Pride Month 2023 LGBTQ วอนรัฐบาลขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม

LGBTQ วอนรัฐบาลขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม Pride Month 2023 เพื่อให้เกิดความเสมอภาค

หน่วยงานภาคเอกชนต่าง ๆ ในพื้นที่ภูเก็ต ร่วมใจกันจัดหลากหลายกิจกรรมในช่วง เดือนมิถุนายน ถือเป็น Pride Month 2023 หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ภาคเอกชน และกลุ่ม LGBTQIAN+ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถ และศักยภาพความหลากหลายของ LGBTQIAN+ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

เตรียมฉลองเทศกาลไพรด์ ประเทศไทย ในงาน THAILAND’S PRIDE CELEBRATION 2023 ด้วยคอนเซ็ป PRIDE FOR ALL ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 โดยร่วมฉลอง Pride Month ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น นิทรรศการภาพถ่ายสร้างแรงบันดาลใจ, ขบวนพาเหรด Pride Parade, PRIDE MARKET, Pride Contest เป็นต้น ตั้งเป้ายกระดับจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็น World Pride เดสซิเนชั่นในการฉลองเทศกาลแห่งความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลก สร้าง Global Impact ตอกย้ำบทบาทองค์กรแห่งความหลากลหาย และเป็นพื้นที่สร้างสรรคสิ่งต่างๆ เพื่อทุกคนในสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ Imagining Better Futures For Allมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ ได้ร่วมกับศูนย์การค้าจังซีลอนป่าตอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต และพันธมิตร ได้กำหนดจัดการประกวด Miss Queen Andaman Power 2023 ขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ เพื่อเฟ้นหาสาว TG ที่มีทั้งความสวย ความฉลาด สุขภาพดีและมีจิตอาสา เพื่อเป็นทูตประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ และรณรงค์การดูแลสุขภาพวะทางเพศ หรือการมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย สร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีให้กับสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดเพื่อให้สังคมเข้าใจและยอมรับมากขึ้น ลดการตีตราและเลือกปฎิบัติในสังคม

นายศรัณย์ มิตรารัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม LGBTQIAN+ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ ว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ขับเคลื่อน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีการเริ่มต้นไว้แล้วในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และทราบว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่มีแนวคิดในการจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ รวมถึงการจัดงานไพรด์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เหตุที่ต้องให้มีการผลักดันในเรื่องสมรสเท่าเทียม เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งปกติเมื่อผู้หญิงกับผู้ชายแต่งงานกันจะสามารถที่ยื่นกู้หรือทำประกันชีวิตหรืออะไรที่ต้องให้คู่สมรสยินยอม

ซึ่งสามารถทำได้ง่าย แต่เมื่อเป็นชาวเราหากไม่มีกฎหมายดังกล่าวรองรับจะทำอะไรด้วยกันก็ค่อนข้างลำบาก หากมีการผลักดันได้สำเร็จถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับชาวเรา ส่วนปัญหาที่มักจะเจอค่อนข้างบ่อย คือ ถูกเหยียด แม้ว่าจะลดลงจากในอดีตแล้วก็ตามแต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ 

    ขณะที่นายธีรศักดิ์ ผลงาม ผู้บริหารร้านตู้กับข้าว และหนึ่งในกลุ่ม LGBTQIAN+ เช่นกัน กล่าวถึงสิ่งที่อยากให้เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการ ว่า ปัญหาที่เจอและมีการพูดคุยกันค่อนข้างมาก คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างหญิงชายที่แต่งงานกันและมีอายุมากขึ้น เมื่อคนใดคนหนึ่งจากไป อีกคนยังมีสิทธิตามกฎหมายในเรื่องต่างๆ ของอีกฝ่าย อาทิ ทรัพย์สิน เป็นต้น แต่สำหรับ LGBTQIAN+ ไม่สามารถทำได้ และไม่มีอะไรมาการันตีได้ แม้บางคู่จะอยู่กันมาเป็นเวลานาน 20-30 ปี ดูแลครอบครัวของกันและกัน แต่เมื่อเมื่อถึงเวลาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจากไปอีกฝ่ายไม่สิทธิอะไรเลย ซึ่งเราไม่ได้ต้องการอะไรของเขา แต่บางอย่างเป็นเรื่องของความผูกพันและความรู้สึกของการดูแลกันและกัน

อาจรวมถึงทุกอย่างที่สร้างมาด้วยกัน อย่างตัวเองก็เช่นกันซึ่งอยู่ด้วยกันมานาน ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้หากไม่มีหลักประกันให้เป็นการสมรสเท่าเทียม เป็นเรื่องของชีวิตที่คนใดคนหนึ่งจะก้าวต่อไปในอนาคต เพราะเราถือว่าเราก็เป็นคนคนหนึ่งในสังคมจึงอยากให้มีความเท่าเทียมกันจริงๆ เพราะทุกคนล้วนทำมาหากินสุจริต เชื่อว่ามี LGBTQIAN+ อยู่ในทุกหน่วยงานและทุกอาชีพในประเทศไทย จึงต้องฝากความหวังสมรสเท่าเทียมกับรัฐบาลชุดใหม่ด้วย