จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทย เครียดสูง โดยพบ 12% ในจำนวนนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย นักวิชาการเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมออกแบบวิธีแก้ไข และดูแลปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาไทยแบบเชิงรุก

แม้สถานการณ์โควิดในไทยจะคลี่คลายแล้ว แต่ผลกระทบของมันยังอยู่กับเราไปอีกยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงินส่วนบุคคล ปัญหาปากท้อง รวมถึง "ปัญหาสุขภาพจิต" ของเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องทนทุกข์ไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่เลย

ล่าสุด (ณ พ.ย. 65) มีผลสำรวจจาก สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส. และ อว. ร่วมหาทางออกด้านสุขภาวะนิสิตนักศึกษาไทย หลังพบความเครียดสะสมเพิ่มขึ้นในยุคหลังโควิด 

จากตัวเลขการวิจัยขององค์การอนามัยโลก รายงานว่าช่วง “ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19” มีคนทั่วโลก 300 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามี สถิติการฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (เฉลี่ย 6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน) รองจากภูมิภาคยุโรป 

ต่อมาในช่วง “หลังวิกฤติโควิด” แม้สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้น แต่ผู้คนยังคงเกิดความเครียดสะสมต่อเนื่อง จนทำให้ตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าและยอดฆ่าตัวตายยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการฯ นี้ว่า เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนทั้งสิ้น 9,050 ราย จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายจำนวน 15 แห่ง จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยผลการสำรวจพบว่า 

  • 30% ของนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง รู้สึกเครียดและเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ในจำนวนนี้มีสัดส่วน 4.3% ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) 
  • 40% ของนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยกว่า 4% ในจำนวนนี้เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา, 12% เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเอง, 1.3% ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจในหัวข้อต่างๆ อีกมากมายที่สะท้อนถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจของนักศึกษาไทย ได้แก่ 

1. เนือยนิ่งสูงขึ้น กินข้าวไม่ตรงเวลา ออกกำลังกายลดลง
พบว่านักศึกษาไทยรับประทานอาหารเช้าลดลง การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พฤติกรรมออกกำลังกายลดลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการ “เรียนออนไลน์” จึงส่งผลให้มีค่าดัชนีมวลกายไม่เหมาะสม โดย 1 ใน 4 เผชิญกับภาวะผอม และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน และมีอาการออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น

2. พฤติกรรมสูบบุหรี่-ดื่มเหล้าสูง
พบการสูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัยสูงกว่า 40% และ 9% มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ส่วนการใช้สารเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา กระท่อม พบได้น้อย 0.4% ที่ใช้บ่อยครั้ง และอีก 2% ที่ใช้บ้างนานๆ ครั้ง

3. พฤติกรรมความปลอดภัย คาดเข็มขัดนิรภัย 60%
พบว่ามีพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะใช้รถเพียง 60% ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 1 ใน 3 ที่สวมหมวกนิรภัยขณะใช้จักรยานยนต์ และ 15% เผยว่าเคยมีการขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา 

จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

4. เพศสภาพและพฤติกรรมทางเพศ
พบว่า 1 ใน 4 เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยแบ่งเป็นนิสิตนักศึกษาชาย 33.4% นิสิตนักศึกษาหญิง 27.9% และกลุ่ม LGBTQIA+ 19.9% ส่วนการสำรวจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยนั้น พบว่าส่วนใหญ่ใช้เป็นหลัก 46.6% แต่ยังมี 5% ที่ไม่ได้ป้องกัน

5. เด็กไทยมีภาระหนี้ กยศ. มากที่สุด
พบว่านักศึกษาครึ่งหนึ่งไม่มีหนี้สินทางการเงิน ส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีภาระหนี้สิน ซึ่งพบมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยเกือบ 40% เป็น “หนี้ กยศ.” ส่วนในลำดับถัดๆ มาเป็นหนี้ค่าเล่าเรียน, หนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, หนี้ค่าที่พักอาศัย, หนี้หวย, หนี้พนันบอล 

6. "ความเครียด" กระทบต่อการเรียนมากที่สุด
พบว่าความเครียดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนมากที่สุดถึง 20% รองลงมาคือ ปัญหาทางการเงิน 11.5% , ความวิตกกังวล 10.7% , คิดถึงบ้าน 9.3% , ปัญหาการนอนหลับ 7.9% , ปัญหาด้านสมาธิ  7.7% , ปัญหาการติดสื่อโซเชียลและเกม 5% 

7. ถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด 32.2%
พบว่าส่วนใหญ่ 87.7% ไม่เคยโดนกระทำความรุนแรงหรือการถูกล่วงละเมิด ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ระบุว่าเคยโดนกระทำด้วยการถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด 32.2% , ถูกคุกคามทางวาจา 32.0% , ถูกลวนลาม 8.9% 

จุฬาฯ เผย 40% ของนศ.ไทยเครียดสูง และ 12% ในนั้นเคยทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย

ดร.ศิริเชษฐ์ ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทย จำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายภายใต้ 2 แนวทาง คือ 

  • พัฒนาฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย

โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแนวทางการเฝ้าระวังหรือป้องกันแบบ “เชิงรุก” ผ่านการตอบแบบสอบถาม “แบบประเมินสุขภาวะระดับมหาวิทยาลัย” ในรูปแบบออนไลน์ 

  • สร้างกลไกเพื่อนช่วยเพื่อน (Health-me Buddy)

เน้นการเฝ้าระวัง จัดทำกลไกนี้ขึ้นเพื่อเสริมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัย ในการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการอบรมและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายและจิตวิทยา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) กล่าวว่า แผนการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย (เด็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในระยะเวลาต่อไป 

แนวโน้มพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพของนิสิตนักศึกษา เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมทางเพศ ยาเสพติด การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การกลั่นแกล้ง ฯลฯ อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมและสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

---------------------------------------

อ้างอิง : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย