เช็กสภาพจิตใจ เราเข้าข่าย “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล” หรือไม่?

เช็กสภาพจิตใจ เราเข้าข่าย “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล” หรือไม่?

สำรวจใจกันหน่อย! หากคุณกำลังมีความรู้สึกไม่ยินดีกับความสุขหรือความสำเร็จของคนอื่น ยอมแพ้ไม่ได้ในบางเรื่อง หรือเห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ และความรู้สึกเหล่านี้ก่อตัวมากขึ้นเรื่อนๆ จนหยุดคิดไม่ได้ อาจนำไปสู่ “ภาวะอิจฉาคนอื่น” และ “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล”

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่แปลกที่แต่ละคนจะมีอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป รวมถึงมีความ “ความอิจฉาริษยา” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ถ้ามีมากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง และอาจเสี่ยงเป็น “ภาวะอิจฉาคนอื่น” ได้ด้วย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความอิจฉาริษยานั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การไม่มีความเคารพ ความเมตตา และความรักต่อคนอื่น หรือมีความรู้สึกว่าเห็นคนอื่นไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ตัวดีกว่าตัวเองไม่ได้ มองคนรอบตัวเป็นคู่แข่ง หรือ เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อยครั้งโดยที่ไม่รู้ตัว เป็นต้น

สำหรับ “การเปรียบเทียบ” เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ต้องพบเจอตลอดช่วงชีวิต เมื่อคนเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหมู่มาก เราจึงพยายามหาบรรทัดฐานมาเป็นสิ่งชี้วัดตัวตนของเราเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความคาดหวังของสังคม แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับการเปรียบเทียบมากเกินไปก็อาจเสียสุขภาพจิตได้

ที่สำคัญในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจและใช้เวลาไปกับ “โลกโซเชียล” ค่อนข้างมาก ทำให้รับรู้ความเป็นไปของชีวิตคนอื่นๆ ได้ตลอดเวลา แม้ไม่ได้พบเจอกันเป็นประจำ จนทำให้หลายคนเผลอเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตคนอื่นที่มักจะแชร์ด้านดีๆ ของชีวิตลงบนโซเชียล ส่งผลให้เป็น “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล” ได้โดยไม่รู้ตัว

แท้จริงแล้วทั้ง “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล” และ “ภาวะอิจฉาคนอื่น” นั้น มีความใกล้เคียงกันคือ มักจะเกิดการเปรียบเทียบและเห็นคนอื่นดีกว่าตัวเองไม่ได้ โดยมีพื้นฐานมาจากปัญหาเดียวกันคือ “ความรู้สึกอิจฉา” ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ รวมไปถึงการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นหรือพี่น้องแท้ๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จนกลายเป็นปมมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อมาเจอชีวิตดีๆ ของคนอื่นในโซเชียลก็ยิ่งทำให้รู้สึกแย่มากขึ้น

เนื่องจากความรุนแรงของภาวะความทุกข์ใจจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกโซเชียล ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันทางจิตใจของแต่ละคน บางคนสามารถใช้เป็นแรงผลักดันได้ดี แต่หลายคนกลับยิ่งมีความทุกข์ มีความคิดจมดิ่งอยู่กับความไม่พอใจในตัวเอง คิดมากซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดความวิตกกังวลและความเครียดสะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า กลายเป็นคนมองโลกแง่ร้าย ตัดสินตัวเองเป็นคนไร้ค่า

  • เมื่อรู้สึกว่ามีความอิจฉาเกิดขึ้น ควรแก้ไขอย่างไร?

1. สำรวจตัวเองเพื่อสาเหตุของความรู้สึกอิจฉาว่าความต้องการที่แท้จริงคืออะไร แล้วจึงถอยออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้น สงบจิตใจและยอมรับความจริง

2. พยายามยอมรับความรู้สึกอิจฉาของตัวเพื่อที่จะเข้าใจสาเหตุขว่าเกิดจากอะไร

3. พยายามมองทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง เปิดใจรับความคิดใหม่ๆ พยายามใช้กระบวนการคิดด้วยเหตุและผล ทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่าง

4. หาจุดเด่นของตัวเองเพราะแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ลองพัฒนาจุดเด่นของตัวเองให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองเพื่อแก้ไขและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

แม้ว่าภาวะอิจฉาคนอื่นจะไม่ใช่โรคทางจิตเวช หรือมีความรุนแรงต่อความรู้สึกมากนัก แต่ก็ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจได้เช่นกัน และหากไม่สามารถควบคุมหรือเอาชนะได้ ก็อาจทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไป ได้แก่ ความรุนแรงทางคำพูดหรือการกระทำ เป็นต้น และถ้าความอิจฉาทำให้หยุดเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ได้ การใช้โซเชียลมีเดียก็ยิ่งอันตรายต่อสุขภาพจิต เพราะจะนำไปสู่ “โรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล”

  • สังเกตให้เท่าทัน อาการโรคเปรียบเทียบตัวเองในโลกโซเชียล เป็นแบบไหน?

​1. ติดนิสัยใช้โซเชียลมีเดียมาก และมักติดตามความเคลื่อนไหวของคนอื่นตลอดเวลาว่า ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง กินอะไร หรือซื้ออะไรบ้าง

​2. เกิดความรู้สึกทางลบต่อสิ่งที่พบเห็นในโซเชียลมีเดีย มีความรู้สึกอิจฉา โกรธและไม่พอใจที่เห็นความสำเร็จหรือมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับคนอื่น  ไม่มีความสุข

​3. รู้สึกยอมรับสภาพว่าตัวเองคงไม่สามารถทำได้หรือมีได้เหมือนคนอื่น รู้สึกว่าถูกลดทอนคุณค่าและความมั่นใจในตัวเอง เกิดความรู้สึกในทางลบที่มีต่อตัวเอง

​4. เกิดความรู้สึกอยากได้ อยากมี หรืออยากทำตามเหมือนกับคนอื่น แม้ว่าสิ่งนั้นหรือเรื่องราวนั้นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมและมีความจำเป็นสำหรับตัวเอง นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน ทำเรื่องที่ผิด หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยขาดการไตร่ตรอง

​5. เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปด้วยการพยายามเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นในโลกออนไลน์ รู้สึกดีที่ได้นำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองดูดี ได้รับการยอมรับและคำชื่นชมจากคนอื่น แต่จะรู้สึกแย่ทันทีหากตัวเองไม่ได้รับความสนใจอย่างที่คิดไว้

สุดท้ายนี้ต้องยอมรับว่า “โซเชียลมีเดีย” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้และเป็นดาบสองคมที่มีพลังทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นจึงควรตรวจสอบความสมดุลในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ โดยการจัดการชีวิตอย่างเหมาะสมทั้งในโลกความเป็นจริงและในโลกออนไลน์ 

ที่สำคัญ.. ควรสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่มีตัวตนจริงมากกว่าให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในโลกโซเชียล แต่ถ้าหากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการความรู้สึกด้านลบได้ การพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพจิตใจให้มั่นคงแข็งแรง

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, Alljit และ Neuro Genius