"โรคไข้นกแก้ว" อาการแสดงหลังรับเชื้อ 5-14 วัน

"โรคไข้นกแก้ว" อาการแสดงหลังรับเชื้อ 5-14 วัน

“โรคไข้นกแก้ว”อาการที่สำคัญ หลังพบระบาดแถมยุโรป ในไทยพบผู้ป่วยเมื่อปี 2539 และเชื้อในสัตว์ปีมีอุบัติการณ์ต่ำ ขณะที่มีโรคอื่นๆจากสัตว์ปีกและนก

KEY

POINTS

  • โรคไข้นกแก้วระบาด หรือโรคซิตตาโคซิส ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด     
  • โรคไข้นกแก้วอาการ เกิดขึ้นหลังรับเชื้อ 5-14 วัน ไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ในประเทศไทยเคยเจอผู้ป่วยเมื่อปี 2539 และมีการตรวจเชื้อนี้ในสัตว์ปีก แต่อุบัติการณ์ต่ำ  
  • โรคสัตว์สู่คน ที่พบจากสัตว์ปีกและนก มีทั้งไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย โดยเฉพาะนกพิราบ ทำให้เกิดโรคได้ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหาร

“โรคไข้นกแก้ว”อาการที่สำคัญ หลังพบระบาดแถมยุโรป ในไทยพบผู้ป่วยเมื่อปี 2539 และเชื้อในสัตว์ปีมีอุบัติการณ์ต่ำ ขณะที่มีโรคอื่นๆจากสัตว์ปีกและนก

โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ที่พบการระบาดอยู่ในหลายประเทศแถบยุโรป และมีรายงานผู้เสียชีวิต ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ ไข้นกแก้ว เกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci

เชื้อนี้มักก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง มีนกเป็นพาหะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัขและแมว

ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วแล้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย

ประเทศไทย เคยมีการรายงาน ผู้ป่วยโรคไข้นกแก้ว ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 และจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย

“โรคนี้แม้ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ”

ไข้นกแก้ว อาการ  

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  คนจะสามารถติดต่อโรคไข้นกแก้วนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก

คนกลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น

ผู้ติดเชื้อมักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น

  • ไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ไอแห้ง 

จะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต  มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการพบผู้เสียชีวิตสามารถพบได้น้อยมาก

 

ป้องกันไข้นกแก้ว

สำหรับการป้องกันโรคไข้นกแก้วสามารถทำได้ง่าย โดยประชาชนควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย

  • หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเองให้ดี สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ
  • หลังจากสัมผัสสัตว์แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
  • กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก หมั่นสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ
  • หากมีอาการไข้รวมถึงอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
  • สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

โรคจากสัตว์ปีกสู่คน

โรคจากนกพิราบ    

  • โรคคริปโตคอกโคสิส จากการติดเชื้อรา "คริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) มักพบเชื้ออยู่ในมูลนก โดยเฉพาะนกพิราบ มักก่อโรคในแมวและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น 

การติดต่อ เกิดจากการหายใจเอาละอองเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดและสมอง อาการหากมีการติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยมีอาการไอ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก มีไข้  หากติดเชื้อที่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว มีไข้ ปวดคอ คลื่นไส้ อาเจียน มีความไวต่อแสง รู้สึกสับสนหรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง  จากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

สำหรับการป้องกัน

หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่มีฝูงหรือมูลนกจำนวนมาก

สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือทุกครั้งขณะทำความสะอาดบริเวณที่มีมูลนก

ล้างมือให้สะอาด หลังจากทำกิจกรรมที่ใกล้ชิดนกหรือมูลนก
\"โรคไข้นกแก้ว\" อาการแสดงหลังรับเชื้อ 5-14 วัน

นอกจากนี้ ยังมีโรคที่มีนกโดยเฉพาะนกพิราบเป็นพาหะอีก อย่างเช่น 

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการสูดดมละอองของมูลนกพิราบชนิดแห้ง รวมทั้งการสัมผัสมูลของนกพิราบ สามารถติดเชื้อผ่านระบบทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแพ้แสง หากติดจากเชื้อไวรัส อาการจะไม่รุนแรง สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาได้  หากติดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรง เช่น ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต สมองพิการ สามารถเสียชีวิตได้
  • โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำดื่ม ที่มีสารปนเปื้อนของเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) โดยมีนกพิราบเป็นพาหะของโรค ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และขับถ่ายเป็นเลือด สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองได้
  • โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งจะอยู่ในดินที่นกพิราบได้ถ่ายมูลทิ้งไว้ ผู้ป่วยที่ร่างกายปกติแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งอาการที่แสดงมักจะเป็นไข้ ไอ และมีอาการล้า แต่ในกรณีผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้นได้

ไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกเป็นอีกโรคที่มีสัตว์ปีกเป็นพาหะนำมาติดโรคสู่คน เกิจากเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) พบในสัตว์ปีก ปัจจุบันค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยมากกว่าที่พบในคน  อัตราป่วยตายจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย ชนิด A(H5N1) เป็น ร้อยละ 60

เมื่อคนไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วย อาจจะได้รับเชื้อดังกล่าวติดมากับมือและสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตาได้ หรือเมื่อสัตว์มีการกระพือปีก คนก็สามารถติดโรคโดยการสูดหายใจนำละอองของไวรัสเข้าไปในปอดได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จึงเกิดอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง

ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปอดบวมรุนแรงมากกว่า โดยมีอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วย ได้แก่ ไข้สูง (ส่วนใหญ่สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว

และมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจลำบาก และมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการ แต่พบได้จากเอ็กซเรย์ปอด โดยอาการเจ็บคอ และอาการไข้หวัด พบได้บางครั้ง

ในผู้ที่มีอาการรุนแรงปอดจะติดเชื้อหลังจากมีอาการ และต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โดยเฉลี่ย 4 วัน ไม่ว่าจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ได้ และอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด
การป้องกันไข้หวัดนก

หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ ควรสวมเครื่องป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา หมวก รองเท้าบู๊ต

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยน้ำสบู่ และทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์
  • หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
  • ทานอาหาร ที่ปรุงสุก สะอาด ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาด
  • ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย มาปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
  • ขณะหรือหลังกลับจากการเดินทาง มีอาการที่ผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทางและการสัมผัสสัตว์อย่างละเอียด

    อ้างอิง : กรมควบคุมโรค  , คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ,รพ.เพชรเวช