3 แนวคิดบริหารคนและทีม 'พลินี คงชาญศิริ' ขับเคลื่อน 'เมกาบางนา'

3 แนวคิดบริหารคนและทีม 'พลินี คงชาญศิริ' ขับเคลื่อน 'เมกาบางนา'

กว่า 8 ปี ในการก้าวเข้ามาเป็นครอบครัวของ 'เมกาบางนา' ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเติบโตเป็นศูนย์การค้าที่มีลูกค้าแวะเวียนกว่าปีละ 50 ล้านคน แต่ 'พลินี คงชาญศิริ' ในฐานะผู้บริหาร กลับมองว่าความท้าทายยังเกิดขึ้นทุกปี เพราะยิ่งดีก็ต้องคิดแล้วว่าปีหน้าจะดีกว่านี้ได้อย่างไร

'พลินี คงชาญศิริ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารเมกาบางนา และโครงการเมกาซิตี้ บอกเล่าให้กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ฟังว่า รู้จักที่นี่ตั้งแต่ลงเสาเข็มเพราะขับรถผ่านทุกวัน จนเสร็จเป็นรูปเป็นร่างจึงตัดสินใจยื่นใบสมัคร เพราะอยู่ใกล้บ้าน และได้ร่วมงานกับศูนย์การค้าเมกาบางนาเมื่อปี 2557 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่า กระทั่งได้รับความไว้วางใจเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาจนมารับหน้าที่รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (EVP) Deputy Shopping Centre Manager ในปี 2561 และขึ้นเป็น 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' ในปัจจุบัน

 

'เมกาบางนา' ซึ่งมีร้านค้าในพื้นที่มากกว่า 900 ร้านค้า รวมถึงร้านอาหาร เครื่องดื่ม มากกว่า 165 ร้าน และในปีนี้จะมีผู้เช่าใหม่เพิ่มอีกมากกว่า 100 ร้าน ขณะเดียวกัน หากมองในภาพรวมพื้นที่ของเมกาบางนา และเมกาซิตี้ มีทั้งหมดกว่า 400 ไร่ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ถูกบริหารงานด้วยทีมงานจำนวนเพียง 120 คนเท่านั้น

 

“หน้าที่ของเราคือ การสร้างเมกาบางนาให้เป็น Your Everyday Meeting Place พื้นที่ที่สร้างสรรค์ช่วงเวลาดีๆ ให้กับลูกค้าได้ในทุกวัน ดังนั้น จึงครอบคลุมตั้งแต่การวางแนวนโยบาย และ Marketing Direction&Strategy ของศูนย์ฯ การดึงดูดร้านค้าผู้เช่าที่ตอบโจทย์เทรนด์และความต้องการของลูกค้า การดูแลพาร์ตเนอร์ผู้เช่า และพัฒนาโครงการเมกาซิตี้ รวมไปถึงคอยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า สร้างความประทับใจให้ลูกค้าทุกครั้งที่มาเมกาบางนา”

 

 

3 แนวคิดบริหารคนและทีม \'พลินี คงชาญศิริ\' ขับเคลื่อน \'เมกาบางนา\'

 

3 หลักคิดบริหารงานและทีม

 

ทั้งนี้ ความต้องการสร้างศูนย์การค้าแห่งนี้ให้เป็นมากกว่าแหล่งชอปปิง แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ดังนั้น ในฐานะผู้บริหาร 'พลินี' เผยแนวคิดว่า ต้องครอบคลุม 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น 

 

'การบริหารทีม' เมกาบางนามีจำนวนพนักงานไม่มากนัก สามารถทำงานได้แบบ Multi-function เพราะฉะนั้นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและหลากหลายเป็นสิ่งที่จำเป็น จึงมีการพัฒนาพนักงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งการอบรมจากองค์กรภายนอกเฉพาะทาง หรือจัดทำ Workshop ภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้พนักงานกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน

 

อีกทั้งเป็นองค์กรที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูง (Simplicity) มีความเป็นทีมเวิร์กสูงมาก ทุกทีมทุกฝ่ายพร้อมที่จะซัพพอร์ตงานของแต่ละแผนกอย่างเต็มที่เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ในออฟฟิศจะไม่มีการแบ่งห้อง แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย และไม่รู้สึกกลัวหากต้องเดินเข้าไปปรึกษาผู้บริหาร ส่งผลให้ทำงานได้เร็วขึ้น มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน

 

3 แนวคิดบริหารคนและทีม \'พลินี คงชาญศิริ\' ขับเคลื่อน \'เมกาบางนา\'

 

“เป้าหมายของเราจะชัดเจนมากและทำงานตามแผน มี Framework ที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และที่เหลือคือ การ Follow up โดยจะมีการพูดคุยกันทุกเดือน ทุกแผนก แชร์ข้อมูลกันทั้งหมด ทุกคนเป็นมดตัวน้อยที่มีความสำคัญ รวมถึงแม่บ้านและ รปภ. ซึ่งถึงแม้จะเป็น Outsource แต่หากเขาทำดี เช่น การเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ จับขโมย ก็จะให้รางวัลเพราะเขาเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เขาภูมิใจ เป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง และถือเป็นการ Empower”

 

ถัดมาคือ 'การบริหารงานผู้เช่า' ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในธุรกิจศูนย์การค้า ที่จะดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ดังนั้น การบริหารความหลากหลายของร้านค้า (Tenant Mix) อย่างรอบคอบจึงสำคัญ ต้องยึดมั่นคำสัญญา สร้างความมั่นใจ ให้กับผู้เช่าที่ถือว่าเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี

 

และสุดท้ายคือ 'การบริหารความคาดหวังของลูกค้า' ตลอด 10 ปีของการก่อตั้งเมกาบางนา เราได้ต้อนรับลูกค้าถึง 500 ล้านคน ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก (Primary target) ของเมกาบางนามีจำนวนกว่า 5 ล้านคน ที่อยู่ในระยะสามารถขับรถมาใช้บริการที่ศูนย์การค้าได้ภายใน 15-30 นาที ดังนั้น ความตั้งใจคือการสร้างพื้นที่ที่สามารถสร้างสรรค์ช่วงเวลาดีๆ ได้ในทุกวัน ด้วยสินค้าและบริการครอบคลุมทุกความต้องการและประสบการณ์

 

'ทำงาน' ต้องไม่หยุดพัฒนา

 

การทำงานตั้งแต่วันที่เมกาบางนามีลูกค้าปีละ 29-30 ล้านคน จนปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาแวะเวียนปีละกว่า 50 ล้านคน และดูเหมือนว่าอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะ 'ผู้บริหารเมกาบางนา' มองว่าความท้าทายมีตลอดและไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จ เพราะต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ

 

“ความท้าทายเกิดขึ้นทุกปี ยิ่งเราดี ก็ต้องคิดแล้วว่าปีหน้าจะดีกว่านี้ได้อย่างไร มีอะไรที่ยังทำให้ดีกว่านี้ได้อีก และยังขาดอะไรอีก ความท้าทายไม่ใช่แค่การสู้กับศูนย์การค้าในย่าน แต่สู้กับทุกแห่งใน กทม. ดังนั้น หากมีวันหยุดลูกค้าจะเลือกไปที่ไหน นี่คือโจทย์ที่ผู้บริหารศูนย์การค้าจะต้องวางแผน เพื่อให้ตอบโจทย์ Experience&Value คือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ลูกค้าจะได้รับกลับไปที่มากกว่าสินค้าและบริการที่มีอยู่”

 

ขณะเดียวกัน หากจะให้มองภาพในอนาคตของเมกาบางนาก็คือภาพที่เราเห็นมาตั้งแต่ก่อตั้ง นั่นคือการสร้างเมืองที่สมบูรณ์แบบ ให้ผู้คนสามารถได้ใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงได้อย่างมีคุณภาพ เดินทางได้อย่างสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และยังเหมาะกับกลุ่ม Community อื่นๆ ทั้ง Family&Friend, Pet lover, Senior, Food Lover, Aging Society รวมไปถึง LGBTQ+ อีกด้วย

 

งาน-ชีวิตเดินไปพร้อมกัน

 

สำหรับเคล็ดลับการแบ่งเวลาทำงาน ครอบครัว และดูแลสุขภาพ 'พลินี' บอกว่า ไม่เคยมีแนวคิด Work-life Balance แต่มีแนวคิดให้งานกับชีวิตมันเดินไปพร้อมๆ กัน การที่ย้ายมาทำงานที่นี่เพราะใกล้บ้าน ใกล้โรงเรียนลูก ใช้เวลาไม่นานในการเดินทาง ลูกเติบโตมากับศูนย์ฯ ตั้งแต่ 4 ขวบ ทำให้ได้เรียนรู้ความต้องการของลูก เพื่อนลูก และเพื่อนร่วมงาน มาเป็นข้อมูลเสริมจากการสำรวจความต้องการของลูกค้า ในการเลือกร้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในศูนย์การค้า

 

“เรียกว่าทำงานทุกวัน แต่เป็นการทำงานที่เราชอบ มาทำงานที่เมกาบางก็เหมือนกับการมาเที่ยว อย่างน้อยไปทานข้าวเที่ยงก็ได้เห็นร้านค้า อัปเดตสิ่งใหม่ๆ ขณะที่การดูแลสุขภาพ จะเน้นในเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทานอาหารที่มีประโยชน์ และต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี” พลินี กล่าวทิ้งท้าย

 

3 แนวคิดบริหารคนและทีม \'พลินี คงชาญศิริ\' ขับเคลื่อน \'เมกาบางนา\'