เด็กพลัดหลง และ ภัยออนไลน์ คำเตือนต้องรู้ วันเด็กแห่งชาติ 2566

เด็กพลัดหลง และ ภัยออนไลน์ คำเตือนต้องรู้ วันเด็กแห่งชาติ 2566

ก่อนไปเที่ยว เด็กพลัดหลง และ ภัยออนไลน์ คำเตือนต้องรู้ วันเด็กแห่งชาติ 2566 เตือนผู้ปกครอง แนะ 5 ข้อป้องกัน และพฤติกรรม Sharenting ของพ่อแม่ยุคใหม่

เด็กพลัดหลง และ ภัยออนไลน์ กับ วันเด็กแห่งชาติ 2566 ด้านรองโฆษก ตร. ออกโรงเตือนผู้ปกครอง พึ่งระวังเด็กพลัดหลง ช่วงงานวันเด็ก แนะ 5 ข้อป้องกัน และพฤติกรรม Sharenting ของพ่อแม่ยุคใหม่

วันที่ 13 มกราคม 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานไปเที่ยวช่วงเทศกาลงานวันเด็กแห่งชาติ ให้ระมัดระวัง พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเด็กพลัดหลง

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการงดจัดงานวันเด็กแห่งชาติไปถึง 2 ปี ซึ่งในปีนี้ วันเด็กแห่งชาติจะตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ปกครองพาบุตรหลานไปเที่ยวงานวันเด็กที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการป้องกัน บุตรหลานพลัดหลงในงานวันเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีข้อแนะนำดังนี้

1. ก่อนออกจากบ้าน ควรเขียน ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง ติดตัวไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของเด็ก โดยควรมีเบอร์โทรศัพท์สำรองมากกว่า 1 หมายเลข

2. ถ่ายรูปล่าสุดของเด็กก่อนออกจากบ้าน เพื่อสามารถจดจำชุดที่เด็กสวมใส่ได้ เวลาเกิดเหตุพลัดหลงจะได้สามารถให้ข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์ติดตามหาตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

3. สำหรับเด็กเล็ก ขอความร่วมมือผู้ปกครองควรต้องจูงมือไว้ตลอดเวลา หรืออาจใช้อุปกรณ์ในการช่วยจูง เช่น เป้จูง เป็นต้น

4. ผู้ปกครองควรบอกกล่าว สถานที่นัดพบ เส้นทาง จุดสังเกต หากเกิดกรณีพลัดหลง จะนัดเจอกันจุดไหน การแจ้งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานที่นั้นๆ โดยอาจแนะนำเด็ก ให้มองหาตำรวจ หรืออาสาสมัครกู้ภัย หน่วยปฐมพยาบาลที่สวมชุดเครื่องแบบ เพื่อที่จะจดจำได้ง่าย

5. หากเกิดเหตุพลัดหลงในพื้นที่ ให้ผู้ปกครองรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทันที เพื่อช่วยออกค้นหาเบื้องต้น หากการค้นหาในพื้นที่ไม่พบตัวเด็กที่พลัดหลง ให้รีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชม.

รองโฆษกตำรวจ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ผู้ปกครองนิยมโพสต์รูปลูกลงในโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแค่อยากจะส่งต่อความน่ารักนี้ให้คนอื่นได้เห็น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวบุตรหลานในอนาคตได้

ทั้งนี้พฤติกรรม Sharenting ของผู้ปกครอง คือ Share + parenting ใช้เรียกพฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ เช็คอินตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไป เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย เสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์

เช่น การถูกขโมยตัวตน (Identity Theft) สวมรอยเหยื่อนำข้อมูลส่วนตัวไปกระทำผิดกฎหมาย หรือนำภาพเด็กไปสร้างเรื่องราวขอรับเงินบริจาคต่างๆ ปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การนำภาพเด็กไปขายในเว็บมืด (Dark web) หรือนำไปเพื่อใช้ตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก (Pedophile) หรือนำไปเเสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ เป็นต้น

รองโฆษก กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 คือ “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” เพื่อเป็นข้อคิดคติเตือนใจกับเด็กๆและเยาวชน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ในช่วงวันเด็กซึ่งอาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสก่อเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือกระทำผิดต่อเด็กในลักษณะต่างๆ จึงได้สั่งการ ตร. ทุกหน่วยทั่วประเทศดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุต่างๆ

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยดูแลความปลอดภัยและเพิ่มความเข้มในการตรวจตรา เฝ้าระวังพื้นที่จุดเสี่ยง สถานที่จัดกิจกรรมวันเด็ก เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมต่างๆ และฝากประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง หากพบเหตุการณ์ บุคคล หรือวัตถุต้องสงสัย โปรดแจ้ง 191 หรือ 1599