เมื่อ 'บริจาคอวัยวะ'  ไม่ใช่แค่อวัยวะ ที่ถูกนำมาทำการปลูกถ่าย

เมื่อ 'บริจาคอวัยวะ'  ไม่ใช่แค่อวัยวะ ที่ถูกนำมาทำการปลูกถ่าย

1 คน ‘บริจาคอวัยวะ’ ไม่ใช่เพียงแค่ ตับ ไต หัวใจ ปอดเท่านั้น แต่เท่ากับบริจาคผิวหนัง สามารถนำส่วนของร่างกายที่เป็นเนื้อเยื่อ กระดูกและเส้นเอ็นมาใช้ทำการปลูกถ่ายส่งมอบต่อให้คนอื่นได้ด้วย  เมื่อทำบัตรประชาชนแจ้งความประสงค์ได้เลย 

Key points:

  • คนไทยยังรอรับบริจาคอวัยวะอยู่มากกว่าผู้ที่ได้รับบริจาคอวัยวะถึงราว 10 เท่า ขณะที่ผู้แจ้งความประสงค์บริจาคมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 
  • หลายคนอาจเข้าใจว่าบริจาคอวัยวะแล้ว ส่วนที่สามารถช่วยผู้อื่นได้มีเพียงตับ ไต หัวใจ ปอด แต่แท้จริงแล้ว 1 คนที่บริจาคสามารถนำอวัยวะและส่วนของร่างกายไปใช้ในการปลูกถ่ายได้ถึง 13 อย่าง
  • ช่องทางที่จะแจ้งความประสงค์บริจาคอวัยวะมีหลากหลายมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั้งสายด่วน แอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ และบัตรประชาชน 

       ในการรับรู้และความเข้าใจของหลายๆคน "การบริจาคอวัยวะ" อาจหมายถึง การส่งมอบอวัยวะอย่าง ตับ ไต หัวใจ และปอดให้กับคนอื่นได้มีชีวิตต่อไป ทว่า เมื่อเราแจ้งความประสงค์"บริจาคอวัยวะ"แล้วนั้น  ไม่เพียงแต่อวัยวะดังกล่าวเท่านั้นที่นำมาใช้ในการปลูกถ่ายได้ 

ช่องทางในกรแจ้งประสงค์บริจาคอวัยวะ

1.) การทำบัตรประชาชน โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แสดงความจำนงขอบริจาคอวัยวะ และดวงตา ผ่านการยื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชน

ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน แสดงความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ จะกรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงและจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา สภากาชาดไทย

จากนั้นศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา สภากาชาดไทย จะเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตาให้กับผู้ยื่นความจำนง ขอบริจาคอวัยวะในภายหลัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการทะเบียน ส่วนบัตรประชาชน โทรศัพท์ 02 791 7620

2.) สายด่วน ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โทร 1666

3.) แอปพลิเคชั่น ชื่อ บริจาคอวัยวะ 

4.) เว็บไซต์ http://www.organdonate.in.th


เมื่อ \'บริจาคอวัยวะ\'  ไม่ใช่แค่อวัยวะ ที่ถูกนำมาทำการปลูกถ่าย

ผู้บริจาคมากขึ้น แต่ยังห่างจากยอดคนได้ปลูกถ่าย

ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย  ระบุว่า สัดส่วนของผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยสะและผู้บริจาคอวัยวะแล้วมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยในปี 2566

  • เมษายน  ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 46,218 ราย ผู้ที่บริจาคอวัยวะแล้ว 165 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 345 ราย ผู้รออวัยวะ  6,307ราย คน
  • กรกฎาคม ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 79,409 ราย  ผู้ที่บริจาคอวัยวะแล้ว 265 ราย  ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 553 ราย  ผู้รออวัยวะ 6,514ราย
  • สิงหาคม ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 86,661 รายผู้ที่บริจาคอวัยวะแล้ว 295 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 617 ราย ผู้รออวัยวะ 6,516ราย
  • กันยายน ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 97,917 รายผู้ที่บริจาคอวัยวะแล้ว 330 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 699 ราย ผู้รออวัยวะ 6,593 ราย

       ในจำนวนผู้ลงทะเบียนรอรับอวัยวะ 6,593 ราย เป็น ไต 6,116 ราย  หัวใจ 36 ราย หัวใจ-ปอด 13 ราย ปอด 8 ราย  ตับ  390 ราย ตับอ่อน 1 ราย  ตับ-ไต 8 ราย ตับอ่อน-ไต 20 ราย หัวใจ-ไต 1 ราย 

บริจาคแล้ว ไม่เฉพาะอวัยวะที่นำมาใช้ปลูกถ่าย

        อย่างไรก็ตาม  แม้ผู้นั้นจะแจ้งความจำนงบริจาคอวัยวะไว้แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกร่างกายที่จะสามารถนำออวัยวะและเนื้อเยื่อมาทำการปลูกถ่ายได้ ซึ่งคุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะได้

1.อายุไม่เกิน 65 ปี 

2.เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย

3.อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี

4.ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง

5.ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับและไม่ติดสุรา

6.ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสเอดส์ เป็นต้น

ใน 1 ร่างกายของผู้บริจาคอวัยวะ สามารถใช้ปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 13 อย่าง คือ

  • ส่วนที่เป็นอวัยวะ  ไต ปอด ตับอ่อน ตับ หัวใจ ลำไส้เล็ก กระเพาะอาหาร
  • ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ ลิ้นหัวใต หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระจกตา

การปลูกถ่ายผิวหนัง

         การบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะหัวใจ ไต ตับและปอด มีการพูดถึงมาค่อนข้างมาก จึงขอกล่าวถึงกรณีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ซึ่งศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จะมี “คลังเนื้อเยื่อ” ในการจัดเก็บ

         กรณี "บริจาคผิวหนัง" ในการจัดเก็บผิวหนังจากผู้เสียชีวิต มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ขั้นรุนแรง ในระดับที่ 2 และระดับที่ 3 ที่ไม่มีผิวหนังของตนเองปกคลุม โอกาสที่จะสูญเสียเลือด น้ำเหลือง และอยู่ในภาวะช็อคสูงมาก การได้ผิวหนังของมนุษย์ของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้วมาปกคุลมร่างกายตรงส่วนนั้นจะช่วยให้คนไข้ฟื้นคืนสภาพได้และมีการหายของแผลดีขึ้น
            โรงพยาบาลที่มีความประสงค์ใช้ผิวหนังจากผู้บริจาคอวัยวะ และเนื้อเยื่อ ที่เสียชีวิตแล้ว นำไปรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ระดับที่ 2 และระดับที่ 3 ที่มีบาดแผลเป็นบริเวณกว้าง และแผลลึกขั้นรุนแรง

ทั้งนี้ แผลไฟไหม้ระดับความรุนแรง 2 แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 

         1.บาดแผลชนิดตื้น ที่เกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น ทั้งผิวชั้นนอก ชั้นในสุด และหนังแท้ แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็ว และไม่เกิดเป็นแผลเป็น

          2.บาดแผลระดับลึก จะเกิดการไหม้ชขึ้นที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลชนิดตื้น โดยแผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์


เมื่อ \'บริจาคอวัยวะ\'  ไม่ใช่แค่อวัยวะ ที่ถูกนำมาทำการปลูกถ่าย

          ระดับความรุนแรง  3  บาดแผลไหม้จะลึกลงไปจนทำลายหนังกำพร้า และหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อขุมขน และเซลล์ประสาทอาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก

          บาดแผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ หนา อาจเห็นรอยเส้นเลือดอยู่ใต้แผ่นหนานั้น และเส้นประสาทบริเวณผิวหนังแท้ ถูกทำลายไปหมด จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง 

            กรณีกระดูกและเส้นเอ็น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้จัดทำผลิตภัณฑ์ กระดูกและเส้นเอ็น จากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตแล้ว เพื่อใช้ผ่าตัดเปลี่ยน หรือเสริมแทน ใช้ในการสร้างกระดูก หรือทดแทนเส้นเอ็น ในส่วนที่หายไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 90  คน ไม่กำหนดระยะเวลา จนกว่าจะครบจำนวน 

          หากผู้ป่วยต้องการทราบรายละเอียด สามารถสอบถาม โรงพยาบาลที่ตนเองรักษาโดยตรง เพื่อประเมินอาการในการรักษา

         โรงพยาบาลจะติดต่อขอใช้กระดูก และเส้นเอ็น มายังคลังเนื้อเยื่อ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร.1666 กด 4