เปิด “เงินเดือน” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คุ้มค่าไหมกับภัยที่ต้องเสี่ยง?

เปิด “เงินเดือน” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คุ้มค่าไหมกับภัยที่ต้องเสี่ยง?

ข่าวการเสียชีวิตของ “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” ในไทยมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งจากสัตว์ร้ายและฝีมือมนุษย์ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า “เงินเดือน” ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ คุ้มค่ากับการทำงานที่ต้องเสี่ยงชีวิตหรือไม่

เกิดเรื่องน่าเศร้าในแวดวงเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกครั้ง เมื่อ เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แสดงความอาลัยต่อการจากไปของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี ถูกยิงเสียชีวิตขณะเข้าจับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เมื่อคืนวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา

แม้ว่าปฏิบัติการครั้งดังกล่าวจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ แต่ก็ต้องแลกกับชีวิต “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” ที่ไปหนึ่งคน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมอุทยานฯ ต้องสูญเสียบุคลากรน้ำดีไป เพราะก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในป่ามากมาย ทั้งจากเหตุปะทะกับผู้ลักลอบกระทำผิด และจากการถูกสัตว์ป่าทำร้าย ส่วนใหญ่มักเกิดเหตุร้ายในพื้นที่ป่าลึกกว่าคนเจ็บจะได้รับการช่วยเหลือก็สายเกินไป

หลังจากการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนล่าสุด ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามว่า “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวเข้าไปอาศัยอยู่กินในป่า ต้องคอยออกลาดตระเวนอยู่เป็นประจำ และต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมจึงมีฐาน “เงินเดือน” ที่สวนทางกับหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดชอบ

  • เปิด “เงินเดือน” เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ขั้นต่ำไม่ถึงหมื่น

สำหรับหน้าที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าระดับปฏิบัติการ ส่วนใหญ่จะมีหน้าที่หลักคือทำงานในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหนักและจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาน่าจะมีเงินเดือนดีเพราะลักษณะงานที่ทำนั้นต้องการการเสียสละชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า “เงินเดือน” ของเจ้าหน้าที่บางคนเริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท อีกทั้งยังพบว่าหน่วยงานด้านการพิทักษ์ป่าก็ถูกตัดงบประมาณออกไปทุกปี

จากข้อมูลประกาศรับสมัครงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมอุทยานฯ ในหลายระดับพบว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,900 - 9,000 บาท และค่าเสี่ยงภัย 1,500 บาท ต่อครั้ง เมื่อต้องออกลาดตระเวนในป่า ส่วนงบในการรักษาพยาบาลหากได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็มีจำกัด เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนมากไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่เป็นเพียงพนักงานราชการตามสัญญาจ้าง จึงไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการทั่วไป มีเพียงสิทธิบัตรทองเหมือนประชาชนธรรมดาเท่านั้น

นอกจากนี้ข้อมูลจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 พบว่า งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนี้

  • ปี 2563 ได้งบประมาณ 11,450 ล้านบาท 
  • ปี 2564 ได้งบประมาณ 11,422 ล้านบาท 
  • ปี 2565 ได้งบประมาณ 11,333 ล้านบาท

แม้ว่าหลังจากนั้นทางกระทรวงจะทำหนังสือขอเบิกงบประมาณเพิ่มได้สำเร็จ แต่เงินเดือนอัตราจ้างของเจ้าหน้าที่ทักษ์ป่าก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สังเกตได้จากข้อความประกาศรับสมัครงานในสายดังกล่าวล่าสุด ที่ระบุว่า “จ้างเหมาพนักงานจำนวน 3,999 อัตรา ในอัตราจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 7 เดือน ระหว่าง มี.ค.-ก.ย. 2565”

  • ผู้พิทักษ์ป่าเป็นใคร ทำอะไร และมีความเสี่ยงมากแค่ไหน

“เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” สังกัดอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตำแหน่งที่ต้องทำงานให้กับ 3 กรมสำคัญ ได้แก่ กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีหน้าที่ดูแลผืนป่าในบริเวณที่แตกต่างกันไปตามกรมที่ตัวเองสังกัดอยู่

ข้อมูลของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 20,000 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่เขตอนุรักษ์ทั่วประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาถึงขนาดผืนป่าสมบูรณ์ในไทยพบว่ามีพื้นที่ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯ 81.5 ล้านไร่ ดังนั้น เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเฉลี่ย 1 คน จะต้องดูแลพื้นป่ามากถึงประมาณ 5,000 ไร่

สำหรับหน้าที่หลักๆ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือ การปกป้องดูแลผืนป่า เช่น เดินลาดตระเวนและเฝ้าระวังไม่ให้ทรัพยากรของชาติถูกทำลาย ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า รวมถึงเก็บข้อมูลต่างๆ ภายในป่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลและพัฒนาป่าต่อไป โดยการออกลาดตระเวนนั้น จะต้องเดินทางเข้าป่าเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 คืน โดยใช้เจ้าหน้าที่ 8-10 คน

แน่นอนว่าการทำงานของผู้พิทักษ์ป่านั้นก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การกินอยู่ค่อนข้างลำบากหากเทียบคนที่ทำงานในเมือง แต่ที่น่าเป็นห่วงไปมากกว่านั้นคือการที่พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรคภัยที่มาจากป่า การเผชิญหน้ากับขบวนการล่าสัตว์ตัดไม้ที่มีอาวุธ หรืออาจต้องพบเจอภัยร้ายจากสัตว์ป่าและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจึงได้เห็นข่าวเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิตจากเหตุต่างๆ เหล่านั้นอยู่เสมอ

นอกจากนี้ข้อมูลจากโครงการ “ใครรักป่ายกมือขึ้น” ระบุว่า จากปี 2561 ถึงปัจจุบันมีเจ้าหน้าผู้พิทักษ์ป่า เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด 31 คน บาดเจ็บ 64 คน และ ทุพพลภาพ 3 คน

สัตว์ป่าและป่าไม้ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลอย่าง “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” กลับต้องแบกรับความเสี่ยงไว้มากมาย แม้ว่าหลายคนจะเลือกทำอาชีพนี้เพราะใจรักในผืนป่า แต่กำลังใจและสวัสดิการที่ดีก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขามีกำลังแรงใจในการเดินหน้าดูแลผืนป่าแทนคนไทยต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : The Matter, มูลนิธิโลกสีเขียว และ เทใจ