‘เอ็มพลัสสหคลินิก’ ดูแล ‘เอชไอวี’ ป้องกัน-รักษา One Stop Service

‘เอ็มพลัสสหคลินิก’ ดูแล ‘เอชไอวี’ ป้องกัน-รักษา One Stop Service

สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชม “เอ็มพลัสสหคลินิก” จ.เชียงใหม่ ศูนย์สุขภาพชุมชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดบริการด้านเอชไอวี ส่งเสริมป้องกัน-รักษาแบบ One Stop Service แห่งแรกในจังหวัด หากพบเชื้อรับยาได้ทันที ให้บริการทั้งตั้งรับ และออกหน่วยเชิงรุก

 

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สปสช. พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เชี่ยมชมการเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเอ็มพลัสสหคลินิก ต.ป่าแดด อ.ป่าแดด จ.เชียงใหม่ จัดบริการด้านเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบ One Stop Service แห่งแรกในจังหวัด โดยมี ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ ประธานมูลนิธิเอ็มพลัสสหคลินิกให้การต้อนรับ

 

สำหรับศูนย์สุขภาพชุมชน เอ็มพลัสสหคลินิกเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดบริการดูแลทั้งส่งเสริมป้องกันโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การแจกถุงยางอนามัย ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) และรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเป้าหมายหลักให้สามารถรับยาได้ภายในวันที่ตรวจพบเชื้อ เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง พนักงานบริการทั้งชายและหญิง หรือผู้ที่ความเสี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการให้ได้รับยาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันส่งต่อเชื้อ และสามารถคุมเชื้อไวรัสได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่ดี นอกเหนือจากการเข้ารับบริการในหน่วยบริการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ แพทย์ประจำเอ็มพลัสสหคลินิก เปิดเผยว่า ผู้ที่เข้ามารับบริการส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง รวมถึงมีความไม่มีแน่ใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงมีกลุ่มที่เข้ามาขอคำปรึกษา ซึ่งการให้บริการจะมีต้องตรวจเลือดเพื่อดูผลก่อน หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อจะมีการให้คำปรึกษา รวมถึงจ่ายยาป้องกันไวรัสหากมีความเสี่ยง และนัดติดตามผลอีกครั้ง

 

‘เอ็มพลัสสหคลินิก’ ดูแล ‘เอชไอวี’ ป้องกัน-รักษา One Stop Service

 

ขณะเดียวกัน หากตรวจพบว่าติดเชื้อ ทางคลินิกจะส่งผู้ป่วยไปเอกซเรย์ดูปอด ไต ฯลฯ เพื่อดูว่ามีโรคฉกฉวยหรือไม่ หากไม่มีก็สามารรับคำปรึกษา และรับยาต้านไวรัสได้ทันที ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยบัตรทองสามารถรับยาต่อเนื่องได้ที่คลินิกฯ ก่อน 1 เดือน เพื่อดูผลข้างเคียง หากไม่มีก็จะนัดต่อไปอีกครั้ง ซึ่งบางรายอาจจะนัดทุกๆ 3 เดือน ขณะเดียวกันหากเป็นสิทธิการรักษาอื่นแล้วตรวจพบเชื้อทางคลินิกฯ จะให้ยาต้านไวรัสเบื้องต้น 14-30 วัน หากผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อมีความประสงค์รักษาตามสิทธิก็สามารถรับใบส่งตัวเพื่อรักษาต่อได้ นอกจากนี้ คลินิกฯ ให้บริการป้องกันสำหรับทุกสิทธิ เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี ตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ฯลฯ เป็นต้น 

 

นายพงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัสสหคลินิก กล่าวว่า เอ็มพลัสสหคลินิกทำงานโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการรับรองจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความเข้าใจในกลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมาย สามารถให้คำปรึกษา และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง รวมถึงยังเป็น One Stop Service อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาจจะไม่สะดวกเข้ารับบริการในโรงพยาบาล

 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับเอ็มพลัสสหคลินิก มีผู้เข้ามาใช้บริการทั้งการป้องกัน และรักษาวันละประมาณ 40 ราย รวมถึงยังมีการออกหน่วยเชิงรุกเข้าไปตามสถานประกอบการ สถานศึกษา หรือแหล่งรวมตัวอื่นๆ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ ประมาณ 9,000 ราย 

 

“แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีลดลง ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่มีความชุกสูง แต่เนื่องจากมีการทำงานป้องกัน และมีการรักษา คนที่มีเชื้อสามารถรับยาทานเพื่อกดเชื้อไวรัสได้” นายพงศ์ภีระ ระบุ 

 

นายพงศ์ภีระ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงเป็นกลุ่มของเยาวชน ซึ่งทางคลินิกฯ ก็เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเริ่มจากกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยง แต่ก็พร้อมที่จะให้บริการแก่เยาวชนในกลุ่มทั่วไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเข้ามาใช้บริการในคลินิกบ้าง ฉะนั้นคลินิกฯ จะต้องทำงานกับกลุ่มเยาวชนมากขึ้น 

 

‘เอ็มพลัสสหคลินิก’ ดูแล ‘เอชไอวี’ ป้องกัน-รักษา One Stop Service

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เอ็มพลัสสหคลินิก เป็นหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้บริการทางสาธารณสุขที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การป้องกัน การตรวจคัดกรอง หรือการรักษา มีแพทย์ที่เข้ามาให้บริการประจำในแต่ละวัน รวมถึงมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ในลักษณะของการทำงานเชิงรุก ซึ่งเป็นบริการที่ภาครัฐอาจจะทำได้ไม่สะดวก

 

“ที่มาดูในวันนี้คิดว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำงานผสมผสานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่ได้แปลงเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบ และสามารถให้บริการกับประชาชนได้มากขึ้น” นพ.จเด็จกล่าว 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในระบบสาธารณสุข ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุม และทั่วถึง ซึ่ง สปสช. เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การคัดกรอง และยาเพื่อใช้ในการรักษา มากไปกว่านั้นยังมีการสนับสนุนการป้องกัน การแจกถุงยางอนามัย ทั้งที่หน่วยบริการ หรือกรณีที่กระจายออกไปเมื่อมีการทำเชิงรุกด้วย