5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง กระทบ 'ระบบบริการสุขภาพ'

5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง กระทบ 'ระบบบริการสุขภาพ'

พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง 5 ลูก กำลังเป็นสิ่งท้าทายระบบบริการสุขภาพทั่วโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบรองรับ เพื่อจัดการให้ได้ ภายใต้ปัจจัย 'สามเหลี่ยมเหล็ก'

Keypoints:

  •       5 พายุไซโคลนแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพของทั่วโลกและประเทศไทย จำเป็นจะต้องมีการปรับเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น 
  •        ‘สามเหลี่ยมเหล็ก’ ปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง 3 เรื่องในการออกแบบระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึง คุณภาพและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละประเทศจะมีจุดสมดุลแตกต่างกัน
  •       ระบบบริการสุขภาพแห่งอนาคตในช่วง 5 ปีข้างหน้าในมุมมองศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานกรรมการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือTCELS เห็นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก

       ศ.นพ.ประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจโดยเริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นถึง 5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่หรือ The Cyclones of Changes ซึ่งการออกแบบระบบบริการสุขภาพในอนาคตจะต้องพิจารณาให้สามารถจัดการกับพายุทั้ง 5 ลูกนี้ ประกอบด้วย

  1.โลกไร้พรมแดน(Globalization) การที่คนเดินทางจากประเทศหนึ่งไปต่างประเทศหนึ่ง หรือส่งของไปประเทศต่างๆได้ง่าย ข้อดีทำให้ธุรกิจดี แต่ถ้าคนนั้นมีไวรัสในตัว ก็จะแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น ถ้ามีการแพร่ระบาดระบบริการสุขภาพจะต้องสามารถดักจับได้ว่าควรจะต้องเดินทางอย่างไร 

5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง กระทบ \'ระบบบริการสุขภาพ\'

 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง

          2.โลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก(Global warming /Climate change) แต่ละประเทศจะเกิดเร็วช้าไม่เหมือนกัน จะส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น ภูมิอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล ขาดแคลนน้ำ และทำให้โรคภัยไข้เจ็บเปลี่ยนแปลงด้วย ที่สำคัญโรคติดเชื้อบางอย่าง  ตัวเชื้อแฝงอยู่ในสัตว์ เช่น ไวรัสบางอย่างอยู่ในสัตว์ไม่ได้ก่อโรค แต่เมื่อโลกร้อนสัตว์ย้ายถิ่นฐาน
       ต่อไปหากมีการแพร่ระบาด การคาดการณ์ว่าเชื้อจะกระจายไปที่ไหนไม่ง่าย เพราะควบคุมคนได้แต่สัตว์ควบคุมยากมาก  เชื้อจึงอาจจะกระจายไปตามการย้ายถิ่นฐานของสัตว์ ระบบบริการสุขภาพจะต้องสามารถ ป้องกันสิ่งเหล่านี้ด้วย
           3.เทคโนโลยี(Digitalization) โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ จะวิ่งเข้ามาในระบบบริการสุขภาพเร็วและแรงมาก

         4.การเปลี่ยนแปลงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitical Changes) หรือการเมืองที่ผูกติดกับภูมิศาสตร์ ตอนนี้โลกตะวันตกและตะวันออกแข่งกัน ระบบริการสุขภาพ เช่น เทคโนโลยีจะเลือกใช้ของฝั่งตะวันตกหรือตะวันออก ในเมื่อปัจจุบันของฝั่งตะวันออกก็ไม่ได้ด้อยกว่าฝั่งตะวันตก  ต่างจากอดีตที่เทคโนโลยีสูงๆจะมีเฉพาะตะวันตก

        แต่ตอนนี้ไม่ใช่เช่นนั้น ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นเทคโนโลยีดีเข้ามา อย่างเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ประเทศจีนก็มีเทคโนโลยีดีๆ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ระบบบริการสุขภาพจะต้องออกแบบ เพราะบ่อยครั้งที่เทคโนโลยีของฝั่งตะวันออกจะมีราคาที่ถูกกว่า   ประเทศไทยจะเลือกใช้อย่างไร ภายใต้ค่าใช้จ่ายในงบประมาณประเทศ 

         และ5.การเปลี่ยนแปลงเรื่องของคน(Demographic Changes) คนสูงอายุมากขึ้น  คนย้ายเข้ามาอยู่เมื่องใหญ่มากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บกจะเปลี่บนแปลงไป คนในชนบทจะมีโรคแบบหนี่ง คนในเมืองใหญ่จะโรคอีกแบบหนึ่ง

สามเหลี่ยมเหล็กระบบบริการสุขภาพ

     ระบบบริการสุขภาพในอนาคตจึงต้องออกระบบให้ครอบคลุมพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆเหล่านี้  โดยนำทฤษฎีเรื่อง “ความต้องการที่ไม่เคยพอเพียง กับทรัพยากรที่ไม่เคยเพียงพอ”หมายความว่า ความต้องการของคนในประเทศจะมีมาก แต่งบประมาณประเทศไม่พอ มาเป็นสิ่งที่ระบบบริการสุขภาพต้องคำนึงถึงด้วย โดยมี 3 ปัจจัย ประกอบด้วย  1.การเข้าถึง ระบบบริการที่ดีประชาชนต้องเข้าถึงมาก 2.คุณภาพ ต้องเป็นที่ยอมรับ และ3.ค่าใช้จ่ายต้องเหมาะสม 

          ภายใต้ 3  ปัจจัยนี้ เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายกับการเข้าถึง จะหมายถึงความเสมอภาค ความไม่เหลื่อมล้ำ เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายกับคุณภาพ จะหมายถึงมูลค่า และเมื่อพูดถึงคุณภาพกับการเข้าถึง หมายถึงภาพรวมระบบสุขภาพของสาธารณชน

         “ระบบบริการสุขภาพที่ดี ประชาชนต้องเข้าถึงได้มากโดยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม โดย 3 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวตั้ง โดยแต่ละประเทศ จุดสมดุลจะไม่เหมือนกัน”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 
  

งบฯที่ดีต้อง 6 %ของจีดีพี

               ประเทศร่ำรวยอาจจะมีค่าใช้จ่ายมาก คุณภาพต้องดีขึ้นและประชาชนเข้าถึงได้ด้วย ซึ่งประเทศไทยอยู่ตรงไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ แต่พยายามเน้นที่การเข้าถึง จึงนำระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามาใช้ให้คนส่วนมากเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันงบประมาณประเทศมีจำนวนหนึ่ง

         ทั้งนี้ งบประมาณระบบบริการสุขภาพที่ใช้ที่ดี ไม่ควรน้อยกว่า 6 %ของจีดีพี ประเทศไทยอยู่ประมาณ 4 % ของจีดีพี เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการคนเข้าถึงได้มาก  คุณภาพจะไปสุดๆเลยจะต้องมาระบุว่าสุขภาพแค่ไหนที่เป็นที่ยอมรับและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

       ระบบบริการสุขภาพอีก 5 ปี

       ฉะนั้น ระบบบริการสุขภาพในอีก 5 ปีจะต้องพิจารณาทั้งเรื่อง 5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงและสามเหลี่ยมเหล็กด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ มองภาพรวมเมกะเทรนด์ระบบสุขภาพในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า  “High Tech & High Touch Digital Healthcare” เป็นระบบสุขภาพที่มีเทคโนโลยีสูง ขณะเดียวกันก็มีการสัมผัสจิตใจคนด้วย

           อนาคตในช่วง 5 ปี 6 ขั้นตอนของระบบบริการสุขภาพจะมีลักษณะ ดังนี้  
1.ส่งเสริมสุขภาพ(Health Promotion) จะดำเนินการ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องเทเลเฮลท์(Telehealth) ซึ่งอนาคตการส่งเสริมสุขภาพไม่จำเป็นที่คนไข้จะต้องไปรพ.แต่ก็จะได้รับความรู้เรื่องสุขภาพ โดยสามารถเข้าไปในโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆเพื่อตั้งคำถามแล้วมีคนตอบ เป็นต้น และเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) เป็นการยกระดับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของสังคม ซึ่ง 2 เรื่องนี้หากทำได้ดี การส่งเสริมสุขภาพก็จะดี  คนก็จะเจ็บป่วยน้อยลง

        2. ป้องกันโรค(Disease Prevention) จะมี 4 เรื่องใหญ่ คือ การรู้รหัสพันธุกรรมของคน(Genetic Testings) เพื่อหากลุ่มเสี่ยงซึ่งเทคโนโลยีในการถอดรหัสพันธุกรรมของคนปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากอดีตมาก ดังนั้น ถ้าคนสงสัยว่าน่าจะมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง แล้วสามารถรู้ข้อมูลพันธุกรรมของตัวเองก็จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมที่จะทำให้เกิดโรค ,เอไอ(AI) จะมีบทบาทช่วยในการป้องกันโรค
        เพราะเมื่อใส่ข้อมูลการใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน  ผลการตรวจเลือด ก็จะประมวลผลให้ว่ามีความเสี่ยงเรื่องอะไร บุคคลนั้นก็จะได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ   ความรอบรู้ด้านสุขภาพถ้าประชาชนรู้ว่าจะหลีกเลี่ยงโรคต่างๆต้องทำอย่างไร จะป้องกันโรคได้ และวัคซีน  ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนเร็วมาก จึงมีการคาดว่าในอนาคตหากเจอเชื้อโรคใหม่ๆเข้ามา เชื่อว่าภายใน 6 เดือนจะมีวัคซีนให้คนทั่วโลกทยอยใช้ จากเดิมต้องใช้เวลาเป็นปี  
5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง กระทบ \'ระบบบริการสุขภาพ\'

         3.การรักษาโรค(Treatment of Disease)    ในเรื่องการวินิจฉัยโรคจะมีเทคโนโลยีและเอไอ(Diagnostic Tech.+AI)เข้ามาช่วยให้มีความเฉียบขึ้น และแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ไม่มีบุคลากรรองรับ เช่น รังสีแพทย์ หรือพยาธิแพทย์ เอไอก็จะเข้ามาช่วยในการอ่านผล ทำให้การวินิจฉัยเร็วและแม่นยำมากขึ้น

      การรักษาทางไกล(Telemedicine) ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องมารพ.ก็ได้รับการรักษาโดยอาศัยเทคโนโลยี  ,หุ่นยนต์ทำผ่าตัด(Robotic Surgery Telesurgery) อนาคตจะเป็นการต่อยอดเป็นเรื่องของการทำผ่าตัดทางไกล(Tele- Surgery) โดยคนไข้สามารถได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากๆ แต่แพทย์ผ่าตัดไม่ต้องไปในพื้นที่ และการรักษาขั้นสูงต่างๆ เช่น การแพทย์แม่นยำ(Precision medicine),การรักษาจำเพาะ(Targeted Therapy) เป็นต้น

        4.การฟื้นฟูสภาพ(Rehabilitation) จะมีการใช้ Tele- Rehabilitationมากขึ้น  อาทิ คนไข้ที่ทุพพลภาพต้องทำกายภาพบำบัด จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง ต่อไปจะสามารถทำได้ที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่แนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เทคโนโลยีจะสามารถวัดได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นหรือไม่ได้ด้วย และข้อมูลจะส่งผ่านไปยังปลายทางที่ให้การดูแล และความรอบรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) จะทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพเรียนรู้ที่จะฝึกตนเองได้อย่างไร     
     5.การดูแลประคับประคอง(Palliative Care) และ6.การดูและระยะท้าย(End-of-Life Care) ในระยะยาวเรื่องของTelehealth การให้คำปรึกษาทางไกล  และMedical Robots มีโอกาสที่จะมีพยาบาลหุ่นยนต์ พี่เลี้ยงที่เป็นหุ่นยนต์อยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยดูแลคนที่อยู๋ในระยะท้ายของชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารพ.

5 พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง กระทบ \'ระบบบริการสุขภาพ\'
รัฐต้องส่งเสริมใช้เทคโนโลยีไทยทำ

         ถามว่าประเทศไทยพร้อมกับเรื่องต่างเหล่านี้แล้วหรือไม่  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ มองว่า พร้อมระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประเทศไทยจะนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้พบว่า คณะวิศวกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆมีการสร้างอุปกรณ์มากมายขึ้นมาใช้ แสดงว่าไทยมีคนเก่ง แต่เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้ผลิตมาใช้ เพราะคนไทยนิยมของนอก จึงมีการนำเข้าเทคโนโลยีมามากกว่าที่จะพัฒนาขึ้นเอง  ส่วนปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น  ที่จะรองรับSmart Hospital

         ถ้าคนไทยจะทำอุปกรณ์ต่างๆเพื่อรองรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ในอนาคต เสนอ 2 เรื่อง คือ 1.ควรจะใช้วัตถุดิบทั้งหลายที่ผลิตภายในประเทศและ2.ต้องผ่านมาตรฐานนานาชาติ หาก2เรื่องนี้ผ่านแล้ว ระดับนโยบายประเทศ จะต้องขับเคลื่อนส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีของคนไทยทำ

        “เมื่อไหร่ที่คนไทยให้มูลค่ากับคนไทยด้วยกันเอง มาช่วยในการผลิตอุปกรณ์และครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เชื่อว่าคนไทยทำได้ ”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว