วันเอดส์โลก 'เพร็พ-เป็ป' 2 ตัวยาป้องกัน ใช้ต่างกัน เลือกให้ถูก ช่วงเวลาสำคัญ

วันเอดส์โลก 'เพร็พ-เป็ป' 2 ตัวยาป้องกัน ใช้ต่างกัน เลือกให้ถูก ช่วงเวลาสำคัญ

วันเอดส์โลก ทำความเข้าใจ 'เพร็พ} และ 'เป็ป' ยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวี ที่มีช่วงเวลาในการใช้ต่างกัน ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าการสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเซ็กซ์จำเป็นอย่างยิ่ง และหากติดเชื้อมียาต้านไวรัสสูตรผสม 3 ตัว 

Keypoints:

  •       แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ของประเทศไทยจะลดลงเรื่อยๆ แต่มีจุดที่น่ากังวลเมื่อเกือบ 50 % ของผู้ติดเชื้อใหม่เป็นกลุ่มวัยรุ่น 
  •         หากมีเซ็กซ์การป้องกันติดเชื้อเอชไอวี ทำได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย และปัจจุบันหากมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ได้ป้องกันระหว่างมีเซ็กซ์ มี 2 ตัวยาที่จะช่วยในการป้องกัน แต่จะใช้ต่างกัน  ต้องเลือกให้เหมาะสม
  •          ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี มียาต้านไวรัสจะเข้ามาช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสไม่ให้เข้ายึดร่างกาย องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยานี้ได้เป็นแบบผสม 3 ตัวยา ใน 1 เม็ด

       องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก

             วันเอดส์โลก  2566 กำหนดแนวคิด  “Let Communities Lead” มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนให้ชุมชน องค์กร และกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่มีบทบาทสำคัญสร้างความตระหนักในการป้องกัน และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์
        สถานการณ์การระบาดของโรคเอดส์ทั่วโลก พบว่าในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก สะสม 39 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 630,000 คน

         ประเทศไทย จากการคาดประมาณข้อมูลผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 27 เม.ย.2566 พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 560,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 9,200 คน เฉลี่ย 25 คน/วัน และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 11,000 คน/ปี เฉลี่ย 30 คน/วัน   
วันเอดส์โลก \'เพร็พ-เป็ป\' 2 ตัวยาป้องกัน ใช้ต่างกัน เลือกให้ถูก ช่วงเวลาสำคัญ

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 50 % เป็นวัยรุ่น

        นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย ในปี 2565 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน โดยเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน คิดเป็นครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 50 % ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด

          สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย พบว่า กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์เพียง 80 % และใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งกับแฟนและคนรักไม่ถึง 40 %  

รับฟรี ถุงยางอนามัย-ชุดตรวจเอชไอวีเอง

             ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ “ถุงยางอนามัย พกกันไว้ ใช้ทุกครั้ง กับทุกคน ทุกช่องทาง” โดยสามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ และชวนตรวจเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งคนไทยทุกคนมีสิทธิตรวจเอชไอวี ฟรีปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรคทุกแห่ง

         นอกจากนี้ สามารถรับชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองฟรีที่โรงพยาบาล หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนร้านขายยาที่ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในเมนูกระเป๋าสุขภาพ

           หากผลตรวจพบติดเชื้อเอชไอวี ควรเข้าสู่ระบบการรักษาทันที รักษาฟรี ทุกสิทธิการรักษา การรักษาเร็วจะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ทำให้มีสุขภาพดี ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

ยาเพร็พ ป้องกันเอดส์  ก่อนสัมผัสโรค

       จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีอัตราการติดเชื้อสูง กลับมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำ จึงอยากให้รู้ว่าหากมีช่วงเวลาที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้วยการมีเซ็กซ์ โดยไม่ได้สวมถุงยาง อย่าชะล่าใจและนิ่งนอนใจ ขอให้นึกถึง 2 ตัวยานี้ คือ เพร็พ และเป็ป ซึ่งมีแนวทางการใช้ต่างกัน 
       ในส่วนของยาเพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี ก่อนการสัมผัสโรค  รับประทานยาวันละ 1 เม็ดทุกวัน

          ที่สำคัญ เพร็พ ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

เพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่

  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
  • ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
  • ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

       ทั้งนี้ เพร็พ (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% หากผู้มารับบริการรับประทานทุกวัน และมีวินัยโดยรับประทานในเวลาเดียวกันในทุกๆวัน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

           ในการรับเพร็พ (PrEP) งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ ผู้มารับบริการจะได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต หลังจากที่ได้รับยาเพร็พ ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยาเพร็พ ทุกครั้ง

           ต้องกินวันละเม็ดทุกวัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี กินต่อเนื่อง และกินเพร็พจนครบ 30 วัน หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย ในการติดเชื้อเอชไอวี

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้กินเพร็พ

  • ก่อนเริ่มยาแพทย์ จะประเมินผลเลือดว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี และไม่มีข้อห้ามในการกินเพร็พ
  •  แพทย์ จะจ่ายยา 1-3 เดือน และนัดติดตาม
  • ผู้ที่กินเพร็พต้องกินยาต่อเนื่องทุกวันตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการ ติดเชื้อเอชไอวี
  • แพทย์ จะนัดมาตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน และดูการทำงานของไต ทุก 6 เดือน
  • ตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ทุก 3 - 6 เดือน
  •  หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ผื่น ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโตระหว่างกินเพร็พ ให้ ปรึกษาแพทย์
  • เพร็พสามารถกินได้ต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ยังมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวี
  • หากต้องการหยุดกินเพร็พให้ พบแพทย์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และวิธีหยุดกินยาอย่ างเหมาะสม
    วันเอดส์โลก \'เพร็พ-เป็ป\' 2 ตัวยาป้องกัน ใช้ต่างกัน เลือกให้ถูก ช่วงเวลาสำคัญ

เป็ป กินกรณีฉุกเฉิน หลังมีความเสี่ยง

      สำหรับเป็ป (PEP) ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และรับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน              
          ยาเป็ป (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

           ยาเป็ป (PEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80% หากผู้รับบริการคาดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และรับยาเป็ป (PEP) เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งรับยาเร็ว ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ

         ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยาเป็ป (PEP) แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่

      แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP)
           หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้
           หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    ข้อควรรู้

  • ต้องกินยาต่อเนื่องทุกวันตามที่แพทย์สั่งอย่าง เคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวี
  • ต้องเข้ารับการตรวจเลือด และการตรวจคัด กรองโรคติดเชื้อทางเพศสมพันธ์อื่นๆ รวมถึง ตรวจการติดเชื้อเอชไอวีทั้งก่อน และเมื่อครบ  1 เดือนหลังเริ่มกินเป๊ป
  • หากยังมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวี หลังจากกินเป๊ปครบตามที่แพทย์ สั่ง และ ตรวจไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี สามารถกิน เพร็พต่อได้

ยาต้านไวรัสสูตรผสม 3 ตัว 
       ถึงแม้จะตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี แต่ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม(อภ.) สามารถผลิตยาที่เป็นยาต้านไวรัส เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนจนมีปริมาณ จนผู้ติดเชื้อกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ได้ เป็นสูตรผสม ใน 1 เม็ดมียา 3 ตัว 
วันเอดส์โลก \'เพร็พ-เป็ป\' 2 ตัวยาป้องกัน ใช้ต่างกัน เลือกให้ถูก ช่วงเวลาสำคัญ

        ภายในงานเทียนส่องใจ เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566 ณ ชั้น M1 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดร.ภญ.รัชนีกร  เจวประเสริฐพันธุ์ ตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ และ ดร.ภญ.จิราพร มงคลปิยวัฒน์ ตำแหน่ง หัวหน้าแผนกวิจัยเภสัชภัณฑ์ 1 กองวิจัยเภสัชภัณฑ์และนวัตกรรม ฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม กล่าวในการเสวนาบนเวทีกลางของงาน ในหัวข้อ “ARV & ME อาวุธคู่สู้เอดส์” ว่า เมื่อมีการรับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย  เม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ปกป้องร่างกาย แต่เชื้อไวรัสเจาะทะลวงเม็ดเลือดขาว จะปลอมเป็นดีเอ็นเอของร่างกาย เพื่อเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

        จนมีปริมาณมากเกินกว่าที่เม็ดเลือดขาวจะจัดการได้ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการของโรคเอดส์ เข้าสู่สภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้มีโรคต่างๆเข้ามารุมทำร้ายร่างกาย หรือเรียกว่าโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ โรคตับ เป็นต้น  
     ทั้งนี้ ยาต้านไวรัสเอดส์ จะเข้าไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถกลับมาทำงานได้ โดยแต่ละตัวยามีวิธีการต่อสู่ที่แตกต่างกัน 

      องค์การเภสัชกรรมจึงได้คิดค้น วิจัย และพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ ตามแนวทางการรักษาใหม่อย่างต่อเนื่อง ติดตามแนวโน้มการพัฒนาและการใช้ยาทั่วโลก ซึ่งมีแนวคิดในการใช้ยาที่มีจำนวนน้อยลง เช่น การใช้ยาสูตรผสม 2 ตัวในการรักษาแทนการใช้ยาสูตรผสม 3 ตัว หรือการใช้ยาที่มีความถี่ในการรับประทานยาน้อยลง ทำให้รับประทานยาได้ง่ายขึ้น และลดผลข้างเคียง แต่ยังคงให้ประสิทธิผลในการออกฤทธิ์เท่าเดิมหรือดีขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีวินัยในการรับประทานยาและลดการดื้อยาได้ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          “การที่ต้องกินยาหลายตัว เพราะไวรัสเอชไอวีจะเข้าโจมตีร่างกายจากหลายส่วน จึงจะต้องรับประทานยาที่มีกลไกการเข้าไปยับยั้งเชื้อไวรัส ไม่ให้เพิ่มจำนวนปริมาณมากในหลายๆจุด”

           ปัจจุบัน อภ.มีการพัฒนาทั้งยาต้านไวรัสเอดส์สูตรที่มี Dolutegravir ตามแนวทางการรักษาล่าสุด และยารักษาโรคแทรกซ้อน เช่น ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีที่ลดการดื้อยา และ ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีที่รักษาครอบคลุมได้ทุกสายพันธุ์ โดยขณะนี้ยาหลายรายการได้รับอนุมัติทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเริ่มทยอยออกสู่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปี 2567 

       อ้างอิง : กรมควบคุมโรค , องค์การเภสัชกรรม , ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย