กฎหมายรับรอง 'เพศสภาพ' ของประเทศมอลต้า

กฎหมายรับรอง 'เพศสภาพ' ของประเทศมอลต้า

หัวข้อพิเศษช่วง “Pride Month” วันนี้จะพาไปดูการตรากฎหมายรับรอง เพศสภาพ ของประเทศมอลต้า เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2015 โดยตรากฎหมายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ (The Gender Identity, Gender Expression and Sex Characteristics Act 2015)

กฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงกำหนดกระบวนการขั้นตอนเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มบุคคลข้ามเพศและบุคคลอินเตอร์เซ็กไว้อย่างชัดเจน        

กฎหมายฉบับนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการแก้ไขครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2018  การรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศของประเทศมอลต้านั้น มิได้เรียกร้องให้บุคคลต้องพิสูจน์เพศของตน โดยใช้กระบวนการรักษาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะรูปแบบใด

หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง เพื่อสามารถพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนดำรงอยู่ 

สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ มีความหมายครอบคลุมสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง (The right to self-definition) สิทธิในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ (The right to self-express) สิทธิในการตระหนักซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง (The right to self-realization)

โดยสามารถแสดงออกด้วยการมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อให้มีการรับรองชื่อ ภาพถ่าย และเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนในเอกสารแสดงตน

ตามกฎหมายของประเทศมอลต้านั้น บุคคลจะต้องไม่ถูกบังคับให้ต้องพิสูจน์เพศสภาพของตน ด้วยกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงการรักษาด้วยวิธีการใช้ฮอร์โมนหรือการรักษาทางจิตเวชอื่น ๆ หรือการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ 

กฎหมายรับรอง \'เพศสภาพ\' ของประเทศมอลต้า

นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ยังได้วางหลักการคุ้มครองบุคคลอินเตอร์เซ็ก ซึ่งเป็นคนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ หรือมีเพศกำกวม ไว้เป็นการเฉพาะ

โดยห้ามมิให้ทำการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศบุคคลอินเตอร์เซ็กที่เป็นผู้เยาว์ หรือใช้กระบวนการผ่าตัดในการแทรกแซงลักษณะทางเพศของผู้เยาว์ จนกว่าบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง

และหากผู้เยาว์มีความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ ผู้เยาว์ต้องให้ความยินยอมโดยผ่านทางบิดามารดาหรือบุคคลที่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว บุคคลนั้นย่อมต้องได้รับโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับตามที่กฎหมายกำหนด 

สำหรับหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องเพื่อขอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศนั้น เริ่มต้นจากใช้สิทธิของบุคคลกรณีทั่วไปนั้นสามารถกระทำได้ก็แต่โดยบุคคลนั้นมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่หากบุคคลนั้นเป็นผู้เยาว์ (Minor) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

หากประสงค์จะมีการเปลี่ยนแปลงเพศก็จะต้องดำเนินการโดยบิดามารดาหรือผู้ปกครองในฐานะเป็นผู้แทนของผู้เยาว์ โดยจะต้องยื่นคำร้องไปยังศาลแพ่ง (Civil Court) เพื่อขอเปลี่ยนแปลงเพศและชื่อแรกของผู้เยาว์ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของผู้เยาว์ 

ในกรณีการยื่นคำร้องของบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ สามารถกระทำได้โดยการยื่นคำร้องขอผ่านกระบวนการพิจารณาทางปกครองกล่าวได้ว่า การอนุญาตของศาลแพ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นเงื่อนไขบังคับที่จะต้องกระทำก่อน

ในประเด็นเรื่องการยื่นหลักฐานทางการแพทย์ เพื่อขอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายนั้น ประเทศมอลต้าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มิได้มีการบังคับให้บุคคลต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์ รวมทั้งมิได้บังคับให้บุคคลต้องยื่นเอกสารทางการแพทย์ใด ๆ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงความผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศของตน

ผลจากการที่กฎหมายของประเทศมอลต้าได้ให้การรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศแก่บุคคล ย่อมทำให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามอัตลักษณ์ทางเพศที่กฎหมายให้การรับรอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัว รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของบุคคลที่มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย 

นอกจากนั้นแล้ว การรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายแก่บุคคล จะมีมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นส่วนตัวในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับเพศเดิม และการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารทางราชการ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องรักษาเป็นความลับ (confidentiality) การขอดูข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเป็นสำคัญ

กฎหมายรับรอง \'เพศสภาพ\' ของประเทศมอลต้า

กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 เป็นต้นมา ประเทศมอลต้าให้การรับรองว่าบุคคลซึ่งเป็นประชากรของประเทศมอลต้าสามารถระบุเพศของในตนในหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชน โดยใช้คำว่า เพศชาย (male) หรือเพศหญิง (female) หรือ เพศอื่น ๆ (other) ได้

การสร้างคำว่า “เพศอื่นๆ (other)” ขึ้นมาก็เพื่อรองรับความต้องการของบุคคลที่ไม่ประสงค์ระบุว่าตนเป็นเพศชายหรือเพศหญิง และบุคคลนั้นมีความต้องการที่จะดำรงอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ทางเพศที่เขาเลือก โดยปรากฏอัตลักษณ์ทางเพศเช่นว่านั้นอยู่ในเอกสารการเดินทาง

การใช้เพศ X ในประเทศมอลต้านั้น จะหมายถึง การไม่ระบุเพศ (undeclared) ซึ่งมิได้หมายความว่าเป็นเพศที่สาม หากแต่เป็นการระบุว่าบุคคลนั้นไม่ต้องการเป็นเพศใด (non-registration of a gender)

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง กฎหมายฉบับนี้จึงห้ามมิให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติใด ๆ ที่มีผลต่อการจำกัดหรือควบคุมการใช้สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล

ตลอดจนการตีความและการบังคับใช้หลักเกณฑ์ใด ๆ จะต้องเป็นไปเพื่อให้ความเคารพต่ออัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล และห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุผลในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย.