เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ ในไทย: จากซีรีย์วายสู่สมรสเท่าเทียม

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ ในไทย: จากซีรีย์วายสู่สมรสเท่าเทียม

บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมซีรีส์วาย ที่เติบโตอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีความก้าวหน้าและใกล้ที่จะเกิดขึ้นได้จริงในเร็ววันหากมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ท่ามกลางการปฏิบัติที่ยังไม่เท่าเทียม ต่อกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังแทรกตัวในสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ยังมีโอกาสและความหวัง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยเสริมสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม 

ซีรีส์วาย คือ สื่อบันเทิงที่รับเอาขนบของบันเทิงคดีแนวบอยเลิฟญี่ปุ่น (Japanese boys love) หรือที่รู้จักกันว่าแนวบีแอล โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างเพศชายด้วยกัน ซึ่งความสนใจที่ผู้ชมมีต่อซีรีส์วายสูงขึ้นอย่างเป็นปรากฏการณ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

ประเทศไทยได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นและสร้างสื่อออกมามากมาย จนสามารถสร้างมูลค่าจากตลาดนี้ไปได้ถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีผู้ชมเพิ่มขึ้นมากขึ้นถึงกว่า 300%

กระแสความนิยมดังกล่าวถึงขั้นถูกนำไปตีพิมพ์บน Time.com รวมถึงกลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ออกโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ผ่านงาน Mini Thai Festival ที่จัดขึ้นในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีที่ผ่านมา

ซีรีย์วายของไทยโด่งดังไปทั่วโลกได้สร้างปรากฏการณ์มากมาย เช่น ฐานคนดูชาวญี่ปุ่นในซีรีย์วายไทยมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน หรือกรณี Global Live Fan Meeting ของนักแสดงนำจากซีรีย์คู่กันดึงดูดแฟนคลับถึง 93 ประเทศและมียอดรีทวีต 2 ล้านว่าทวีตในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

 นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ของแฟนคลับชาวจีนและไทย ร่วมกันใช้เงินกว่า 20 ล้านบาทซื้อโฆษณาบนป้ายบิลบอร์ดย่านไทม์สแควร์ นิวยอร์ก เพื่ออวยพรวันเกิดให้นักแสดงที่ชื่นชอบ 

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ ในไทย: จากซีรีย์วายสู่สมรสเท่าเทียม

วงการหนังสือและวรรณกรรมในประเทศไทย ก็เป็นอีกภาคส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบรับกระแสความนิยมในสื่อบันเทิงชายรักชายด้วยเช่นกัน ในปี 2566 มีวรรณกรรมวายถึง 2,817 เรื่องจาก 138 สำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์รายใหญ่ก็ได้ก้าวเข้ามาเล่นในตลาดวรรณกรรมวายกันอย่างคึกคัก ด้วยการเปิดสำนักพิมพ์ในเครือสำหรับ ‘นิยายวาย’ โดยเฉพาะ เช่น เอเวอร์วาย (สำนักพิมพ์ Jamsai) และ Rose (สำนักพิมพ์ Amarin) Deep (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์) SENSE BOOK

จนนำไปสู่ “Y Book Fair” หรือมหกรรมนิยายและการ์ตูนวายแห่งชาติ ที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2560 และกำลังจะถูกจะขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ รวมถึงนิยายวายบนแพลตฟอร์มออนไลน์

เช่น  Dek-d.com ที่หมวดหมู่นิยายวายเป็นหมวดหมู่ที่มีการกดติดตามมากที่สุดในปี 2562-2563 และมากเป็นอันดับสามในปี 2564-2565 คือมีผู้ติดตามถึง 25,000 – 62,350 คน

อย่างไรก็ตาม สวนทางกับกระแสและจำนวนซีรีส์วาย ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ กลับมีการถกเถียงถึงประเด็นว่า ซีรีส์วายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคม แม้จะมีการใช้อัตลักษณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ในการสร้างรายได้ให้ตนเองก็ตาม

เนื่องจากเรื่องราวไม่ได้ตั้งอยู่บนเพศวิถีของตัวละคร และมีเป้าประสงค์เพื่อการสื่อถึงความรักในอุดมคติโดยไม่ยึดโยงกับสภาพความเป็นจริงในสังคมที่กลุ่มคน LGBTQIAN+ กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสมรสเท่าเทียมที่มีหน่วยงานในประเทศไทยพยายามขับเคลื่อนและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง

เปิดข้อเท็จจริง LGBTQIAN+ ในไทย: จากซีรีย์วายสู่สมรสเท่าเทียม

สำหรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แม้จะมีการเพิ่มสิทธิให้เพิ่มเติมจากฉบับแรก เช่น สิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินและทำธุรกรรมร่วมกัน และสิทธิที่คู่ชีวิตจะสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ก็ยังไม่ทัดเทียมกับสิทธิของคู่สมรสชาย-หญิงตามประมวลกฎหมายแพ่ง โดยละเลยหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการที่บุคคลสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกันทิ้งไป

เช่น สิทธิในการรับมรดกจากอีกฝ่ายโดยไม่ต้องเสียภาษีมรดก สิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม และสิทธิในการเป็นผู้อนุบาล-ผู้พิทักษ์กรณีอีกฝ่ายเป็นคนไร้-เสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น 

เมื่อเปรียบเทียบ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ได้รับการเสนอโดยพรรคก้าวไกล พบว่ามีความใกล้เคียงและสมบูรณ์เทียบเท่ากับทั้งกฎหมายสมรสฉบับเดิมของคู่ชาย-หญิง และกฎหมายสมรสของประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาในปี พ.ศ.2562

ถือได้ว่าหากประเทศไทยมีการผ่านกฎหมายที่มีเนื้อหาในระดับเดียวกับร่างพรบ. ฉบับนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของประเทศและของภูมิภาคในการสนับสนุนและผลักดันความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นได้จริง

กล่าวได้ว่า กระแสของ ซีรีส์วาย ถือเป็นตลาดใหม่และตลาดใหญ่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน แต่ก็ต้องมีการคำนึงถึงเนื้อหาที่ไม่เอาเปรียบชุมชน LGBTQIAN+ และสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศไปพร้อมกัน

บทสรุปของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่แม้จะมีความทัดเทียมมากแค่ไหน แต่ก็ยังคงต้องค้างอยู่ในกระบวนการและรอเวลาที่จะยื่นต่อรัฐสภาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยต่อไป.