วัคซีน mRNA ความจริงเรื่อง White Clot แถลงการณ์จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

วัคซีน mRNA  ความจริงเรื่อง White Clot แถลงการณ์จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ ลิ่มเลือดสีขาว หรือ ไวท์คลอต กรณีวัคซีน mRNA ระบุว่าไม่ใช่ความผิดปกติของเลือดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA เป็นการตกตะกอนของโปรตีนส่วนประกอบของเลือดที่เกิดขึ้นภายหลังการตาย

จากกรณีนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก  กรณีพบแท่งย้วยสีขาว คล้ายหนวดปลาหมึก ในคนที่ฉีดวัคซีน mRNA ป้องกันโควิด-19 หรือเรียกว่า "White Clot" เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาณ์ว่า ขณะนี้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะมีการออกแถลงการณ์ทางด้านวิชาการอย่างชัดเจนต่อเรื่องนี้ ส่วนที่มีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตอนนี้ ก็มีผู้เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ออกมาให้ความเห็นขอสมควร  เช่น สถาบันนิติเวช ศูนย์จีโนม รพ.รามาธิบดี ข้อมูลก็ปรากฏชัด

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่า ขณะนี้ไทยมีสต็อควัคซีนป้องกันโควิด เหลือเท่าไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับสต็อควัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของไทยตอนนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่า เหลือกี่โดส แต่ตอนนี้กำลังดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเกี่ยวกับสัญญาที่มีอยู่ตอนนี้

ต่อมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง ลิ่มเลือดสีขาว (White clot) และวัคซีนโควิด-19 ชนิด วัคซีน mRNA สาระสำคัญ จากกรณีที่มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาว (White clot) ในหลอดเลือดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 และระบุว่า สามารถพบสิ่งแปลกปลอมนี้ได้ใน ผู้ที่ยังมีชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในวงกว้าง


วัคซีน mRNA  ความจริงเรื่อง White Clot แถลงการณ์จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติและภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นกังวลดังกล่าว จึงได้ประสานไปยังแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลดังนี้

รูปสิ่งแปลกปลอมที่อ้างถึง ไม่ใช่ความผิดปกติของเลือดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA แต่อย่างใด เป็นเพียงการตกตะกอนของโปรตีนส่วนประกอบของเลือดที่เกิดขึ้นภายหลังการตาย (ลิ่มเลือดภายหลังการ ตาย, postmortem blood clot) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่พบได้เป็นปกติในผู้เสียชีวิต และพบมาตั้งแต่ก่อนมีการระบาดหรือมีการใช้วัคซีนโควิด 19

โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อมีการเสียชีวิต ระบบหมุนเวียนของเลือดรวมทั้งระบบอื่น ๆ ในร่างกายจะหยุดทำงาน จากนั้นเม็ดเลือดแดงจะมีการ ตกตะกอนตามแรงโน้มถ่วงของโลกไปก่อนแยกออกมาจากน้ำเลือด (Plasma) ซึ่งในน้ำเลือดยังมีโปรตีนที่ทำหน้าที่ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด (Fibrinogen) คงเหลืออยู่และเกิดการแข็งตัวขึ้นตามธรรมชาติ เป็นโปรตีนเส้นใย (Fibrin clot) ทำให้เกิดเป็นลิ่มโปรตีนสีขาวลักษณะดังกล่าว

สำหรับข้อมูลที่ระบุว่า สามารถพบ White clot นี้ในเลือดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยนั้น สามารถอธิบายด้วย หลักการทางโลหิตวิทยา เรื่องกระบวนการแข็งตัวของเลือด ได้เช่นกัน โดยสามารถอธิบายได้ว่า เมื่อมีการเจาะเลือดออกมานอกร่างกาย หากไม่มีการเติมสารกันเลือดแข็ง (Anticoagulants) และตั้งทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เลือดจะมีการแข็งตัวแยกชั้นออกมา เป็นชั้นลิ่มเลือด (Thrombus หรือ Clot blood) และชั้นน้ำเหลือง (Serum) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม หากนำเลือดที่ไม่ได้เติมสารกันเลือดแข็งมาปั่นแยกด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ความเร็วสูง (Centrifuge) แยกส่วนประกอบของเลือด ในขณะที่การแข็งตัวของเลือดยังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์ (Partial clot) จะสามารถพบโปรตีนเส้นใยที่ทำหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด (Fibrin clot) ที่มีความคล้ายกับ White clot ข้างต้นได้เป็นเหตุการณ์ที่พบเป็นปกติ

ปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การฉีดวัคซีนโควิด 19 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วกว่า 13,000 ล้านโดส และมีการติดตามและเฝ้าระวัง อาการไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบในแต่ละประเทศ2 ปัจจุบันหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ยังคงแนะนำให้ ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรง จากโรคโควิด 19

 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอให้ประชาชนเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลวิชาการที่เป็นทางการและมีความ น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีช่องทางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์เช่น เว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) 3 ชัวร์ก่อนแชร์4 และ Fact Check Explorer5 เป็นต้น ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านช่องทางเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย