เช็กสัญญาณเตือน “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เช็กสัญญาณเตือน “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ทั่วโลก พบว่า อัตราป่วย "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย โดย 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก เสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ขณะที่ไทย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดและหลอดเลือดดำที่ขา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” หรือ“Venous Thromboembolism”(VTE) เป็นภัยเงียบที่น้อยคนจะรู้จักและเข้าใจถึงอันตราย ทั้งที่อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า อัตราผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย โดย 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก เสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน 

 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 

 

สำหรับสถานการณ์ในไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยใน ระหว่างปี 2559- 2563 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism(PE) เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่ง "ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ" ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบกินของทอด ล้วนเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำทั้งสิ้น และอาจอันตรายถึงชีวิต

 

ศ. นพ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เป็นโรคที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่มีคนรู้จักเพียง20%ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำมักจะเกิดขึ้นที่ขาและที่ปอด โดยลิ่มเลือดจะเริ่มก่อตัวและทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกของร่างกาย หรือDeep Vein Thrombosis(DVT) เกิดที่ขาเป็นส่วนใหญ่ และอาจหลุดเข้าไปยังปอด เรียกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism(PE)

 

 

"ทำให้มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มักจะไม่ทราบว่าตนเองเป็น มากถึง 80% ของผู้ป่วยไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยที่แสดงอาการมักจะมีลิ่มเลือดอุดตันขนาดใหญ่แล้ว จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก”

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDsอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มที่สูบบุหรี่จัด กลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยๆ นิ่งๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย รวมถึงผู้สูงอายุสำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การผ่าตัด พันธุกรรม การใช้ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ3ประการของภาวะนี้ คือ

1.เลือดไหลเวียนช้า เช่น การนั่งหรือนอนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน

2.การบาดเจ็บของหลอดเลือด เช่น กลุ่มนักกีฬาที่ออกกำลังกายหนัก ๆ จนเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด

3.การแข็งตัวของเลือด หรือภาวะทางพันธุกรรม ที่ร่างกายบกพร่องการสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย เป็นต้น

 

 

เช็กสัญญาณเตือนภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

อาการของ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจง อาการที่แสดงออกจึงหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาจะมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิมผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อเห็นอาการจะไปหาแพทย์โรคผิวหนัง หรือแพทย์กระดูกเป็นหลัก ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ อยากให้ผู้ป่วยขอให้มีการตรวจร่างกาย ตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาร่วมด้วย

 

ส่วนในกรณีที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืดหรืออาจหมดสติ ไอเป็นเลือด ซึ่งอาการดังกล่าว ผู้ป่วยมักจะคิดว่าเป็นโรคอื่น ๆ ได้ หรือในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ อาจจะเกิดได้ในกลุ่มที่ทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากเลือดจะแข็งตัวง่ายขึ้น แล้วมีการเดินทางไกลนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถนาน ๆ ร่วมด้วย หรือในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือกลุ่มที่มีการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ รวมถึงภาวะพันธุกรรม ซึ่งหากมีคนในครอบครัวมีประวัติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นเดียวกัน

 

แม้อาการดังกล่าวอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันเสมอไป ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ควรตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของภาวะนี้ และทำการประเมินผู้ป่วยในทันที เช่น ควรให้ยาป้องกันในผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ สิ่งสำคัญคือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรกและมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง3-6เดือนแรก จะสามารถป้องกันความเสี่ยงและรักษาให้หายขาดได้

 

“ทุกคนควรต้องตระหนักรู้ ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันให้มากขึ้น เพื่อการวินิจฉัยได้รวดเร็วและรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งการป้องกันและการรักษาในปัจจุบัน จะมีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทานยา ฉีดยาหรือใส่ถุงน่อง ใช้เครื่องบีบนวด การตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องนับเป็นสิ่งสำคัญ” ศ. นพ. พันธุ์เทพ กล่าว

 

การป้องกัน 

 

การป้องกันตนในเบื้องต้นจาก “ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” สามารถทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
  • ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากการมีโรคประจำตัว
  • หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน
  • ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน
  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
  • รวมถึงตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ

 

“วันที่13ตุลาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘World Thrombosis Day’ หรือ‘วันหลอดเลือดอุดตันโลก’ โดยในปี 2565 นี้ ทางสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ ในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ในภาวะลิ่มเลือดอุดตัน”

 

"ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงการรักษา ในปีนี้มุ่งประเด็นเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน การกินยาคุมกำเนิด ภาวะโรคอ้วน ซึ่งเป็นอีกความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุน้อย” ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวทิ้งทาย

 

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรม “วันหลอดเลือดอุดตันโลก” สามารถติดตามได้ที่เพจ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที รับชมคลิปเรื่องราวของผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ที่ คลิก