “Spotlight Effect” เป็นคำอธิบายทางจิตวิทยาที่ใช้โดยบรรดานักจิตวิทยาสังคม เพื่อสื่อถึงแนวโน้มที่เราประเมินว่าคนอื่น ๆ จ้องจับผิดตนเองมากเกินความเป็นจริง หรือแนวโน้มที่เราคิดว่ามีสปอตไลต์ส่องมาที่ตัวเองตลอดเวลา ซึ่งยิ่งทำให้ทุกคนในสังคมเห็นข้อผิดพลาดหรือจุดด้อยของเราชัดเจนขึ้น

คำว่า Spotlight Effect ถือกำเนิดในช่วงระหว่างปี 2542-2543 โดย โทมัส กิโลวิช ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐ หลังจากทดลองให้เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อที่มีลายเด่นมาก ๆ แล้วให้เด็กกลุ่มนั้นมาสายกว่าคนอื่น ๆ

จากการสอบถามพบว่า เด็กทุกคนคิดว่าเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ จะต้องล้อและจดจำลายเสื้อที่ตนใส่วันนั้นได้เกินครึ่ง (50%) แน่นอน แต่ผลปรากฏว่า มีคนที่สนใจจริง ๆ และสังเกตเห็นประมาณ 25% เท่านั้น

กิโลวิชจึงได้ข้อสรุปว่า ความคิดที่ว่าคนอื่นสนใจเรา เป็นเพราะเราสนใจในสิ่งนั้น ๆ มากเกินไปจนทำให้รู้สึกกังวลเกินกว่าเหตุ ขณะเดียวกัน การที่เราขาดความมั่นใจ อายที่จะเข้าสังคม เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากจินตนาการในหัวของตัวเอง ที่คิดว่าคนอื่นจะมองเราไม่ดี

สำหรับคนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคม Spotlight Effect อาจส่งผลเลวร้ายกว่า ถึงขั้นที่ว่ามีผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน หรือความรู้สึกสบายใจขณะอยู่กับคนอื่น ๆ โดยมักทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมนั้น ความรู้สึกนี้ก็อาจเกิดจากการคิดเกินจริงไปเอง

ตัวอย่างเช่น หากคุณตื่นสายและไปทำงานในสภาพผมยุ่ง คุณอาจคิดว่าทุกคนจะสังเกตเห็นและแอบคิดในแง่ร้ายกับตัวเอง คุณอาจรู้สึกอายหรือพยายามหลบเพื่อนร่วมงาน เพราะคิดว่าพวกเขาจะเวทนาหรือล้อเลียนตัวเอง

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาวะSpotlight Effect มาจากการสนใจแต่ตัวเองมากเกินไป เช่นเดียวกับการไม่สามารถ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว มุมมองความคิดของคนอื่นนั้นแตกต่างจากมุมมองของตน

  • ส่งผลกระทบอย่างไร

ทุกคนที่มีภาวะ Spotlight Effect โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคม มักโฟกัสแต่ตัวเอง รวมถึงการกระทำและรูปลักษณ์ของตัวเอง และเชื่อว่าทุก ๆ คนก็สนใจตนเช่นกัน ดังนั้น การตระหนักว่าตัวเองมีภาวะ Spotlight Effect สามารถช่วยลดความกังวลใจหรือความอับอายเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเข้าสังคมได้

นอกจากนั้น หากคุณสามารถเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “ไม่มีใครสนใจคุณจริง ๆ” จากนั้น คุณก็จะเลิกวิตกกังวลเรื่องนี้ไปเอง แต่สำหรับคนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมอาจเป็นเรื่องยากกว่าในการยอมรับข้อเท็จจริงนี้และเอาชนะภาวะวิตกกังวลที่เกิดจาก Spotlight Effect

ทั้งนี้ ภาวะวิตกกังวลทางสังคมเป็นภาวะที่มากกว่าแค่ความรู้สึกกังวลใจ และสะท้อนถึงความแตกต่างของการทำงานของสมองและการตอบสนองต่อปัจจัยแวดล้อม คนที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมอาจรู้ตัวว่าความรู้สึกตัวเองนั้นไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกได้อยู่ดี

  • วิธีรักษา/บำบัด

ภาวะ Spotlight Effect สามารถทำให้ร่างกายอ่อนล้าได้ หากคุณมีภาวะวิตกกังวลทางสังคมร่วมด้วย เพราะทำให้ทุก ๆ สถานการณ์ดูน่าหวาดกลัวและคุกคาม แต่อาการของภาวะนี้ ซึ่งรวมถึง Spotlight Effect สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดและใช้ยาควบคู่กัน

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมกับนักบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านภาวะวิตกกังวลทางสังคม สามารถช่วยให้คุณค่อย ๆ ขจัดรูปแบบความคิดเชิงลบได้

ขณะที่การให้แพทย์สั่งจ่ายยารักษาบางชนิด เช่น ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant) อาจช่วยป้องกันไม่ให้คุณเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไร้ประโยชน์และสงสัยในตัวเอง

นอกจากนี้ การออกกำลังกายตามที่นักบำบัดแนะนำ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกิจกรรมในแต่ละวัน มีความมั่นใจมากขึ้น และรู้สึกอับอายคนอื่น (จากการคิดไปเอง) น้อยลง

  • รับมืออย่างไร

วิธีหนึ่งในการเอาชนะ Spotlight Effect คือการทดสอบความเชื่อของตัวเองว่า คนอื่นกำลังจ้องจับผิดและประเมินคุณหรือไม่ วิธีการนี้มีประโยชน์ในการช่วยให้คุณเข้าใจแนวคิดที่มีงานวิจัยนิยามว่า “ภาพมายาของความโปร่งใสตรงไปตรงมา” (illusion of transparency) ซึ่งอ้างถึงการที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะคิดว่าคนอื่นรู้ถึงความรู้สึกและลักษณะจิตใจของตนมากเกินไป ทั้งที่จริงแล้วตรงกันข้าม

ขณะเดียวกัน คุณสามารถเอาชนะ Spotlight Effect ด้วยการลองโฟกัสความสนใจตัวเองไปที่ผู้คนหรือสิ่งรอบข้างและสังเกตปฏิกิริยาของคนอื่น ๆ ที่มีต่อคุณ

วิธีนี้อาจช่วยให้เลิกโฟกัสว่าคนอื่น ๆ สนใจตัวคุณจนเกิดความวิตกกังวล และได้รับรู้ว่าจริง ๆ แล้ว คนอื่นแทบไม่ได้สนใจคุณเลย และพวกเขาต่างสนใจแต่เรื่องของตัวเองทั้งนั้น ซึ่งก็ทำให้เราจินตนาการได้ง่ายขึ้นว่า “สปอตไลต์ไม่ได้ส่องมาที่คุณและไม่มีใครเห็นจุดด้อยของคุณ” อย่างที่เราเคยคิดไปเอง

-------------------------

อ้างอิง: The VeryWellMindINN