ช่วงเทศกาล : ความสุข เครียด เหงาและน้ำหนักที่เพิ่ม

ช่วงเทศกาล : ความสุข เครียด เหงาและน้ำหนักที่เพิ่ม

ในช่วงเทศกาลนี้จะพบว่าหลายคนจะมีอารมณ์ที่แตกต่างและหลากหลายกันพอสมควร ทั้งสุข เครียด และเหงา ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน ประสบการณ์ และการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่น่าสงสัยคือทำไมช่วงเทศกาลแห่งความสุขเช่นนี้ถึงได้มีอารมณ์ที่แตกต่างและหลากหลายกันมากนัก

คริสต์มาสและปีใหม่ ควรจะเป็นช่วงของอารมณ์แห่งความสุข และเป็นอารมณ์ที่พบเห็นได้เยอะและบ่อยที่สุด ช่วงปีใหม่เป็นช่วงของการนัดสังสรรค์ทั้งระหว่างญาติมิตรหรือเพื่อนฝูง

อีกทั้งเป็นช่วงหยุดพักยาวและต้องการใช้วันพักร้อนให้หมด ทำให้หลายคนเลือกที่จะท่องเที่ยวในช่วงนี้ ในหน้าสังคมออนไลน์จะเห็นอยู่สองเรื่องหลัก คือการนัดสังสรรค์กับการท่องเที่ยว

การนัดสังสรรค์ในช่วงปีใหม่นี้ ทำให้ได้มีการรวมตัวและพบเจอของญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก ในหลายๆ บทสนทนาก็จะเป็นการย้อนรำลึกถึงอดีตร่วมกัน (Nostragia) การย้อนรำลึกถึงอดีตก็เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความสุข นอกจากนี้การที่กลุ่มคนมาอยู่และสังสรรค์ร่วมกัน จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อบุคคลอื่นทั้งในเชิงพฤติกรรมและอารมณ์ด้วย

นอกจากความสุขจากการสังสรรค์แล้ว ความสุขในช่วงเทศกาลยังมาจากการได้เป็นผู้ให้ ปีใหม่เป็นช่วงเทศกาลของการให้ ความสุขอาจจะเกิดตั้งแต่การคิดถึงบุคคลที่จะมอบของขวัญให้ การเลือกของขวัญ จนถึงการมอบความสุขให้บุคคลอื่นผ่านทางของขวัญ

สุดท้ายเมื่อไปตามที่ต่างๆ ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยบรรยากาศของเทศกาล ทั้งการประดับไฟ เสียงเพลง ซึ่งก็นำความสุขมาได้เช่นกัน

นอกจากความสุขแล้ว หลายคนก็ประสบกับความเครียดในช่วงเทศกาลนี้เช่นกัน ความเครียดที่เกิดขึ้นมีทั้งดีและไม่ดี ที่ดีคือความเครียดของเทศกาล ที่เป็นช่วงวุ่นวาย ทั้งการเตรียมของขวัญให้กับผู้อื่น การนัดสังสรรค์ตลอดทุกวันทำให้ไม่ได้หยุดพักการบริโภค 

ส่วนความเครียดที่ไม่ดีในช่วงเทศกาลปลายปี คือเครียดที่เมื่อถึงปลายปีจะต้องปิดเป้า หาทางทำให้ KPI บรรลุ หรือเครียดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสิ้นปีจากการที่ต้องซื้อของและกินเลี้ยงบ่อยๆ

นอกจากนี้ยังมีความเครียดที่สามารถเกิดขึ้นได้จากความคาดหวังที่ต้องการทำให้ช่วงสิ้นปี และเทศกาลเป็นช่วงที่สมบูรณ์ทั้งสำหรับตนเองและบุคคลรอบข้าง

อารมณ์สุดท้ายเป็นความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ซึ่งถือเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีและไม่ควรจะให้เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลมาตลอด ไม่อย่างงั้นภาษาอังกฤษคงไม่มีคำว่า Holiday Blues ที่พอแปลได้ว่าความเศร้าและเหงาในช่วงวันหยุด

ความเหงาหรือโดดเดี่ยวช่วงวันหยุดนั้นมักจะเกิดขึ้น เมื่อมีการเปรียบเทียบทางสังคม หรือ Social Comparison โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขในช่วงปีใหม่

ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่สังคมออนไลน์ทำให้รับรู้ข้อมูลของคนอื่นได้อย่างรวดเร็ว การที่ได้เห็นบุคคลอื่นได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกินเลี้ยงสังสรรค์อย่างไม่หยุดหย่อน ก็จะทำให้บางคนอดไม่ได้ที่จะนำตัวเองมาเปรียบเทียบ และอาจจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Inferiority Complex ที่จะรู้สึกว่าตนเองไม่มี หรือด้อยค่ากว่าผู้อื่น

ยิ่งคนที่อาจจะไม่ได้ชอบที่จะพบกับคนจำนวนมาก ไม่ชอบไปงานเลี้ยง หรือไม่ชอบท่องเที่ยว การส่องหน้าสังคมออนไลน์ตลอดเวลา จะนำไปสู่การเปรียบเทียบทางสังคม และสามารถนำไปสู่ความรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวได้ง่ายมากขึ้น

สรุปคือในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ คนสามารถมีอารมณ์ได้หลากหลาย ทั้งสุข เครียด หรือเหงา แต่ที่น่ากลัวคือไม่ว่าจะอารมณ์ไหนก็ล้วนแต่นำไปสู่การรับประทานที่เพิ่มขึ้นและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้

เนื่องจากเมื่อมีการนัดหมาย สังสรรค์ ก็มักจะมาควบคู่กับการรับประทานอาหาร เมื่อเครียด ก็เกิด emotional eating ความเครียดจะต้องการน้ำตาลและไขมันเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้รู้สึกดี (Temporary comfort)

ส่วนเมื่อเหงา ก็นำไปสู่ emotional eating เช่นกัน เพราะอาหารกลายเป็นเพื่อนแก้เหงาที่ดี ดังนั้นไม่ว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ไหน สุดท้ายผลลัพธ์ก็เหมือนกันนั้นคือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น.