สธ. เตือน! "PM 2.5" แนวโน้มเพิ่มขึ้น กทม. พบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม

สธ. เตือน! "PM 2.5" แนวโน้มเพิ่มขึ้น กทม. พบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม

กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 เริ่มเพิ่มขึ้น พื้นที่กทม.บางจุดคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม หรือฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. วันนี้พบค่าฝุ่นในระดับสีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ ดังนั้น ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นก่อนออกนอกบ้านจากเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจะระบุค่าดัชนีคุณภาพอากาศ พร้อมระดับสี และคำแนะนำในการปฏิบัติตัว ดังนี้
 

- สีฟ้า ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 0-25 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว, 

- สีเขียว 26-37 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

- สีเหลือง 38-50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

- สีส้ม 51-90 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น 

สธ. เตือน! \"PM 2.5\" แนวโน้มเพิ่มขึ้น กทม. พบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม
 

ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ ส่วนสีแดง ค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ ขอให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่  เน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรช่วยกันลดการสร้างมลพิษทางอากาศ เช่น การใช้เตาถ่าน การจุดธูปเทียน การเผาขยะ เป็นต้น