คนรวย-คนจน ต้นทุน ‘เวลา’ ไม่เท่ากัน จากโอกาส ปัญหา และสิ่งที่ต้องเผชิญ

คนรวย-คนจน ต้นทุน ‘เวลา’ ไม่เท่ากัน จากโอกาส ปัญหา และสิ่งที่ต้องเผชิญ

หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ทุกคนมีเวลาเท่ากันจริงหรือไม่? งานศึกษา ชี้ “คนจน” เผชิญความเครียดเรื้อรัง ภาวะเจ็บป่วย ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีเวลาคิดเรื่องอนาคต พบ ช่องว่างความเครียดคนรวย-คนจนสูงขึ้น ระดับความพึงพอใจในชีวิตต่างกันลิบลับ

ประโยคที่บอกว่า “ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน” อาจเป็นจริงเมื่อพูดกันในทางเทคนิค แต่หากนำมาเทียบเคียงกับวิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่มแล้วเราอาจพบว่า “เวลา” ของคนที่มีโอกาสต่างกันก็มีส่วนทำให้ชีวิตของพวกเขาถูกจำกัด ไม่เป็นอิสระได้อย่างกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า หรือที่ถูกนิยามว่า “คนรวย” พึงมี

  • เครียดแบบคนรวย ทุกข์น้อยกว่า “เครียดแบบคนจน”

งานศึกษาจาก “สถาบันบรุกกิงส์” (Brookings Institution) สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่งานศึกษาที่มีชื่อว่า “The rich even have a better kind of stress than the poor” หรือ “คนรวยมักมีความเครียดที่ดีมากกว่าคนจน” โดยระบุว่า ปกติแล้ว “คนจน” มักจะมีคะแนนด้านความเป็นอยู่ที่ดี ความพึงพอใจในชีวิต และความสุขต่ำกว่าคนรวยอยู่แล้ว

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะความเป็นอยู่ที่ดีส่งผลต่อความหวังในชีวิต ในอนาคต หากคนรู้สึกปลอดภัยกับปัจจุบันแล้ว พวกเขาก็จะเริ่มวางแผนและมองหาการสร้างความมั่งคงให้กับชีวิต ความเชื่อมโยงนี้สามารถอธิบายได้ว่า เพราะอะไรโลกจึงยังมีคนสองกลุ่ม คือคนที่ก้าวไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ กับกลุ่มคนยังตามหลังอยู่ตลอด

“สถาบันบรุกกิงส์” พบว่า ความเครียดเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเจ็บป่วย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถของแต่ละบุคคลในการวางแผนอนาคตและการลงทุนที่จำเป็น แม้ “ความเครียด” จะพบได้ในคนทุกกลุ่ม แต่ระดับความเข้มข้นนั้นแตกต่างกัน คนจน” มักต้องเผชิญกับความเครียดเรื้อรัง เนื่องจากต้องใช้ชีวิตแบบดิ้นรนเพื่อแก้ไขวิกฤติหรือปัญหาในแต่ละวัน การวางแผนในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องเฉพาะหน้าจึงเป็นเรื่องรอง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น “สถาบันบรุกกิงส์” ยกตัวอย่างว่า สำหรับกลุ่มคนยากจนปัญหาเรื่องเด็กเล็กในครอบครัวเจ็บป่วย หรือพาหนะที่ใช้ในการขับขี่ไปทำงานเสียกะทันหัน ก็อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขา “ตกงาน” ได้เลย ตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ อีกมาก หากปัญหาสุขภาพรุนแรงขึ้น แน่นอนว่า พวกเขาก็ต้องใช้จ่ายไปกับค่ารักษาพยาบาล เบาะกันกระแทกในรูปแบบ “ประกันชีวิต” หรือ “ประกันสุขภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีต้นทุนนั้นก็อาจจะเป็นส่วนน้อยที่มี เมื่อเทียบกับกลุ่มคนรวย

  • “เวลาไม่เท่ากัน” คือปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่รายได้

เว็บไซต์ “Big Think” ระบุว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ความไม่เท่าเทียมกันของ “รายได้” หากแต่เป็นเรื่องของ “เวลา” หากเราใช้เวลาเป็นมาตรวัดจะเห็นถึงความสมเหตุสมผลของความยุ่งยากที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงระยะเวลานั้นๆ เช่น การลดลง-เพิ่มขึ้นของค่าเงิน ดัชนีผู้บริโภค ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ 

ยกตัวอย่างเช่น นาย A ทำงานเพียง 1 ชั่วโมงก็สามารถซื้อข้าวกินได้หลายมื้อ ขณะที่นาย B อาจต้องใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง ในการหาเงินให้เพียงพอกับข้าวหนึ่งจาน หากเรามองเวลาด้วยเลนส์เดียวกันก็จะพบว่า แต่ละคน แต่ละสถานะ มีโอกาสและเวลาในการแสวงหาทรัพยากรแตกต่างกัน คำกล่าวที่ว่า ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงอาจเป็นจริง แต่ไม่ใช่ 24 ชั่วโมงนั้นของทุกคนจะมีคุณค่าเท่ากัน

ทุกคนเดินทางไปทำงานตอนเช้าเหมือนกัน อีกคนใช้รถส่วนตัว ขึ้นทางด่วนถึงที่หมายภายใน 30 นาที ส่วนอีกคนต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง กว่าจะรอรถประจำทางเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันได้ คำว่า “เวลาเท่ากัน” ในที่นี้ จึงอาจมีเครื่องหมายคำถามตามมาว่า ท้ายที่สุดแล้ว เวลาเหล่านั้นถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง

 

อ้างอิง: Big ThinkBrookings