กรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าระวังมรสุมกำลังปานกลาง ข้อควรระวังช่วง 8–10 ก.ค.2566

กรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าระวังมรสุมกำลังปานกลาง ข้อควรระวังช่วง 8–10 ก.ค.2566

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2566 เฝ้าระวังมรสุมกำลังปานกลางยังพัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ข้อควรระวังช่วง 8–10 ก.ค.2566

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2566 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป

ช่วงวันที่ 6-7 ก.ค.2566 มรสุมกำลังปานกลาง ยังพัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีเมฆมาก พื้นที่ฝนมีแนวโน้มลดลงแต่ยังมีเกิดขึ้นบางแห่ง ส่วนมากบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออกด้านรับมรสุม ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล

เมื่อมรสุมอ่อนลง ประกอบกับยังมีลิ่มความกดอากาศสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิกแผ่ปกคลุมทางภาคอีสาน ทำให้ทิศทางลมเปลี่ยนแปลง ฝนยังเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ ส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง

สำหรับภาคใต้ด้านรับมรสุม (ระนอง  พังงา) ยังมีฝนเกิดขึ้นได้บ้างแต่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างฝนน้อยลง คลื่นลมฝั่งอันดามันยังมีคลื่นสูงห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือ ชาวประมงเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้ เนื่องจากลิ่มของความกดอากาศสูง (มวลอากาศเย็น) จากซีกโลกใต้ จะแผ่ขึ้นมาปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง

ช่วงวันที่ 8-15 ก.ค.2566 ฝนเพิ่มขึ้นบ้างจากมรสุมที่แรงขึ้นแต่ยังตกไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ยังเป็นด้านรับมรสุม ระยะนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เช็กพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 8-11 ก.ค.66 จากฝนตกหนัก

- 'พยากรณ์อากาศวันนี้' 6 ก.ค. เตือน 33 จว.ฝนตกหนัก กทม.ฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่

 

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6 - 12 ก.ค.2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ในขณะที่ในช่วงวันที่ 8 – 10 ก.ค.2566 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

- ช่วงวันที่ 6-7 ก.ค.2566 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1–2 เมตร

- ช่วงวันที่ 8 - 12 ก.ค.2566  คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร โดยบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 – 2  เมตร  

ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 8–10 ก.ค.2566 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย