ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” คำกล่าวนี้คงจะไม่เกินจริงเมื่อคำนึงถึงการมีประจำเดือนของผู้หญิง ประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้หญิงทุกคนตามธรรมชาติเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

แม้ผู้เขียนเป็นผู้ชายซึ่งไม่อาจมีประจำเดือนได้ แต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้จากคนในครอบครัวว่า การมีประจำเดือนนั้นอาจส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ หรือมีอารมณ์แปรปรวน เหล่านี้สร้างความทุกข์ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของผู้หญิง

นอกจากนั้นแล้ว การมีประจำเดือนถือเป็นภาระทางการเงินอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่จะต้องหาซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนมาใช้เพื่อดูแลสุขอนามัยของตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือน เช่น ผ้าอนามัย

ดังนั้น การนำเงินมาซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้น้อย หรือมีฐานะลำบาก ส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือน จึงเกิดเป็นปัญหาที่เรียกว่า “ความจนประจำเดือน” (period poverty)

ปัญหาความจนในช่วงมีประจำเดือน คือ ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่สามารถจ่ายหรือเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนที่เหมาะสมได้ เช่น ผ้าอนามัย ชุดชั้นใน หรือยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นต้น รวมถึงการขาดความรู้ในการดูแลสุขอนามัยในช่วงที่มีประจำเดือน และการจัดการกับขยะที่เกี่ยวกับประจำเดือน

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและตกต่ำทั่วโลก ยิ่งส่งผลให้อัตราและระดับความยากจนของประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

ดังนั้น การที่ประชาชนจะซื้อสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับประจำเดือนเป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้น และส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้น้อยเลือกที่จะใช้สิ่งของอย่าง

เช่น กระดาษชำระ หนังสือพิมพ์ ถุงเท้า หรือเศษผ้าแทนการใช้ผ้าอนามัย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสมและอาจนำไปสู่การติดเชื้อและปัญหาสุขภาพได้

จากการศึกษาของ BMC Women's Health ในปี 2564 พบว่า มีผู้หญิงประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันได้

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสกอตแลนด์เป็นประเทศแรกในโลก ที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่ด้านการบริการสาธารณสุขของผู้หญิงในรูปแบบของพระราชบัญญัติที่มีชื่อว่า Period Products (Free Provision) (Scotland) Act 2021) 

ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

โดยกำหนดให้มีการจัดบริการผ้าอนามัยไว้ในอาคารสาธารณะ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วสกอตแลนด์สำหรับผู้หญิงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และต้องทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนได้โดยง่าย อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ให้บริการด้านการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกจากนั้น หลายประเทศทั่วโลกพยายามพลักดันนโยบายและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับประชาชนทุกคน เช่น

รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศให้โรงเรียนทุกแห่งให้บริการผ้าอนามัยสำหรับบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการผ้าอนัยมัยในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

อีกทั้ง มาตรการการลดหรือการยกเว้นการเก็บภาษีผ้าอนามัยก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าผลิตภัณฑ์อนามัยประจำเดือน

เช่น ในเดือน ม.คม.2564 ประเทศอังกฤษได้ยกเลิกอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือน และประเทศออสเตรเลียประกาศยกเลิกภาษี 10% สำหรับผ้าอนามัยแบบสอดและแผ่นรองในวันที่ 1 ม.ค.2562 หลังจากมีการเรียกร้องมา 18 ปี

ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างยอมรับว่าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนโดยเฉพาะผ้าอนามัย ถือเป็นสิ่งจำเป็นด้านสุขภาพ อนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิง ที่รัฐจะต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน ความเสมอภาคและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ดังนั้น รัฐบาลในหลายประเทศจึงเริ่มลงมือที่ดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมถึงมีการตราและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนได้อย่างทั่วถึงและโดยง่าย

นอกจากนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และส่งเสริมการมีสุขภาพอนามัยที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน 

ตลอดจนการสร้างความเท่าเทียมทางเพศและการยกระดับสิทธิและบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง โดยกำหนดนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนของประชาชนตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ยังมีรัฐบาลอีกหลายประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญ หรืออาจยังไม่เข้าใจว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของเด็กและสตรีในการดำเนินชีวิตประจำวัน และรัฐมีหน้าที่จะต้องจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ยิ่งไปกว่านั้น กลับยังซ้ำเติมประชาชนโดยกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และต้องอยู่ภายใต้อัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนและยิ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนเป็นอย่างมาก

ผ้าอนามัยกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดๆ ในการจัดการและให้บริการผ้าอนามัยฟรีแก่ประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อนามัย และประชาชนยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับผ้าอนามัย 

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ประชาชนและนักการเมืองบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดหรือยกเว้นการเก็บภาษีกับสินค้าผ้าอนามัย อีกทั้งยังเรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กและสตรีที่มีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจและนักโทษหญิงในทัณฑสถาน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าอีกไม่นานรัฐบาลไทยคงจะมีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนอย่างแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย ซึ่งอาจจะเป็นการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้หญิงที่มีความต้องการโดยตรง การจัดสวัสดิการผ้าอนามัยในสถานศึกษาและทัณฑสถาน หรือการปรับลดหรือยกเว้นภาษีผ้าอนามัย 

เพราะรัฐบาลคงไม่อาจทนต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ที่เริ่มมีการรับรองและคุ้มครองให้ผลิตภัณฑ์อนามัยประจำเดือน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดทำและบริการให้แก่ประชาชน.

คอลัมน์ กฎหมาย 4.0

พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กานพลู งานสม
นักวิชาการอิสระ