เตือน ฉ.13 ฝนตก ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น เช็กจุดเฝ้าระวัง 10-15 ส.ค.66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเตือนฉบับที่ 13 เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฝนตก 10-15 ส.ค.66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเตือน ฉบับที่ 13 เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 10-15 สิงหาคม 2566

กอนช. ได้ติดตาม สถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ 10-15 สิงหาคม 2566 มีดังนี้

1. สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.42 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.38 เมตร เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.40 - 0.60 เมตร

2. สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 12.26 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.74 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00 - 2.50 เมตร

3. สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 8.35 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.05 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 3.50 เมตร

4. สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.46 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.54 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 3.50 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2566

5. สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันมีระดับน้ำ 8.98 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.52 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.00 - 2.50 เมตร

6. สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีระดับน้ำ 10.60 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.90 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.00 - 1.50 เมตร

ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง