โอกาสในสังคมสูงวัย | กษิดิศ สื่อวีระชัย

โอกาสในสังคมสูงวัย | กษิดิศ สื่อวีระชัย

แม้อนาคตจะมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนคือการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) ในหลายประเทศ

ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและคนทำงานอย่างมาก

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติ พบว่าสองในสามของประชากรทั่วโลกอยู่ในประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับที่จะสามารถนำไปสู่การทดแทนของประชากรได้

ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ โดยมี 32 ประเทศทั่วโลกที่มีอายุเฉลี่ยของประชากรมากกว่า 35 ปี และภายในสิ้นทศวรรษนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ครึ่งหนึ่งของประชากรใน 25 ประเทศดังกล่าวจะมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศไทย ถือว่าได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) ซึ่งมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2574 หรืออีกเพียง 8 ปีข้างหน้า

โอกาสในสังคมสูงวัย | กษิดิศ สื่อวีระชัย

ประเด็นสำคัญที่ธุรกิจและคนทำงานต้องคำนึงถึงเมื่อสังคมเข้าสู่สังคมสูงวัยมีหลายประการ เมื่อมองภาพรวมของภูมิทัศน์โลก จะพบว่าสังคมสูงวัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก (Shifting Global Markets) 

เมื่อปลายปีที่แล้ว ประชากรอินเดียได้ก้าวขึ้นมามีจำนวนมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประชากรจีนถึงจุดสูงสุดในปีที่แล้วและมีแนวโน้มจะลดลงไปตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี เป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก แต่ในปัจจุบัน ไทยและคิวบามีประชากรสูงอายุไล่เลี่ยกับกลุ่มประเทศข้างต้น

ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตของคนเป็นครั้งแรก จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนแนวโน้มของประชากรประเทศที่กำลังลดลง 

ในขณะที่เวียดนาม หรือหลายประเทศในแอฟริกากลับเต็มไปด้วยกำลังแรงงานหนุ่มสาว ที่จะส่งผลให้โอกาสในทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เปลี่ยนไป

โอกาสในสังคมสูงวัย | กษิดิศ สื่อวีระชัย

ในด้านแรงงานสูงวัยนั้น เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงมีจำนวนแรงงานใหม่ที่ลดน้อยลงทุกปี ทำให้บริษัทจำเป็นต้องขอให้พนักงานสูงอายุทำงานในองค์กรต่อไป

การลงทุนในการฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถเพื่อให้พนักงานสูงวัยสามารถปรับตัวและได้รับทักษะใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนในนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและความปลอดภัยของแรงงานสูงอายุ

เช่น อุปกรณ์โครงร่างแข็งภายนอกที่สวมใส่ได้ (wearable exoskeletons) มีความจำเป็นในอนาคต 

ในประเทศญี่ปุ่น มีตัวอย่างโรงงานและฟาร์มผลิตหัวไชเท้าดองซึ่งผู้สูงวัยได้สวมใส่อุปกรณ์โครงร่างแข็งภายนอกทำให้คนที่อายุ 70 ปีสามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อเพื่อยกน้ำหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม

ไม่เพียงแต่แรงงานที่สูงวัย ในมุมผู้บริโภค ฐานลูกค้าสูงวัยก็จะเพิ่มขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปทั่วโลกเพิ่มขึ้น 627 ล้านคน จากร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเป็นร้อยละ 12 ในอีกทศวรรษข้างหน้า

โดยร้อยละ 16 ของประชากร 8,000 ล้านคนบนโลกจะมีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งหมายถึงโอกาสอันมหาศาลสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับกลุ่มประชากรสูงอายุเหล่านี้

หนึ่งในภาคธุรกิจที่จะเห็นการเติบโตได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ การบริการดูแลสุขภาพ มีตัวอย่างสินค้าและบริการที่คาดว่าความต้องการจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ได้แก่ ยาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ (geriatric medicines) การบริการปฐมภูมิและการแพทย์เฉพาะทาง เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลหรือเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบสวมใส่ได้

หรือในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบ้านสูงอายุอาจจะมองหาขนาดบ้านที่เล็กลง หรือประชากรวัยหนุ่มสาวอาจซื้อบ้านที่มีห้องสำหรับพ่อแม่ที่แก่ชราเพิ่มมากขึ้น

การที่คนมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานในการเกษียณ (Shifting Retirement Norms) 

แม้ว่าบรรทัดฐานในการเกษียณอายุทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งมีอายุเกษียณเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 10 ปี (61 ปี เทียบกับ 71 ปี)

แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงในอนาคต คือการสร้างกลไกเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานในการเกษียณเพื่อสนับสนุนคนงานสูงวัยที่ชะลอการเกษียณอายุ 

โอกาสในสังคมสูงวัย | กษิดิศ สื่อวีระชัย

หนึ่งในกลไกดังกล่าวที่กำลังมีการพูดถึง คือ “การทำงานกึ่งเกษียณ” (semi-retirement) ได้แก่ ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น การเปลี่ยนบทบาทพนักงานสูงอายุไปเป็นที่ปรึกษา การทำงานแบบทางไกล รวมถึงชั่วโมงทำงานที่ลดลง

ตัวอย่างเช่น พนักงานอายุ 70 ปีคนหนึ่งในสหรัฐ ปัจจุบันทำงานจากบ้านแบบไม่เต็มเวลาให้กับบริษัทประกัน มีเวลาทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน สิ้นสุดเวลา 15.00 น.

พนักงานได้งานผ่านองค์กรที่จับคู่บุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปี กับ นายจ้างที่ยินดีให้พนักงานทำงานตามเวลาที่ตนเองกำหนดจากระยะไกล ซึ่งรูปแบบธุรกิจจับคู่ดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาภาพอนาคตที่เกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

ในมุมบริษัทและองค์กรต่างๆ จึงควรเตรียมรับมือกำลังแรงงานและลูกค้าที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป รวมถึงภูมิทัศน์ของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป 

ในส่วนของภาครัฐ น่าจะถึงเวลาแล้วที่จำเป็นจะต้องมีการจัดทำนโยบายด้านประชากรและผลกระทบในมิติต่างๆ เพื่อร่วมกันวางแผนนโยบายให้กับความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้.