จากเศษกระดาษในคุกของ ‘เนลสัน แมนเดลา’ สู่แนวทางใช้ชีวิต ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

จากเศษกระดาษในคุกของ ‘เนลสัน แมนเดลา’  สู่แนวทางใช้ชีวิต ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

ถอดบทเรียนการใช้ชีวิตของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" พ่อเมืองกรุงเทพตั้งแต่การทำงานให้สนุก ไม่เคร่งเครียดกับชีวิต และบทกวีที่ได้มาจากกระดาษในคุกของ "เนลสัน แมนเดลา" อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้

KEY

POINTS

  • ความสนุกในการทำงานคือหลักคิดสำคัญของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
  • การจะทำงานอย่างสนุกได้ต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมและอ่านหนังสือ
  • ชัชชาติ เชื่อว่าความสำเร็จต้องมาจากความอดทนและมีวินัย น้อยคนที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
  • อีกหนึ่งแนวคิดในการใช้ชีวิตของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาจากบทกวีในกระเป๋าของเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ ตอนอยู่ในคุกนาน 27 ปี 

ถอดบทเรียนการใช้ชีวิตของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" พ่อเมืองกรุงเทพตั้งแต่การทำงานให้สนุก ไม่เคร่งเครียดกับชีวิต และบทกวีที่ได้มาจากกระดาษในคุกของ "เนลสัน แมนเดลา" อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้

“ทำงาน ทำงาน ทำงาน” คือหลักคิดสำคัญในการทำงานสำคัญของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” พ่อเมืองกรุงเทพฯ ที่ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน 1 มิ.ย.2565 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงคอนเซปต์ ทำงาน ทำงาน ทำงาน แบบเดิมเรื่อยมา 

แล้วยังออกนโยบายเรือธงจำนวนมากระหว่างอยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 2 ปี แม้ปัจจุบันจะยังมีปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าที่รอรับการแก้ไข หนึ่งในนั้นคือปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่คนกรุงฯ (และจริงๆ ก็อีกหลายจังหวัด) ต้องสูดดมแทบตลอดทั้งปี

  จากเศษกระดาษในคุกของ ‘เนลสัน แมนเดลา’  สู่แนวทางใช้ชีวิต ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นเรื่องนโยบายและการแก้ปัญหาในกรุงเทพมหานครที่ต้องจับตาดูต่อไปแล้ว อีกหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือหลักคิดในการใช้ชีวิตและการทำงานของพ่อเมืองคนนี้ว่ามี “หลักยึด” อะไรในการออกไปใช้ชีวิตทุกวัน (ตั้งแต่ตีสี่)

ผู้ว่าฯ ชัชชาติเริ่มเล่าให้ฟังว่า ทุกๆ วันจะต้อง “หาเวลาว่างให้ตัวเอง” หนึ่งในนั้นคือการออกไปวิ่งเพื่ออยู่กับตัวเองแล้วก็วางแผนว่าตลอดทั้งวันจะต้องทำอะไรหรือคุยกับใครบ้าง หลังจากนั้นแปดโมงเช้าเป็นต้นไปก็จะเริ่มต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานและรับสายโทรศัพท์รวมทั้งประชุมจำนวนมาก ดังนั้นเวลาช่วงเช้าในการอยู่กับตัวเองคิดอะไรกับตัวเองในตอนเช้าตรู่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“ผมจะหาเวลาให้เป็นของตัวเองสักช่วงหนึ่ง แล้วดูแลสุขภาพ ดูแลจิตใจ พอหลังจากนั้นก็ไหลไปตามกำหนดการ” 

 ผู้ว่าฯ ย้ำให้ฟังว่า ทุกวันที่ออกไปทำงานจะคิดเสมอว่า “ต้องสนุก” เพราะถ้าไม่สนุกก็คงไม่มีอารมณ์อยากออกไปทำงานทุกวัน “สังเกตไหมผมชอบไลฟ์แล้วก็วิ่งไปด้วยมันคือการแฝงความสนุกไปในการทำงาน ผมชอบวิ่ง วิ่งไปด้วยตรวจงานไปด้วย นี่คือหัวใจ ย้อนกลับไปตอนที่เราทำแคมเปญผู้ว่าฯ ในกระดานของทีม เราเขียนตัวใหญ่เลยว่าต้องสนุก”

จากเศษกระดาษในคุกของ ‘เนลสัน แมนเดลา’  สู่แนวทางใช้ชีวิต ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

เมื่อถามว่าความสนุกในปัจจุบันของเขาคืออะไร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เล่าว่า คือการได้ออกไปช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องคนกรุงเทพฯ หรือให้ทีมงานเพราะเมื่อเห็นชีวิตของพวกเขาดีขึ้นก็เกิดความสนุกขึ้นมา 

“สนุกก็คือมีความสุขแหละ ใช่ไหม นั่นก็คือสิ่งที่เราชอบ จริงๆ มันก็ตรงกับหน้าที่ผู้ว่าฯ เลยแหละ คือต้องไปแก้ปัญหาของคนในเมือง” 

นอกจากการสร้างความสนุกจากการนำเรื่องที่ชอบอย่างการวิ่งเข้ามาผสมผสานกับการทำงานแล้ว พ่อเมืองกรุงเทพฯ เล่าต่อว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสนุกในการทำงานได้คือคุณต้องรู้เรื่องที่จะทำให้ลึกและรู้จริง ดังนั้นการหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาก็จะช่วยให้เกิดความสนุกในการทำงานได้ แล้วมันก็จะนำมาสู่วิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น 

โดยหากไม่รวมหนังสือ Think Again ของ อดัม เเกรนต์ (Adam Grant) นักจิตวิทยาหนุ่มชื่อดังชาวอเมริกันแล้ว ยังมีหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติแนะนำ คือ How to Win Friends and Influence People ของนักเขียนและอาจารย์ชาวอเมริกันอย่าง เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) เพราะนอกจากจะสนุกแล้วยังได้ความรู้ในการสื่อสารเพื่อเอาชนะใจผู้ฟังด้วย

  หนังสือที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แนะนำล่าสุด “สมมุติเวลาเราจะพูดเนี่ย เราก็ต้องคิดถึงคนที่เราพูดด้วยเป็นหลัก ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้อง Delay Judgement หรืออย่าพึ่งไปตัดสิน ว่าคนนี้ดีหรือคนนี้เลว เพราะถ้าเราไปตัดสินว่าคนนี้ไม่ดีแล้วเนี่ย เราก็จะไม่ฟังเขาทันที มันก็จะมีอคติ เล่มนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราสื่อสารกับคนได้ดี”

บทสนทนาล่วงเลยมาหลายสิบนาที เราเริ่มถามคำถามคลาสสิกกับพ่อเมืองกรุงเทพฯ ว่า เด็กรุ่นใหม่ปัจจุบันมักมีแนวคิดต้องประสบความสำเร็จให้เร็วเพราะในสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันมีแต่อินฟลูเอ็นเซอร์ที่สื่อสารเรื่องทำนองนี้อยู่เต็มไปหมด ผู้ว่าฯ ชัชชาติอธิบายให้ฟังว่า

ทุกคนควรมีความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน หรือเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

“คือถึงแม้ตอนเด็กๆ ผมจะเป็นเด็กเรียน แต่ผมก็ยังทำกิจกรรม ต้องออกกำลังกายทุกวัน มันไม่ใช่ว่าเรียนจนเครียด มันก็ต้องหาสมดุล จิตใจก็ต้องแข็งแรงด้วย ไม่ใช่เครียดมาก มันก็ต้องมีทางในการลดความเครียดด้วย”

จากเศษกระดาษในคุกของ ‘เนลสัน แมนเดลา’  สู่แนวทางใช้ชีวิต ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ผู้ว่าฯ ชัชชาติแสดงความคิดเห็นว่า ในโลกนี้ไม่มีทางลัดสำหรับการประสบความสำเร็จ ทุกอย่างต้องมาจากความอดทนและวินัย

“ผมว่าไอ้เรื่องความอดทน ความมีระเบียบวินัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้อยู่ได้ยาวๆ แต่ทีนี้ปัญหาคือเราชอบไปดูตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่คนที่ล้มเหลวอย่างรวดเร็วไม่ค่อยมีใครมาแสดงให้เห็นไง”

เขาอธิบายเสริมว่า ในภาษาอังกฤษมักเรียกสถานการณ์ลักษณะนี้ว่า Silent Evident หรือ หลักฐานเงียบ พูดง่ายๆ คือปกติเรามักเห็นข่าวประชาชนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล 20 ล้านแต่ไม่มีข่าวคนที่เสียเป็นแสนแล้วไม่ถูกรางวัล (ถึงแม้จะมีมากกว่าคนที่ถูกรางวัลก็ตาม) เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติดกับในสิ่งที่เห็นเพราะบางทีมันมีสิ่งที่ไม่เห็นอีกมากมายเลย ทุกอย่างล้วนต้องมาจากความอดทนความอุตสาหะ

เมื่อถามต่อไปว่า ดังนั้นหากมีพลังวิเศษสามารถย้อนกลับไปหาเด็กชายชัชชาติในอดีตได้ อยากบอกอะไรกับเด็กคนนั้น ผู้ว่าฯ ตอบกลับมาว่า อยากบอกให้ตัวเองหาเวลาว่างไปเล่นดนตรีหรือร้องเพลงบ้างแม้กระทั่งเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบอย่างเศรษฐศาสตร์เพราะในโลกนี้ไม่ได้มีแค่อาชีพหมอหรือวิศวกร

พร้อมตบท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “แต่ก็อย่างว่าอย่าไปโหยหาถึงอดีตเลย มุ่งไปสู่อนาคตดีกว่า”

 ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง เราถามคำถามสุดท้ายกับพ่อเมืองผู้นี้ว่า นอกจากเรื่องความสนุกในการทำงานและใช้ชีวิตแล้ว มีคำสอนไหนที่ยังนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ เขาตอบกลับมาว่า มีอยู่ท่อนหนึ่งในบทกวี Invictus โดยวิลเลียม เออร์เนสต์ เฮนลีย์ ( William Ernest Henley) กวีชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตในช่วงปี 1849-1903 ที่ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้พกติดตัวไว้เสมอตอนอยู่ในคุกทั้งหมด 27 ปี ประโยคนั้นคือ

“I’m the Mother of my Faith, I’m the Capitan of my Soul เราเป็นเจ้านายของชะตาชีวิต เราเป็นกัปตันของจิตวิญญาณ”