“ซาลโมเนลลา” แบคทีเรียก่อโรค  ตัวการอาหารเป็นพิษ  แหล่งพบที่ต้องระวัง

“ซาลโมเนลลา” แบคทีเรียก่อโรค  ตัวการอาหารเป็นพิษ  แหล่งพบที่ต้องระวัง

สถานการณ์การปนเปื้อนเชื้อ ซาลโมเนลลา ในประเทศไทย  แบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษ  เปิดจุดที่ตรวจพบเชื้อ ย้ำมีได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร 

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การปนเปื้อนเชื้อ ซาลโมเนลลา ในประเทศไทย ว่า จากการตรวจยืนยันเชื้อ Non-typhoidal Salmonella (NTS) ซึ่งเป็นเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) กลุ่มไม่ใช่ไทฟอยด์ ก่อให้โรคระบบทางเดินอาหาร หรือ โรคอาหารเป็นพิษ ที่เรียกว่า โรคซาลโมเนลโลสิส Salmonellosis

     “ โดยทั่วไปมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอุจจาระร่วง พบได้โดยการรับประทานที่ปนเปื้อนของเชื้อนี้เข้าไป ความรุนแรงของอาการป่วย จะแตกต่างไปตามชนิดและปริมาณเชื้อที่บริโภค”นพ.บัลลังก์กล่าว  


การรักษาเมื่อติดเชื้อ ซาลโมเนลลา

ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านจุลชีพ  เพราะอาการจะหายไปเองภายใน 7 วัน แต่ในผู้ป่วยในกลุ่มที่เรียกว่า YOPI ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก (Young)  ผู้ป่วยที่สูงอายุ (Old) ผู้ป่วยตั้งครรภ์ (Pregnant) และผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน (Immune deficient) อาจมีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ร่วมกับ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ทราบสายพันธุ์และรูปแบบการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อเป็นแนวทางการรักษา


“ซาลโมเนลลา” แบคทีเรียก่อโรค  ตัวการอาหารเป็นพิษ  แหล่งพบที่ต้องระวัง

สายพันธุ์ซาลโมเนลลาในไทย

จากข้อมูลการตรวจยืนยันสายพันธุ์ของเชื้อซาลโมเนลลาทางห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในระหว่างเดือนมกราคม ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ได้รับตัวอย่างเชื้อบริสุทธิ์ที่ตรวจจากผู้ป่วย อาหาร และสิ่งแวดล้อม จำนวน 96 ตัวอย่าง จำแนกได้เป็น 33 ซีโรวาร์ (Serovar) พบว่า สายพันธุ์ของซาลโมเนลลาที่พบมากสุดสามลำดับแรก คือ

  • Salmonella Amsterdam คิดเป็นร้อยละ 12.2,
  • Salmonella Brunei คิดเป็นร้อยละ 11.2
  •  Salmonella Weltevreden คิดเป็นร้อยละ 10.2

 

แหล่งที่พบเชื้อซาลโมเนลลา

จากการสุ่มตรวจ โดยพบในวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์น้ำอุปโภค และผักสลัด ตามลำดับ นอกจากนี้มีรายงานการตรวจพบเชื้อซาลโมเนลลา ในผลิตภัณฑ์นำเข้า ณ ด่านตรวจสินค้าของสหภาพยุโรป พบในขนมฮาลวา (Halvah) จากสาธารณรัฐอาหรับซีเรีย เป็นสายพันธุ์ Salmonella Amsterdam พบในกุ้งขาวแวนนาไม (Pacific white shrimp) และในเห็ดหูหนูดำแห้ง (Dired Mu-Err mushrooms) จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็น Salmonella Brunei และ Salmonella Weltevreden ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยเช่นกัน

“ข้อมูลนี้บอกถึงสถานการณ์การปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลาในอาหารที่พบได้ตลอดห่วงโซ่อาหารทั้งในอาหาร และน้ำ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำหรับอาหารที่รับประทานโดยไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน มีความเสี่ยงการปนเปื้อนสูง ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่สะอาด และมีการล้างทำความสะอาด เพื่อลด ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อ”นพ.บัลลังก์กล่าว 

พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษสูงช่วงต้นปี 

กรมควบคุมโรค(คร.) ระบุว่า  ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ยังคงสูงต่อเนื่อง เนื่องจากมักพบจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี (มกราคม - มีนาคม) โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกันเกือบทุกปี

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี พ.ศ 2566 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 12 เม.ย. 2566

- พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 27,405 ราย จาก 76 จังหวัด

- อัตราป่วย 41.42 ต่อประชากรแสนคน

- ไม่พบผู้เสียชีวิต

- กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ

  • ช่วงอายุ 0-4 ปี (14.19%)
  • ช่วงอายุ 15-24 ปี (13.34%)
  • ช่วงอายุ 25-34 ปี (12.82%)  

ได้รับรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย จำนวน 17 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยตั้งแต่ 50-388 ราย

พบในสถานศึกษา 12 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ 2 เหตุการณ์ และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานปฏิบัติธรรม งานแต่งงาน 3 เหตุการณ์

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคจำพวก S.aureus หรือ B. cereus หรือ salmonella spp เป็นต้น ที่มีการปนเปื้อนในอาหาร อาทิเช่น ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ขนมจีน รวมถึงน้ำดื่มและน้ำแข็งที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ 


“ซาลโมเนลลา” แบคทีเรียก่อโรค  ตัวการอาหารเป็นพิษ  แหล่งพบที่ต้องระวัง

การป้องกันการรับเชื้อซาลโมเนลลา

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ควรเลือกซื้ออาหารเพื่อ ป้องกันรับเชื้อซาลโมเนลลา ดังนี้ 

  • ควรเลือกอาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ
  • ล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุง
  • ประกอบอาหารด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
  • ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
  • อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย.
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุง ประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
  • หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ
  • สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร