สสส.ยกโมเดล CBTx ปลุกพลังเด็กและเยาวชน ชุมชน แก้ปัญหายาเสพติด

สสส. เปิดผลสำเร็จ “ทีมจัดการปัญหายาเสพติด ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ยกโมเดล CBTx ปลุกพลังชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด” พร้อมปลุกปั้นเด็กเยาวชนเป็นแกนนำเฝ้าระวังพฤติกรรม
เมื่อเร็วๆนี้ ตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนัก1 (สสส.) ลงพื้นที่ร่วมถอดบทเรียนผลสำเร็จต่อการดำเนินงานขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” CBTx ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ผ่าน 2 นโยบายสำคัญหลักๆ คือ
1.จัดตั้งทีมจัดการปัญหายาเสพติดตำบลน่าพู่
2.โครงการสร้างแกนนำเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในเด็กเยาวชน 10-15 ปี
หลายปีที่ผ่านมาชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ จนพบผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นจากการใช้และเสพยาเสพติด โดยมีการดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันพบผู้ใช้และเสพสารเสพติดในระดับสีเหลืองและสีส้ม 107 ราย และสามารถดึงกลุ่มผู้ใช้และเสพสารเสพติดจำนวน 70 ราย เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
6 หลัก ขับเคลื่อนชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) ฟื้นฟูผู้บำบัดอย่างเป็นมิตร
พื้นที่สุขภาวะสำคัญไฉน? เส้นชัย-ก้าวต่อใน 'Active City Forum'
นำร่องแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน
นายศรีสุวรรณ ควรขจร ที่ปรึกษากรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ “Community Based Treatment หรือ CBTx” เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน เป็นการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ กลไก และผลกระทบของปัญหายาเสพติด โดยคนในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มศักยภาพ เชื่อมโยงกับหน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชน ภาคประชาสังคม
ปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ และสามารถเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติในทุกภาคหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ ตำบลน่าพู่ ที่สามารถลดจำนวนผู้ใช้และเสพสารเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จนเป็นแม่ข่ายนำร่องต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ในระดับที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งภาคอีสานและทั่วประเทศด้วย
“สสส. ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนชุมชนล้อมรักษ์ โดยมีหลักสำคัญ 5 ประการ 1.การมีส่วนร่วมชุมชน 2.การใช้ชุมชนเป็นพื้นที่ในการช่วยให้มีการ ลด ละ เลิก ยาเสพติด สำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดรักษา 3.ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล 4.ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา สร้างโอกาสการมีงานทำ และ 5.ให้ความรู้แก่ชาวชุมชน นำไปสู่งานด้านสุขภาพและการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่ดี จนนำไปสู่การลดอิทธิพลของสิ่งเสพติดในพื้นที่ได้ ปัจจัยสำคัญคือครอบครัวต้องเป็นหลักและบทบาทสำคัญของกระบวนการนี้” นายศรีสุวรรณ กล่าว
กระบวนการ CBTx แก้ปัญหายาเสพติด
นายชากล้า กองสุวรรณ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.นาพู่ และคณะทำงานทีมจัดการปัญหายาเสพติด กล่าวว่า ตำบลนาพู่ มีผู้นำและคนในชุมชนที่เข้มแข็งต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด และเป็นนโยบายหลักเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อคนในชุมชนและนำไปสู่เศรษฐกิจฐานรากที่ดี ทำให้กระบวนการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายในตำบลมีการแบ่งหน้าที่ให้ครอบคลุมต่อการทำงาน
โดยมีการได้จัดตั้งทีมจัดการปัญหายาเสพติดตำบลน่าพู่ ซึ่งมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันปัญหายาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมถึงทีมติดตามการรักษา ทีมควบคุมเหตุ ทีมเฝ้าระวังพฤติกรรม ใช้ล้วนใช้ผู้นำชุมชน อสม. เข้ามามีบทบาทในกระบวนการ CBTx ทำให้ชุมชนมีขีดความสามารถมากขึ้นต่อการลดจำนวนผู้ใช้และเสพสารเสพติด ตอบโจทย์นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลได้ด้วย
“เราต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้าน ขณะเดียวกันเราก็ต้องเป็นตัวแทนระบบการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะประชาชนมีความคาดหวังจากหน่วยบริการว่าจะสามารถรักษาลูกของเขาให้หลุดพ้นจากยาเสพติด รวมถึงการพัฒนาธรรมนูญและแนวทางการบำบัดรักษา จากการประชาคมหลายครั้งพบว่า กระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เห็นผลสำเร็จสามารถลดจำนวนผู้ใช้และเสพสารเสพติดได้ หลายๆ เคสในพื้นที่ตำบลนาพู่สามารถกลับมาทำงานได้ บางคนไปทำงานต่างประเทศก็มี” นายชากล้า กล่าว
ขณะเดียวกันเราทำโครงการสร้างแกนนำในการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในเด็กและเยาวชน 10-15 ปี หวังสร้างเครือข่ายกับทุกสถาบันการศึกษาในตำบลนาพู่ เพื่อลดจำนวนผู้ใช้และเสพยาเสพติดในกลุ่มเด็กเยาวชนตั้งแต่ต้นน้ำ แต่เป้าหมายของพวกเราคือครอบครัวสามารถนำเด็กเข้ารับการรักษาโดยตรงได้
นางแสงวร สุขประเสริฐ แม่ของผู้เข้ารับการบำบัด ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันตนเองเกษียณอายุราชการครู กลับมาดูแลลูกชายวัย 32 ปี ที่เพิ่งผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดมาเพราะอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระยะเวลา 3 เดือน
ขณะนี้อาการดีขึ้นและอยู่ในกลุ่มสีเขียวที่สามารถกลับมารักษาที่บ้านได้แต่ยังรักษาตามแพทย์นัดดูอาการเป็นระยะ ภายหลังเลิกใช้ยาเสพติดพบว่าพฤติกรรมลูกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่เก็บตัวเงียบและพูดคุยกันบ่อยมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่สารเสพติดทำให้เกิดอาการทางจิตพูดคนเดียว ไม่พูดคุยกับคนในครอบครัว
อยากขอบคุณ นายชากล้า กองสุวรรณ และทีมการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด อบต.นาพู่ เข้ามาช่วยเหลือที่ให้คำปรึกษาแนะนำทำให้คุณภาพชีวิตคนในครอบครัวดีขึ้นด้วย หลังจากนี้จะเปิดคาเฟ่ขายเครื่องดื่มหน้าบ้านโดยจะให้ลูกชายดูแลเป็นหลักเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ด้าน นางรัชนีย์ แสงใส หนึ่งในผู้ปกครองของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวเปิดใจถึงการพาลูกในวัยอายุยี่สิบปลายๆ เข้าสู่กระบวนบำบัด หลังพบพฤติกรรมและร่างกายลูกผิดปกติผอมโทรม และใช้เงินฟุ่มเฟือย จนวันหนึ่งพบว่าลูกตนเองติดยาเสพติด ซึ่งไม่ทราบที่มาที่ไปของการซื้อขายยาเสพติด จึงปรึกษานายชากล้า และทีมแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อบต.นาพู่ กระทั่งสามารถลูกได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
ขณะเดียวกันครอบครัวล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างกำลังใจ ปัจจุบันตนเองเหมือนได้ลูกคนใหม่กลับมา เขากลับมาช่วยครอบครัว ทำมาหากินเพาะเห็ดฟางขายเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีในครอบครัว แค่นี้คนเป็นแม่ก็มีความสุขที่สุดแล้ว