“Dead Inside” ตายซากจากข้างใน แต่ชีวิตต้องเดินต่อไปแม้หัวใจว่างเปล่า

“Dead Inside” ตายซากจากข้างใน แต่ชีวิตต้องเดินต่อไปแม้หัวใจว่างเปล่า

รู้สึกว่างเปล่า ชีวิตไร้จุดหมาย แต่สุดท้ายก็ต้องฝืนเดินต่อไป ชวนทำความเข้าใจภาวะ “Dead Inside” หัวใจที่ไร้ชีวิตชีวา

คุณมีความรู้สึกเหล่านี้หรือไม่? เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร แต่สุดท้ายชีวิตต้องเดินต่อ เพราะจะเลิกทำงานก็ไม่ได้ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็นหายใจแบบไร้หัวใจจนเหมือนคนตายซาก หากใครมีความรู้สึกเหล่านี้คุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะ “Dead Inside” ที่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้กลายเป็น โรคซึมเศร้า ได้ในอนาคต

ภาวะ Dead Inside หรือ ความรู้สึกตายทั้งเป็น หมายถึงอาการที่ใครบางคน อธิบายความรู้สึกของตัวเองได้ยากหรืออธิบายไม่ได้เลยว่า ตอนนี้กำลังมีความสุขหรือกำลังมีความทุกข์ เนื่องจากมีแต่ความว่างเปล่าภายในจิตใจ ทำให้รู้สึกเฉื่อยชา ไม่มีพลัง ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองควรหันไปทางไหน แต่ก็ไม่ใช่การปล่อยวาง แม้ว่าจะเจอเรื่องราวดีๆ เข้ามาในชีวิต ก็มักจะปล่อยผ่านหรือเพิกเฉยไป จึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะหมดกำลังใจที่จะทำ

ดังนั้นภาวะ Dead Inside จึงเป็นลักษณะของการป่วยใจมากกว่าป่วยกาย กล่าวคือ แม้ว่าสภาพร่างกายยังปกติดี ไม่เจ็บไม่ป่วย กินได้ นอนหลับ แต่ภายในใจกลับไร้ความรู้สึก ซึ่งหากปล่อยให้เกิดภาวะนี้สะสมนานๆ เข้า อาจส่งผลให้กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ในอนาคต

  • เช็กสักนิดเราเข้าข่าย Dead Inside หรือไม่?

สำหรับอาการเบื้องต้นของภาวะ “Dead Inside” นั้น สามารถสังเกตความผิดปกติได้ ดังนี้ 

- รู้สึกไร้จุดหมาย

ผู้ที่มีภาวะ Dead Inside จะไม่มีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ไม่มีความพยายามในการทำงานออกมาให้ดีขึ้น เพราะไม่ได้หวังจะเลื่อนตำแหน่ง รู้สึกไม่มีแรงที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของแต่ละวัน จะรู้แค่ว่ามีหน้าที่ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เท่านั้น

- เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิต

เมื่อคนเราไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตแล้ว ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” หรือ “เราเกิดมาทำไม” รวมถึงคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ต่อไปของตัวเอง

- รู้สึกเฉื่อยชาและด้านชา

เริ่มมีความรู้สึกไม่ยินดียินร้ายไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น หรือตกอยู่ในสถานการณ์ใด ใช้ชีวิตแบบไม่มีทั้งความสุขและความทุกข์

- มีความรู้สึกอ้างว้าง

คนส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในภาวะ Dead Inside มักจะเริ่มตีตัวออกห่างจากสังคม ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ เพื่อนร่วมงาน ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเหมือนกับเมื่อก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างภายในใจ

  • ทำไมบางคนจึงเกิดภาวะ Dead Inside?

- มีภาวะซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นโรคทางอารมณ์ที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ป่วยสร้างอารมณ์เศร้าขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง และอาจมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายด้วย เช่น กินได้น้อยลง นอนไม่หลับ หรือมีความเจ็บปวดทางร่างกายที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง เป็นต้น

แต่อาการที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้าคือ ความรู้สึกว่างเปล่า ดังนั้นหากใครเริ่มรู้สึกว่ามีภาวะ Dead Inside อาจมีความเสี่ยงจะเป็นภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

- ภาวะเครียดหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ Post-traumatic stress disorder (PTSD) จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในความรู้สึกหลายอย่าง เช่น ฝันร้าย มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ หรือ รู้สึกไม่เป็นตัวเอง

- ใช้ยาในการรักษาภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ทำให้ส่งผลต่อการประมวลผลของอารมณ์

- เกิดปฏิกิริยาการระงับอารมณ์ เนื่องจากการจัดการกับอารมณ์ที่มีความหลากหลายเป็นเรื่องยาก บางคนจึงสร้างกลไกในการรับมืออารมณ์เชิงลบขึ้นมา แต่ก็อาจนำไปสู่ภาวะ Dead Inside ได้ง่ายเช่นกัน

- มีภาวะ เหมือนตื่นและฝันในเวลาเดียวกัน หรือ Depersonalization ซึ่งทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า “ความจริงวิปลาส” เป็นภาวะที่ตัดขาดกับร่างกาย อารมณ์และความคิดของตัวเอง เป็นเหมือนภาชนะว่างเปล่าหรือหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่งของคนอื่น และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะขยับแขนขาของตัวเองได้ แต่ก็ยังคิดว่าเป็นเพราะถูกคนอื่นสั่งการมาอีกที

- มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง หรือ Borderline Personality Disorder โดยผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่างเปล่าเรื้อรังเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาการผิดปกติที่เด่นชัดในภาวะดังกล่าว

สุดท้ายแล้ว ความรู้สึกว่างเปล่าวหรือภาวะ Dead Inside นั้น อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญมักเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็จะหายไปเอง แต่สำหรับใครที่มีความรู้สึกนี้นานเกินไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะรบกวนการทำงานก็จำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อ้างอิงข้อมูล : Brand Think และ Alljit