เส้นทาง พายุไซโคลน โมคา (MOCHA) 12 พ.ค.66 ล่าสุด คาดจะแรงขึ้นได้อีก

เส้นทาง พายุไซโคลน โมคา (MOCHA) 12 พ.ค.66 ล่าสุด คาดจะแรงขึ้นได้อีก

(12 พ.ค.2566) กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทาง พายุไซโคลนโมคา (MOCHA) มีศูนย์กลางบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีก

(12 พ.ค.2566) กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทาง พายุไซโคลนโมคา (MOCHA) มีศูนย์กลางบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีกเนื่องจากพายุยังก่อตัวอยู่ในทะเล

โดย กรมอุตุฯ ระบุว่า พายุไซโคลน โมคา จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเมียนมาตอนบนหรือชายแดนประเทศบังคลาเทศในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.2566 ศูนย์กลางของพายุไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น

ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนกระจายต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ส่วนภาคกลาง กทม.และปริมณฑล ยังมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนใหญ่เป็นฝนปานกลาง

สำหรับภาคใต้ ฝนยังมีบางแห่งช่วงที่พายุกำลังเคลื่อนตัว ระบบอากาศจะถูกยกขึ้นไปด้านบน คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง เรือเล็กงดออกจากฝั่งบริเวณอันดามันตอนบน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- กรมอุตุฯประกาศ ฉ.4 พายุไซโคลน โมคา เตือนไทยเฝ้าระวังฝนตกหนัก 12-15 พ.ค.66

ขณะที่ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไซโคลน โมคา (MOCHA) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.2566 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 12-15 พ.ค. 66 บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค.66 ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 16 พ.ค.66 

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีฝนเพิ่มขึ้นและการระบายอากาศดี